วันพระพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรม

วันที่ 02 กย. พ.ศ.2563

วันพระพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรม

 

630902_b.jpg

จงก้าวตามพ่อชี้ มัชฌิมา
เส้นทางพระสัมมา พุทธเจ้า
หยุดอยู่กึ่งกายา ทุกเมื่อ
พบโลกุตรธรรมเก้า หลุดพ้นสังสาร

ตะวันธรรม

 

              (เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะ .............)

แก้ตึง

             ...ต้องค่อยๆ ประคองใจ อย่าให้ตึง อย่าให้หย่อน

 

            ตึงเราก็รู้ หย่อนเราก็ทราบ ถ้าตึงเกินไป หรือตั้งใจเกินไป เพราะอยากได้ อยากเห็น อยากให้ใจสงบ มันตั้งใจ ร่างกายจะฟ้อง จะอุทธรณ์ขึ้นมา โอ้ ไม่ไหวแล้ว ไม่ถูกวิธี นั่งแล้ว ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ อย่างนี้ผิดวิธี อย่าไปฝืนดันทุรังทำต่อนะ ต้องรีบลืมตา ปรับร่างกายให้สบาย พอสบายแล้วค่อยๆ เริ่มต้นใหม่ ค่อยๆ ประคองไป

 

        บางคนตอนแรกก็ประคองไปสบายๆ แต่พอนั่งไปนานๆ ก็ชักอยากเห็น เพราะนั่งมาตั้งนานแล้ว มันน่าจะมีอะไรให้ดู ก็เลยลืมตัว  ลืมหลักวิชชา นั่งแล้วไม่เห็น มันก็ฮึดฮัดขึ้นมา เลยไปเค้นภาพ เพราะอยากเห็น อย่างนี้ก็ผิดวิธีนะ ทำให้เกิดอาการ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ อย่างนี้ก็ไม่ได้ผล ต้องพอดี    

 

วันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุธรรม

 

         ทางสายกลางของพระอริยเจ้า ต้องพอดี ต้องสบายๆ

 

         เราดูการปฏิบัติธรรมของพระบรมครูของเรา ในวันที่พระองค์ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ได้ขบฉันภัตตาหาร จากนางสุชาดา ที่ถวายข้าวมธุปายาสในถาดทอง ๔๙ ปั้น ได้ อาหารรสเลิศ เสร็จแล้วก็มาสรงสนานพระวรกาย คือมาอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สดชื่น อธิษฐานลอยบาตร บาตรลอยทวนน้ำ ก็ยิ่งทำให้ปลื้ม เวลามานั่งก็นั่งอย่างสบายๆ

 

         ท่านคงมีความรู้สึกในใจว่า วันนี้ปลอดโปร่งจัง มันสบ๊าย สบาย จะนั่งไม่เลิกจนกว่าจะเห็น ตายไม่ว่า เวลาผจญมาร พระองค์ก็ยังนิ่งๆ เฉยๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวกายเลย ใจก็นึกถึง บุญบารมี นึกถึงความดี นิ่งๆ สบายๆ มั่นใจในความดีของตัวที่จะเอาชนะศึกได้ แล้วท่านก็วางใจให้พอดีๆ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ในที่สุดก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานไปตามลำดับ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

           หรือนึกย้อนหลัง ตอนที่พระองค์อายุ ๗ ขวบ ในวันแรกนาขวัญทรงนั่งทำใจหยุดนิ่ง ขัดสมาธิเจริญสมาธิภาวนาใต้ต้นหว้า แล้วเข้าถึงปฐมมรรค เห็นดวงใสแจ่ม จนกระทั่งไปดึงดูดบุญบารมีของพระองค์ท่าน แม้ยามบ่ายคล้อย เงาหว้ายังคงให้ร่มเงา เหนือธรรมชาติ ขึ้นมาเลย วันนั้นพระองค์ก็นั่งอย่างสบายๆ เหมือนตอนอายุ ๗ ขวบ ไม่ได้คิดอะไร

 

           ในวันตรัสรู้ธรรม พระองค์ทรงนึกถึงวันนั้น เมื่ออายุ ๗ ขวบ ซึ่งหลักก็คือ เป็นกลางๆ ไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป เพราะฉะนั้น เราก็จับหลักตรงนั้นมาใช้ในการปฏิบัติ คือวางใจสบายๆ นึกถึงบุญเป็นดวงใสๆ ใหม่ๆ เห็นไม่ชัด เราก็ทำความรู้สึกว่า มีดวงใสๆ ใสเหมือนกระจก ใสเหมือนน้ำ ใสเหมือนน้ำแข็ง ใสเหมือนเพชรที่ต้องแสง หรือใสเหมือนน้ำค้างปลายยอดหญ้า น้ำที่กลิ้งบนใบบัว หรือใสเหมือนดวงดาวในอากาศ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เป็นต้น

 

           ค่อยๆ นึกด้วยใจที่เยือกเย็น เราจะมาเอาความใจร้อน ที่ใช้ทางโลก มาใช้เวลาปฏิบัติธรรมไม่ได้เลย ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ประคองไป

 

สบายทุกขั้นตอน


                  การจะเข้าถึงธรรม ต้องมีความสุข ทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนปฏิบัติ กำลังปฏิบัติและหลังจากปฏิบัติ เลิกออกมาแล้วต้องสบายทุกขั้นตอน ถ้าตอนไหนไม่สบาย แสดงว่า ไม่ถูกวิธีแล้ว จะต้องสบายตลอด

 

          เพราะฉะนั้น จะนึกถึงดวงบุญใสๆ ก็ต้องนึกอย่างสบายๆ ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ค่อยๆ ตรึก ค่อยๆ นึก ค่อยๆ คิดไป เพราะเราไม่ได้นั่งแข่งกับใคร แม้แต่กับตัวของเราเองก็ไม่ได้แข่งแต่เราจะฝึกใจให้หยุดนิ่งๆ อย่างถูกหลักวิชชา ถูกวิธีการ

 

         ถ้าเรานึกไม่ออก แสดงว่าจิตหยาบ เพราะตั้งใจมาก หรือไม่เคยนึก เราก็ทำใจนิ่งๆ ในกลางตัว ถ้านิ่งในท้องยังไม่ได้ เรานิ่งตรงไหนก่อนก็ได้ สบายตรงไหน เริ่มต้นจากตรงนั้น

 

        นิ่งตรงไหนก่อนก็ได้ อาจจะอยู่ข้างนอกตัว ข้างหน้าเราหรือตามฐานต่างๆ ที่ยังไม่ใช่ ฐานที่ ๗ ตรงนั้นไปก่อนก็ได้ พอเริ่มรู้สึกว่า ตัวไม่อึดอัดแล้ว ไม่คับแคบแล้ว รู้สึกโปร่งๆ โล่งๆ เราก็นิ่งต่อไป พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น เดี๋ยวมันลงมาตรงกลางเอง นิ่งแล้วก็จะสบาย ถ้านิ่งแล้วสบาย ขยาย แม้ยังไม่เห็นภาพ ดวงบุญ ดวงใสๆ ก็ถือว่าเราทำถูกทางแล้ว ถูกหลักวิชชาแล้ว

 

       ถ้า นิ่งๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม ตัวมันโปร่ง ไม่อึดอัด ไม่คั่บแคบ รู้สึกบรรยากาศขยาย ตัวขยายแล้วก็หายไปเลย อย่างนี้ถูกวิธี ก็ให้รักษาหยุดกับนิ่งอย่างนั้นต่อไป อย่าลืมตา อย่าขยับตัว แล้วก็ไม่ต้องกลัว อะไร นิ่งๆ พอรู้สึกตัวหายไปยิ่งดี ตัวหาย ตัวเบา ตัวลอย เหล่านี้ เป็นต้น นั่นถูกวิธีแล้ว ให้นิ่งต่อไป

 

       หรือบางทีรู้สึกตัวยืดสูงขึ้น หรือตัวขยาย ตัวย่อ หล่นจากที่สูง เป็นต้น ถูกหลักวิชชาแล้ว ให้นิ่งต่อไป อย่าลืมตา อย่าขยับตัว อย่ากลัวอะไร และไม่ต้องใช้ความคิดสงสัย วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ประสบการณ์ว่า เอ๊ะ! นี่เป็นอย่างนั้น มีคำถามขึ้นในใจ อย่าให้เกิดขึ้นนะ นิ่งเฉยๆ โดยไม่ต้องคิด นิ่งอย่างเดียว

 

        ถ้าแสงสว่างเกิดขึ้น แสดงว่าถูกต้อง ไม่ว่าแสงนั้นจะขยายกระจายไปทั่วก็ตาม หรือเป็นแสงเล็กๆ แวบผ่านทางหัวตาก็มี ซ้าย ขวา หน้า หลัง ก็มี เราก็นิ่งอย่างเดียว ไม่ต้องไปชำเลืองดู นิ่งเฉยๆ ณ จุดที่นิ่ง นิ่งตรงไหนก็ตรงนั้น ไม่ต้องไปชำเลืองดู นั่นถูกหลักวิชชาแล้ว นิ่ง นุ่มๆ ละมุนละไม สบ๊าย สบาย อย่างนี้นะ เดี๋ยวจะถูกส่วนเอง

 

       พอถูกส่วนก็จะตกศูนย์วูบลงไปเลย พอวูบลงไปเดี๋ยวดวง ธรรมเบื้องต้นก็จะลอยขึ้นมาที่ฐานที่ ๗ ตอนนี้แหละเราจะเห็นฐานที่ ๗ ได้ชัดเจนแจ่มใส อ๋อ ฐานที่ ๗ ที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ อยู่ตรงนี้ มีลักษณะอย่างนี้ แล้วดวงก็จะใส ใสมาก ใสแล้วก็สว่าง ความสว่างกับความใสก็มาพร้อมกัน เป็นขั้นตอนอย่างนี้ พอถึงตรงนี้ก็ง่ายแล้ว  

 

         พอได้ดวงปฐมมรรค หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานตรงนี้ ง่ายแล้ว เพราะว่าใจนิ่งไปในระดับหนึ่งเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว ผ่านวิตก วิจาร ปีติ สุข เข้าถึงเอกัคคตา นิ่ง อุเบกขาความบริสุทธิ์ ความสุขมาพร้อมๆ กันเลย แต่เป็นความสุขที่ละเอียด สุกใส สว่าง สบาย ใจก็จะนิ่งในนิ่ง แน่นในแน่น เข้าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เข้าไปถึงของจริงที่มีอยู่ภายใน ๑๘ กาย ซึ่งเป็นแผนผังของชีวิต ติดมาตั้งแต่ปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถูกพญามารเขาบดบังทำให้ไม่รู้เรื่อง เราก็จะเข้าถึงได้เมื่อใจหยุดนิ่งได้สนิทนะ

 

       คืนนี้ก็เช่นเคย ใครเหนื่อย ใครง่วง ใครเพลีย ก็ปล่อยให้ หลับไปสักแวบหนึ่ง สดชื่น ตื่นขึ้นมาก็ทำความเพียรต่อ ใครเมื่อยก็ขยับ คันก็เกา ฟุ้งก็ลืมตา แล้วก็เริ่มต้นว่ากันใหม่ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงยุทธวิธีกันอย่างนี้นะ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจ ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวคืนนี้ทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ

 

หลวงพ่อธัมมชโย

วันศุกร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ 

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4

          โดยคุณครูไม่ใหญ่

        

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0018221656481425 Mins