รสแห่งธรรมเลิศกว่ารสทั้งปวง
เมื่อใดที่ลูกลิ้ม |
รสธรรม |
ลูกจักต้องจดจำ |
กว่าม้วย |
อร่อยรสทุกคำ |
ล้ำเลิศ |
ลูกจักลิ้มได้ด้วย |
หยุดไว้กลางกาย |
ตะวันธรรม
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะหยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุดอย่างเดียว ให้มีสติ สบาย สมํ่าเสมออยู่ภายในนะ เดี๋ยวมันก็จะถูกส่วนไปเอง นั่งให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม เดี๋ยวก็ทำได้กันทุกคน
มันยากแต่ไม่มาก ยากพอสู้ด้วยความเพียรอย่างถูกหลักวิชชา ด้วยฉันทะคือรักที่จะทำ เพราะเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าทำแล้วมีความสุข มีปีติ ความเพียร ก็จะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ความเพียรจะเกิดขึ้นมา ใจจะจดจ่อ
ทั้งวันทั้งคืนในทุกกิจกรรม มันอยากจะทำให้ได้ อยากจะเข้าถึงอยากให้ดีกว่านี้ แล้วก็จะค่อย ๆ สังเกตไปเรื่อย ๆ ว่า ทำอย่างไรถึงจะหยุดนิ่งได้สมบูรณ์ จะเห็นได้ชัดใสสว่าง เข้ากลางคล่อง นี่อิทธิบาท ๔ก็จะมาตอนนี้ละ
สิ่งนี้มีความสำคัญกับชีวิตเรามาก ๆ ถ้าทำได้ทำเป็นจะเห็นภาพภายใน เราจะอัศจรรย์ใจในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า คำแนะนำสั่งสอนของท่านช่างดีเลิศประเสริฐจริง ๆ ที่ทำให้เรา
ไปรู้ไปเห็นสิ่งที่มีอยู่ในตัว ซึ่งเป็นแผนผังในชีวิตติดกันมาตั้งแต่ปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
เราจะยิ่งอัศจรรย์ใจว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปรู้ไปเห็นมาได้อย่างไร ท่านรู้เห็นแล้วทำไมท่านไม่หวงนะ กลับให้คำแนะนำที่ดี ๆ ให้เราได้เข้าถึงอย่างท่าน ดีอย่างท่าน เก่งอย่างท่าน ปกติคนเราจะหวงความรู้ที่จะให้คนอื่นเก่งเท่ากับตัวหรือเหมือนตัวแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เป็นอย่างนั้น ไม่หวง แล้วยังสอนให้เห็นตามท่านอีกด้วย
และจะอัศจรรย์ใจอีก เพราะเข้าถึงแล้วรู้รสชาติของการเข้าถึงว่ารสแห่งธรรมชนะเลิศกว่ารสทั้งปวง รสเปรี้ยวหวานมันเค็มที่ลิ้นกระทบรสอาหารเครื่องดื่ม สู้รสแห่งธรรมไม่ได้ หรือรสชาติของการได้เห็นของสวย ๆ งาม ๆ ทำให้ใจปลื้มก็ยังสู้รสที่เห็นธรรมภายในไม่ได้เลย
หรือรสชาติที่ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ชวนให้สนุกสนานเบิกบานยังสู้รสของการเข้าถึงตรงนี้ไม่ได้เลย หรือรสชาติของกลิ่นหอม ๆ
ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจยังไม่สู้การเข้าถึงธรรมตรงนี้ ซึ่งมีรสชาติในการให้ความพึงพอใจมากกว่านั้น หรือรสชาติแห่งการสัมผัสสิ่งที่นุ่มนวล เสื้อผ้า หรือกามกิเลสเพศสัมพันธ์ หรืออะไรต่าง ๆเหล่านั้น มันสู้รสชาติในการเข้าถึงธรรมตรงนี้ไม่ได้เลย มันเบิกบานกว้างขวางกว่ากันเยอะ
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ซึ่งมีรสมีชาติที่ให้มนุษย์ตรึงติดเอาไว้ เมื่อมาเทียบกับรสชาติในการเข้าถึงธรรม แค่ธรรมเบื้องต้น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็เลิศประเสริฐกว่าแล้ว ยิ่งเข้าถึงดวงศีลดวงสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็ยิ่งเพิ่มพูนทับทวีขึ้นไป
ยิ่งเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดยิ่งมีรสมีชาติหนักเข้าไปอีกเข้าถึงกายทิพย์ พรหม อรูปพรหม กระทั่งถึงกายธรรม มีรสมีชาติเลิศขึ้นไปเรื่อย ๆ เหมือนเถาปิ่นโตหลาย ๆ ชั้น เปิดชั้นแรกมีอาหารว่าอร่อยแล้ว ยกชั้นแรกออกไป ชิมชั้นที่สองอร่อยเพิ่มขึ้น ยกชั้นที่สองออกไปชิมชั้นที่สามอร่อยหนักเข้าไปอีก นี่ตั้ง ๑๘ ชั้น รสชาติก็จะยิ่งอร่อยขนาดไหน
ยิ่งเข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมก็จะอุทานเหมือนพระมหากัปปินะ โอ สุขจังเลย คือพึงพอใจจังเลยชอบจังเลย
นี่คือสิ่งที่ลูกทุกคนจะต้องทำให้ได้ในชีวิตนี้ ไม่ได้ก็ยอมตายล่ะ สู้ก็ตาย ไม่สู้ก็ตาย ก็มันต้องตายกันอยู่แล้ว ก็ต้องทำกันไป ก่อนที่เราจะตายต้องให้ไปชิมรสชาติของธรรมกายซะก่อนว่า มีรสมีชาติเป็นอย่างไร
ถ้ารู้รสชาติการเข้าถึงธรรมกายใจจะผ่องใส ไม่เศร้าหมอง มีสุขตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ตายแล้วยิ่งสุขยาวนานกว่าในสุคติโลกสวรรค์
นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องฝึกกันให้ได้ อย่าไปให้ความสำคัญกับกิจอื่นมากเกินไป บริหารเวลาให้เป็น เวลาจะดูหนังดูละคร จะเที่ยวเตร่สนุกสนาน เอามาทำตรงนี้ ทำเป็นแล้วจะสนุกกว่าดูหนังดูละครเสียอีก ส่วนข่าวคราวเราก็ติดตามได้ เลือกสรรเฉพาะที่จำเป็นต้องรู้หรือควรรู้ ข่าวอะไรไม่ควรรู้ ไม่ต้องรู้ เราก็ผ่านไป นี่บริหารเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่อย่างจำกัดนี้ให้เป็น
ถ้าเข้าถึงธรรมกายแล้วเราจะมีชีวิตอยู่อย่างผาสุก สุขทั้ง ๆที่ยังมีชีวิตอยู่นี่แหละ สุขอย่างพูดไม่ออกบอกไม่ถูกทีเดียว ให้ชีวิตนี้ได้มีโอกาสเปล่งคำว่า สุขจังเลย ชอบจังเลย พึงพอใจจังเลย ให้
ได้รู้รสรู้ชาติกัน
อย่าไปท้อถอยในยามที่เรายังทำไม่ได้ ขอให้ได้ทำเถอะเดี๋ยวเราก็จะทำได้ มันก็ค่อย ๆ เป็นไปเรื่อย ๆ ละเอียดไปเรื่อย ๆได้เรียนรู้กันไปเรื่อย ๆ ได้สัมผัสที่ละเอียดกับสภาวธรรมที่เข้าถึงไปเรื่อย ๆ ฝึกไปทำไป
หมั่นสังเกต
แล้วก็หมั่นสังเกต อย่านั่งโดยไม่สังเกต สังเกต หมายถึงเออ วันนี้นั่งแล้วรู้สึกดีจังเลย สบายจังเลย เราทำอย่างไร ให้จำวิธีการเอาไว้
ทำอย่างนี้แล้วไม่ฟุ้ง ไม่ง่วง ทำอย่างนี้แล้วมันไม่แคบ ไม่อึดอัด ไม่มึน ไม่ซึม ไม่ตึง ทำอย่างนี้แล้วสบาย ทำอย่างนี้แล้วเบิกบาน ทำอย่างนี้นั่งแล้วรู้สึกว่า เวลาหมดไปเร็วเหลือเกิน อยากนั่งอยู่นาน ๆ ก็สังเกตเอาไว้เราทำอย่างไรจึงได้อย่างนี้ แล้วก็ทำอย่างนี้ซํ้า ๆ ไปเรื่อย ๆ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า ภาวิตา พหุลีกตา ทำบ่อย ๆทำเนือง ๆ ทำซํ้า ๆ ณ จุดที่ทำ ต้องสังเกตนะลูกนะ
สังเกตอย่างนี้ดี อย่าไปสังเกตจ้องจับผิดใคร อย่างนั้นไม่ดีไม่เกิดประโยชน์อะไร หมดเวลาแล้ว มาสังเกตตรงนี้ดีกว่า ว่าเราทำถูกไหมหรือยังไม่ถูก หรือถูกแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ หรืออย่างนี้สมบูรณ์ พอสังเกตอย่างนี้เดี๋ยวเราก็จะนั่งดี จะปลื้มอกปลื้มใจ จะมีปีติมีความภาคภูมิใจว่าคนทะเล่อทะล่าอย่างเราก็ทำเป็นกับเขาเหมือนกันนะ เลยเผลอไป ไม่ทำเว้นไป ๒ วัน ๓ วัน ไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น พอมีอารมณ์ก็กลับมาทำใหม่ อ้าว ไม่ได้อย่างเดิมซะแล้วนี่อย่าชะล่าใจนะลูกนะ เรายังฝึกใหม่อยู่ แม้จะฝึกมานานแค่ไหนเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลาย ๆ ปี แล้วก็ตาม ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกใหม่อยู่ ยังไม่ชำนาญ
แม้คนที่ทำชำนาญแล้วเขายังทำซํ้า ๆ กันไปเรื่อย ๆ อย่างนั้นแหละ นี่ต้องอย่างนี้ แล้วจะทำเป็น ทำเป็นแล้วจะมีความสุขสุขมาก ๆ ชีวิตเกิดมาในชาตินี้ก็สมหวัง จะทำบุญ ทำทาน รักษาศีลจะมีอานิสงส์มากยิ่งกว่าธรรมดา ทำน้อยได้มาก ทำมากก็ยิ่งทับทวีเพราะว่าเราทำด้วยใจที่ละเอียด ที่บริสุทธิ์ ที่หยุดนิ่ง นี่หลักวิชชาสำคัญนะลูกนะ ต้องจำให้ดีทีเดียว หมั่นสังเกตให้ดีนะ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวกันทุก ๆ คน ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ
อาทิตย์ที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖
จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
โดยคุณครูไม่ใหญ่