สุขใด ๆ ก็ไม่เท่าเข้าถึงพระธรรมกาย

วันที่ 21 กค. พ.ศ.2563

สุขใด ๆ ก็ไม่เท่าเข้าถึงพระธรรมกาย

 

รัก กายธรรมล่วงพ้น                              

สิ่งใด

ลูก หากหยุดนิ่งไซร้

ถึงได้

ที่ ฐานเจ็ดภายใน

กายแก้ว

สุด สุขโปรดจำไว้

อย่าให้ลืม

ตะวันธรรม

 

           ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบาๆพอสบายๆ ขยับเนื้อขยับต้วของเราให้ดี ให้รู้สึกสบายๆ ทำใจของเราให้เบิกบาน แช่มชื่น สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือนะ หรือจำง่ายๆ ว่า อยู่ในกลางท้องของเราบริเวณนั้น แล้วก็ตรึกนึกถึงดวงใสๆ ใสเหมือนกับเพชร เรานึกถึงเพชรสักเม็ดหนึ่ง ที่กลมรอบตัว ใส อย่างสบายๆ หรือนึกถึงองค์พระแก้วขาวใส อย่างใดอย่างหนึ่ง นึกไปเรื่อยๆ นึกให้ติดเป็นนิสัยเลย

 

            แล้วก็ประคองใจของเรา ด้วยการบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง ทุกครั้งที่ภาวนา จะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใสๆ หรือพระแก้วใสๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆอย่างสบายๆ

 

หยุดนิ่งคือบรมสุข

 

           อย่าลืมตอกยํ้าซ้ำเดิมทุกวันว่า นี่คือกรณียกิจ เป็นกิจที่ต้องทำ เพราะเป็นงานที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์ในแต่ละภพแต่ละชาติ แม้ตายแล้วก็ยังเป็นกิจที่แท้จริงอยู่ดี คือกิจในการทำใจให้หยุดนิ่งๆที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 

          แล้วเราจะพบกับความสุขที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่ในระดับเทวดาชาวสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ที่ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า มัวเพลิดเพลินในกามของทิพย์ ยังถือว่าสุขธรรมดานะ ยังสุขไม่เท่ากับใจหยุดนิ่งเลย ถ้าไม่ฝึกใจให้หยุดนิ่งมัวแต่สนุกสนานเพลิดเพลินใน  ทิพยสมบัติ ก็ยังไม่มีความสุขเท่ากับหยุดกับนิ่งที่ศูนย์กลางกาย  ฐานที่ ๗ จนกระทั้งเข้าถึงพระธรรมกายซึ่งเป็นพระรัตนตรัยในตัว

 

         แม้เป็นพรหมอยู่ในพรหมโลกที่ไม่ใช่เป็นพระอริยเจ้า ได้รูปฌานสมาบัติธรรมดานั้น สุขยังไม่เท่ากับที่เราได้เข้าถึงพระธรรมกายในตัวเลย อรูปภพก็เหมือนกัน ได้อรูปฌานสมาบัติสุขก็ยังไม่เท่ากับที่เราได้เข้าถึงพระธรรมกายในตัว ถ้าเว้นจากพระอริยเจ้าล่ะก็ สุขอย่างนี้แหละ แล้วที่ใช้คำว่า ยกเว้นพระอริยเจ้า เพราะพระอริยเจ้าท่านก็หยุดใจของท่านได้แล้ว ในกายธรรม ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์อย่างนั้น ถ้าอยู่ในภพก็ถึงพระอนาคามี

 

         ใจหยุดจึงเป็นที่สุดแห่งความสุขทั้งปวง ซึ่งเป็นคำยืนยันของท่านผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวงในเรื่องราว ความเป็นจริงของชีวิต คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านเวียนว่ายตายเกิดซํ้าๆ ในภพสามนี้นับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะในเมืองมนุษย์นี้ก็นับครั้งไม่ถ้วน เป็นตั้งแต่ชนชั้นล่าง ชั้นกลาง แล้วก็ชั้นสูงในระดับพระเจ้าจักรพรรดิก็เป็นมาแล้ว

 

         พระเจ้าจักรพรรดิซึ่งปกครองทวีปทั้ง ๔ มีชมพูทวีปคือโลกของเราใบนี้ในยุคที่มีผืนแผ่นดินเดียว เป็นเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ คล้ายๆ เกาะอย่างนั้นนะ ชนในยุคนั้นนับถือศีล ๕ เป็นประเทศเดียว ท่านปกครองได้ทั้วชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป เป็นทวีปที่มีมนุษย์อยู่รอบๆ เขาพระสุเมรุหรือเขาพระสิเนรุไปมาได้ด้วยรัตนะ ๗ ด้วยอานุภาพของจักรแก้ว ท่านก็เป็นมาแล้ว ก็ยังยืนยันว่าใจหยุดนี่แหละมีความสุขกว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

 

         เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นสุดยอดของการมาเกิดเป็นมนุษย์ในฐานะเป็นปุถุชนแล้วล่ะก็ นอกนั้นก็ถือเป็นเรื่องรองลงมา จะเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ พระราชาธรรมดา พระราชาประเทศราช บรมเศรษฐี มหาเศรษฐี หรือจุลเศรษฐีอะไรต่าง ๆเหล่านั้น ที่มีทรัพย์มาก ก็ยังไม่ได้ชื่อว่า มีความสุขเท่ากับใจที่หยุดนิ่งนี้เลย นั้นคือคำยืนยันของท่านผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวงที่หมดกิเลสอาสวะแล้ว

 

ฝึกใจหยุดนิ่ง คืองานหลักของชีวิต

 

          เมื่อเราได้ยินได้ฟังอย่างนี้แล้ว เราก็จะต้องให้โอกาสกับ ตัวเราเองฝึกใจให้หยุดนิ่ง แล้วให้ยึดถือว่าสิ่งนี้เป็นหลักของชีวิต นอกนั้นเป็นเรื่องรองลงมา แม้มันจะมีความจำเป็น อย่างเช่น การทำมาหากิน ก็ยังเป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งเราสามารถทำสองอย่างนี้ควบคู่กันไปได้

 

           ฝึกกันไปทุกวัน ให้ใจคลอเคลียอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พอถูกส่วนแล้วมันก็นิ่ง แล้วก็จะถูกดึงดูดให้ตกศูนย์ลงไปสู่ภายใน แล้วดวงปฐมมรรคก็จะปรากฏเกิดขึ้น นี่ก็เป็นขั้นตอนของการทำสมาธิภาวนา

 

           เรามีเป้าหมายจะไปสู่ที่สุดแห่งธรรม พักระหว่างทางที่ดุสิตบุรี เราก็จะต้องขวนขวายในการสั่งสมบารมีทุกรูปแบบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น อย่าให้ตกๆ หล่นๆ

 

           ตอนนี้เราก็ฝึกหยุดใจนิ่งๆ นุ่ม เบาๆ สบายๆ ด้วยใจที่ชื่นบานให้สบายๆ ฝึกกันไปทุกวัน อย่าเกียจคร้าน แล้วสิ่งนี้นอกเหนือจากให้ความบันเทิงกับชีวิต ในระหว่างที่เรายังแข็งแรง ยังมีความสำคัญสำหรับชีวิตตอนก่อนที่เราจะถูกถอดกายไปสู่ปรโลก ซึ่งเราก็ต้องฝึกกันให้เป็น เราจะได้ตายก่อนตายได้ คือถอดกายออกไปก่อนจะถึงช่วงหมดอายุขัย หรือตายพร้อมกับการหมดอายุขัยของเรา ด้วยใจที่ใสบริสุทธิ์ แล้วก็ไปสู่เทวโลก ดุสิตบุรี วงบุญพิเศษ

 

ฝึกให้ได้ดวงปฐมมรรคเป็นอย่างน้อย       

 

        นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องฝึกฝน และสอนตัวเราเองให้ได้ทุกวันให้เราขยันทำความเพียรนะ อย่าเกียจคร้าน ต้องสอนตัวเอง บอกกับตัวเองทุกวัน ที่ต้องสอนอย่างนี้เพราะมีเรื่องที่จะดึงใจให้หลุดจากกลางได้เยอะ ใจมักจะแวบออกไปในเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นก็จะต้องฝืนไว้ ฝืนใจฝึกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงในระดับที่ใจหยุดนิ่งได้สนิท ติดในกลาง เข้าถึงดวงปฐมมรรคเป็นอย่างน้อย ถึง ณ ตรงนั้นความขยันก็จะมาเอง จนมีความรู้สึกว่าอยากนั่งต่อไปอย่างนี้เรื่อยๆ อยากศึกษาอยากเรียนรู้ความรู้ภายในให้ยิ่งไปกว่านี้ ด้วยความรู้ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก เราก็อยากจะศึกษาด้วยตัวของตัวเอง เพราะว่าเมื่อใจนิ่งแน่นถูกส่วนเข้าถึงปฐมมรรคแล้ว จะเกิดแรงบันดาลใจ อยากจะเข้าไปศึกษาเอง 

 

       ความเพียรก็จะเป็นอัตโนมัติ ใจของเราจะขยาย จากสติก็เป็นมหาสติ ปัญญาก็เป็นมหาปัญญา แล้วการเรียนรู้ความรู้ภายในก็จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเข้าถึงปฐมมรรคอย่างแนบแน่นแล้วนะ ดวงก็จะใสสว่าง แล้วก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน เข้าถึงดวงธรรมต่างๆ ถึงกายภายใน กายมนุษย์ละเอียด ทิพย์พรหม อรูปพรหม แล้วก็กายธรรม ซึ่งรอคอยเราอยู่ เป็นชีวิตระดับละเอียด ที่ยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ       

 

      ทีนี้มันยากตอนแรก ตอนที่จะประคองใจให้หยุดให้นิ่ง ที่ยากเพราะขี้เกียจนั่ง ถ้าขยันนั่งต้องได้ทุกคน ที่ไม่ได้ก็จะมีประเภทเป็นบ้า เป็นโรคประสาท ปัญญาอ่อน อะไรประเภทอย่างนั้น ถ้าขยันนั่งจะต้องได้

 

      ใหม่ๆ มันก็ฟุ้ง มืด เมื่อย ถ้านั้งไปนานๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นก็จะค่อยๆ หมดไป จิตก็จะค่อยๆ บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ยิ่งบริสุทธิ์ก็ยิ่งมีความสุขมาก แล้วมันจะโล่ง โปร่ง เบา สบายใจจะขยาย บุญจะไหลผ่านเข้ามาในตัวเรา ยิ่งกระแสธารแห่งบุญไหลผ่านเข้ามา จะยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้น ความบริสุทธิ์เพิ่มกำลังใจที่จะสั่งสมความดีงาม โดยไม่คำนึงถึงอุปสรรดเกิดขึ้นเลย มันจะเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่เราขยันแล้วก็ปรับปรุงวิธีการให้ดีทีเดียว

พระเทพญาณมหามุนี วิ.

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 3 

          โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029516581694285 Mins