พรานป่ากับนายประตู
กาลครั้งหนึ่ง มีพรานป่าสองพ่อลูกอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ แห่งหนึ่ง ในตอนกลางวันพรานป่าผู้เป็นพ่อมักจะออกไปล่าสัตว์ ส่วนลูกก็จะอยู่ดูแลบ้าน หุงหาอาหาร สองพ่อลูกอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดมา
วันหนึ่งพ่อออกไปล่าสัตว์แล้วบังเอิญถูกงูเห่ากัด เขาพยายามอดทนต่อความเจ็บปวด ฝืนลากสังขารกลับบ้าน แล้วสั่งเสีย ลูกชายก่อนตายว่า “เจ้าจงนำนอแรด ของดีประจำตระกูล อันสวยงามชิ้นนี้ไปกราบพระราชา เพื่อฝากถวายตัวให้พระองค์ ชุบเลี้ยงต่อไป” พร้อมกับยื่นนอแรดอันสวยงามให้ลูกชาย
หลังจากที่เผาศพพ่อเรียบร้อยแล้ว ลูกชายก็นำนอแรดเดินทาง ไปที่วังของพระราชา เขาพบนายประตูชั้นนอกของพระราชวัง จึงอ้อนวอนนายประตูให้พาเขาไปเข้าเฝ้าพระราชาพอนายประตู ชั้นนอกเห็นนอแรดงดงามเช่นนั้น ก็คิดว่าหนุ่มน้อยคนนี้คงได้รับ พระราชทานรางวัลจากพระราชาจำนวนมากจึงเกิดความโลภ
นายประตูชั้นนอกจึงบอกกับชายหนุ่มว่า “ข้าจะพาเจ้าเข้าไปก็ได้ แต่เมื่อเจ้าได้รับพระราชทานรางวัลแล้วต้องแบ่งให้ข้า ครึ่งหนึ่ง” ชายหนุ่มตอบตกลงทันที นายประตูชั้นนอกจึงพาชายหนุ่มเข้าไปส่งที่ประตูวังชั้นใน
เมื่อนายประตูชั้นในทราบเรื่องก็เกิดความโลภเช่นกัน จึงบอกชายหนุ่มว่าจะพาไปเข้าเฝ้าก็ต่อเมื่อชายหนุ่มรับปากว่าจะแบ่งรางวัลให้ครึ่งหนึ่ง ชายหนุ่มก็ตอบตกลงอีก นายประตูวังชั้นใน จึงพาชายหนุ่มไปเข้าเฝ้าพระราชา
เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นนอแรดนั้นแล้ว มีความพอ พระทัยเป็นอันมาก จึงถามชายหนุ่มว่าเขาต้องการรางวัลอะไร ชายหนุ่มทูลตอบพระราชาว่า “ขอพระองค์โปรดพระราชทาน รางวัล ๒ ประการ คือ ขอให้พระองค์รับตนไว้เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทต่อไป และขอให้พระองค์พระราชทานรางวัลโดยการโบยหลังตน ๑๐๐ ที”
พระราชาแปลกใจมาก จึงตรัสถามชายหนุ่มว่า “ทำไมเจ้าจึง ต้องการรางวัลโง่ ๆ อย่างนั้น ทำให้ตนเจ็บตัวเปล่า ๆ” ชายหนุ่มจึงกราบทูลพระราชาตามความจริงว่า “แท้จริงแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้ต้องการรับการเฆี่ยนตีตนเอง แต่ขอเพื่อแบ่งให้นาย ประตูทั้งสองคน คนละครึ่ง”
เมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องทั้งหมดแล้วก็ทรงพิโรธมาก สั่งให้ทหารนำตัวนายประตูทั้งสองไปเฆี่ยนคนละ ๕๐ ที แล้วแต่งตั้งชายหนุ่มเป็นมหาดเล็กประจำพระองค์ ชายหนุ่มได้รับราชการ เลื่อนตำแหน่งเป็นลำดับ จนได้เป็นขุนวังของพระนครในที่สุด
ท่านทั้งหลาย...
ความโลภย่อมนำพาตนไปสู่ความเสื่อม เมื่อเราปรารถนา ทรัพย์ ก็ควรเร่งขวนขวายประกอบกิจการงาน อย่าได้หวังรวย ทางลัด ทรัพย์ที่ได้มาโดยมิชอบ จะนำทุกข์มาให้ในบั้นปลายเสมอ