ยอม หยุด เย็น
ตรึกแก้วต้องนึกน้อม |
เบาเบา |
แค่ว่ามีในเรา |
อยู่แล้ว |
อย่าตรึกเพ่งเขม็งเอา |
จริงเน้อ |
เดี๋ยวเครียดเพราะตรึกแก้ว |
เพ่งแล้วกลางกาย |
ตะวันธรรม
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ ตรึก ก็คือการนึกถึงดวงใส ๆ อย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย หรือสิ่งที่เรารัก ถ้าคุ้นเคยมากเห็นจนเจนตาก็จะนึกได้ง่าย รักมากก็นึกได้ง่ายเหมือนกัน ให้นึกคล้าย ๆ อย่างนั้นไม่ใช่เพ่งลูกแก้ว ไม่ใช่ไปเค้นภาพ ให้นึกเบา ๆ สบาย ๆ
นึกได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน นึกไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆไม่ต้องเร่งร้อน ทำใจให้ใสบริสุทธิ์เยือกเย็น แม้ไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไรชัดแค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน แล้วก็นึกให้ต่อเนื่อง อย่าให้เผลอจน
กระทั่งใจแวบไปคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าอดไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ ก็ปล่อยมันไป ช่างมัน อย่าไปรำคาญ อย่าไปกังวล อย่าไปคิดว่าความฟุ้งเป็นอุปสรรคต่อการนั่ง ไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้น เฉย ๆ คือ พอรู้ตัวเราก็ดึง
ใจกลับมาเริ่มต้นใหม่อย่างง่าย ๆ
ยอมเริ่มต้นใหม่อย่างง่าย ๆ คล้าย ๆ กับนักเรียนอนุบาล ยอมตรงนี้ไปก่อน ส่วนมากมักจะยอมกันไม่ค่อยได้ เพราะยอมไม่ได้จึงเกิดปัญหา ทำให้การปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า
อย่าฟังผ่านนะลูกนะ ตรงนี้สำคัญ เพราะความไม่ยอม บางทีติดมา ๑๐ ปี ก็มี ๑๐ กว่าปี ก็มี บางคน๒๐ ปี ระหว่างนั้นก็เตือนยํ้าบ่อย ๆ แต่ก็ฟังผ่าน ไม่ได้เป็นข้อคิดสะกิดใจ จนกระทั่งท้อ เบื่อการนั่งก็มา
ซักถามดูว่า สาเหตุเป็นเพราะอะไร ถึงได้รู้ว่าเพราะไม่ยอมนั่นเอง ไม่ยอมทำใจ
เหมือนคนไม่มีเงินต้องยอมรับว่าเราไม่มีเงิน นี่ก็เหมือนกันเราก็ยอมรับไปก่อนว่ามันมีให้ดูแค่นี้ มันไม่ชัด เหมือนเอาของหรือเอาดวงแก้วไปตั้งไว้ในที่สลัวหรือในที่ไกล ๆ มองไปทีไรมันก็ไม่ชัดเจน ก็ต้องยอมรับก่อนว่ามันมีให้ดูแค่นี้ เราก็ดูไปแค่นี้จะไปเพ่งแบบคนตาหยี หรือจะไปบังคับไปเค้นให้ชัดยังไงมันก็ไม่ชัดต้องยอม ๆ ไปก่อน
ต้นกล้าไม้ที่ปลูกยังเล็ก ๆ เราก็ต้องยอมรับว่าจะไปเฆี่ยนไปตีมัน จะใส่ปุ๋ยแค่ไหน ไปขู่เข็ญไปอ้อนวอนแค่ไหนว่า ให้ออกลูกเดี๋ยวนี้ มันไม่ออกหรอก มีแต่ที่เขาเล่นกลเท่านั้น แต่ความจริง
มันไม่เป็นอย่างนั้น ต้องยอมรับนะลูกนะ อย่าฟังผ่านนะ ยอมรับว่าต้นกล้าอ่อน มันยังไม่มีลูกหรอก ไม่มีดอก ไม่มีผล
ลูกคนไหนที่ทำสวน ทำไร่ ทำนาจะเข้าใจว่ามันต้องยอมรับยอมรับแล้วทำไงต่อ ก็ทำใจสบาย เหมือนผู้เข้าใจชีวิต เข้าใจต้นไม้เข้าใจเรื่องของประสบการณ์ภายในดีพอสมควร ยอมก่อนนะลูกนะ
ยอมว่ามันมืด ก็ต้องยอมไปก่อนว่ามันมืด ถ้านึกภาพขึ้นมา เห็นได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน ใจเย็น ๆ ทำเหมือนปลูกต้นไม้อย่างที่ยกตัวอย่าง หมั่นรดนํ้า พรวนดิน ขจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยค่อย ๆ ประคับประคองกันไป เดี๋ยวกล้านั้นก็จะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นทุกวัน
ยิ่งให้เงาของเราไปทับต้นไม้ หมายถึงว่า เราจะต้องเอาใจใส่หมั่นไปดู อย่าเผลอ ทุกอย่างเผลอเป็นเสร็จ ไม่ว่าเรื่องคนสัตว์สิ่งของอย่าไปวางใจ เชื่อก็เชื่อแต่อย่าเพิ่งวางใจ ทุกอย่างเผลอไม่ได้ จะเป็น
คนสนิทชิดชอบ จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ อย่าเผลอเชื่อ อย่าเพิ่งวางใจต้นกล้าก็เหมือนกัน อย่าเผลอลืมรดนํ้า ลืมไปดู ลืมไปขจัดวัชพืชลืมพรวนดิน ลืมใส่ปุ๋ย คอยดูว่าอะไรที่จะทำให้ต้นกล้าปลอดภัยแล้วก็เจริญเติบโตอย่างงดงาม เราก็ทำอย่างนั้น
ต้องให้เงาเจ้าของไปทับต้นไม้ เขาอุปมากันอย่างนั้น ใจของเราก็ต้องให้เข้ามาครอบคลุมที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ บ่อย ๆ ที่บอกให้ลูกทุกคนก่อนนอนเอาใจวางไว้กลางกาย จะได้หลับฝันดีหรือ
ไม่ฝันเลย ตื่นเราก็เอาใจไว้กลางกาย เป็นสิ่งแรกที่เราจะต้องนึกถึงจะเข้าห้องนํ้าห้องท่า อาบนํ้า ล้างหน้า แปรงฟัน ใจก็หมั่นนึกเอา
ไว้เรื่อย ๆ ทำความรู้สึกไว้เรื่อย ๆ ว่าอยู่ตรงกลาง จะทำมาหากินก็ทำอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องยอมรับว่ามีให้ดูแค่นี้ก็ดูแค่นี้ และผลจากการยอมรับอะไรเกิดขึ้น ใจก็เย็น พอใจเย็นหนักเข้า ใจมันก็ใส ไม่มีความขุ่นมัวเลย พอใจใส ดวงก็ใสตาม ที่มืดก็ใส ที่ไกลก็ใกล้ เหมือน
เอาดวงตัง้ ไว้ไกล ๆ ก็ค่อย ๆ ใกล้เข้า มาพอจะเป็นเนื้อเป็นตัวเป็นดวงขึ้นมาได้บ้าง ค่อยรู้สึกอบอุ่นใจ ปีติใจ ภาคภูมิใจว่า มันชัดขึ้นเมื่อใจเราเย็น และยอมรับว่ามันได้แค่นี้ก็แค่นี้
แล้วจะก็มีอานิสงส์ต่อไปอีก ถ้าเรายอมรับต่อไปว่า ตอนนี้ชัดมา ๑๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว เราไม่ไปบีบไปเค้นไปบังคับเลย
ไก่ฟักไข่ให้ออกมาเป็นตัว มันก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่านั่งทับปุ๊บ ลูกไก่เจาะกระเปาะไข่ออกมาเป็นตัวเลย มันก็ไม่ใช่ แม่ไก่ยังยอมรับว่าต้องค่อย ๆ กกไป เราก็ยอมรับว่า เห็นได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์
แล้ว ก็ทำใจอย่างเดิม
อย่าเปลี่ยนวิธีการเด็ดขาด ไปได้ยินคนอื่นเขามีประสบการณ์ภายในดีกว่าเรา กลับมาคิดจะหาวิธีปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อจะให้ดีเท่าเขา อย่าคิดนะลูกนะ นั่นโบราณเขาถึงบอกว่า เห็นช้างขี้อย่า
ไปขี้ตามช้าง ช้างก็คือช้าง เราก็คือเรา เขาทำได้อย่างนั้น เราคิดแค่นี้พอว่า สักวันหนึ่งเราก็ต้องได้อย่างนั้น แต่ในวันนี้เรายอมรับว่าเราได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว เราก็ค่อย ๆ สั่งสมไป
คงจำกันได้หลวงพ่อบอกว่าไม่มีทางลัดอื่นใดเลยที่จะทำ ให้เรามีประสบการณ์ภายในที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป นอกจากความเพียรและทำถูก
วิธีเท่านั้น คือ ต้องทำสมํ่าเสมอทุกวัน ทั้งวันได้ก็ยิ่งดี ทั้งวันไม่ได้เราก็เอาเป็นช่วง ๆ ไป ทำช่วงเช้าได้ เอ้า วันพรุ่งนี้ก็อาจจะช่วงสายแล้วมันก็ค่อย ๆ เต็มวันไปเอง
พอใจของเรายอมรับ ใจก็หยุด พอหยุดใจก็เย็น พอเย็นก็เห็นภาพชัดขึ้นกว่าเดิม จาก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็เป็น ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
เหมือนการเลี้ยงลูก ค่อย ๆ เลี้ยงก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของลูกรักเราได้ชัดเจน ปลูกต้นไม้ก็เช่นเดียวกันก็เห็นการเจริญเติบโตให้ได้ชื่นใจขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็ยังต้องยอมอย่างเดิม ยอมรับว่ามันเท่านี้พอยอมมันก็หยุด พอหยุดมันก็เย็น พอเย็นก็เห็นภาพ เอ้า ชัดกว่าเดิมอีกแล้ว จาก ๒๐ เป็น ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ก็รักษาตรงนี้ อย่าให้เสื่อมลงมา แม้มันไม่เจริญขึ้นก็ให้คงที่เอาไว้
จำนะลูกนะ จำและทำด้วย รับทราบแล้วก็รับปฏิบัติด้วยก็ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ยอม...หยุด...เย็น ไปเรื่อย ๆเดี๋ยวก็ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นไหมจ๊ะว่า ถ้าเรายอม...หยุด...เย็น เดี๋ยวก็เห็นจ้าขึ้นเรื่อย ๆ เราก็มีความสุขเพิ่มขึ้น และเป็นสุขทุกครั้งที่นั่งจะไม่มีความรู้สึกว่าฝืนนั่ง หรือพยายามที่จะนั่งให้เกิดสมาธิหรือให้ใจสงบ
ไปได้ยินใครเขาพูด เขาปฏิบัติดี มีประสบการณ์ภายในก้าวหน้ากว่า เราก็ฟังไว้ ก็ชื่นชมอนุโมทนากับเขา แต่อย่ามาน้อยเนื้อตํ่าใจว่า เราไม่เท่าเขา หรือกลับมาเร่งจะให้เท่าเขา เหมือนเขา หรือดี
ยิ่งกว่าเขา อย่าทำนะลูกนะ
เราไปเห็นอีกสวนหนึ่ง โอ้โห ต้นไม้มันใหญ่ สวนที่บ้านเราเพิ่งสูงแค่เมตร แต่สวนอื่นเขา ๕ เมตรไปแล้ว ก็จะพยายามไปรีดไปเค้น ไปดึงให้มันยืดขึ้นมา มันไม่ได้นะลูกนะ มันก็มีขบวนการสั่งสมของมัน ใจภายในก็เช่นเดียวกันต้องค่อย ๆ สั่งสมความละเอียดและก็หมั่นสังเกตว่า เรามีความสุขเพิ่มขึ้นในการนั่ง เพราะว่าเราไม่เร่งร้อน เรายอม เราหยุด เราเย็น ยอมรับชีวิต อย่าไป Spoil ชีวิตมันมากนัก ยอมนะ ใจเย็น ๆ สบาย ๆ มันก็จะเบิกบานยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ความเบิกบาน ความสุขที่อยากจะนั่งจะเป็นพลังส่งให้เราก้าวหน้าขึ้นทุกวัน
เครื่องเสริมการปฏิบัติธรรม
นอกเวลาเราก็หมั่นสังเกตว่า อะไรจะเป็นเครื่องเสริมให้ใจเราก้าวหน้ากว่านี้ เช่น การปลูกมะม่วง เขาเสริมรากที่โคนต้น จากเดิมรากเดียวต้นเดียวไม่แข็งแรง เอาสัก ๒ ราก ๓ ราก ๕ ราก ให้มันแข็งแรงขึ้น เอ้า เราก็เสริมสิ รักษาศีล ๕ ของเราให้บริบูรณ์ หรือรักษาศีล ๘ แบบเดินสายกลาง ทุกวันพระ วันโกน หรือหลังวันพระอีกวัน เราก็ถือกันไปแบบสายกลาง เพราะว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเพศเรื่องเดียว มันยังเกี่ยวพันกับการรับประทาน และอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคม ส่วนทานบารมีเราก็สั่งสมไปศีลเราก็รักษา
แล้วก็สำรวจจิตใจของเราให้มันผ่องใสเสมอ ให้อารมณ์ดี ๆอย่าให้ขุ่นมัว หมั่นดักความคิดในใจว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นกลาง ๆ อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป อะไรไม่ใช่
บุญ ไม่ใช่บาป เราก็หมั่นสังเกต เหมือนร่างกายของเรา นอกจากรับประทานอาหารธรรมดาแล้ว ยังมีอาหารเสริมขึ้นมาอีก เพื่อพยุงร่างกายให้แข็งแรง แล้วยังไม่พอยังต้องออกกำลังกาย ต้องพักผ่อน
ให้เต็มที่ มันต้องมีเครื่องช่วยเสริมเข้ามาอย่างนี้
ใจก็เหมือนกันนะลูกนะ ให้หมั่นสังเกต หมั่นดักความคิดในใจถ้าเป็นอกุศลเราก็ไม่รับไว้ แต่ถ้ามันเกิดเราก็ทำเฉย ๆ มันอยู่กับเราไม่นานหรอก เดี๋ยวก็ผ่านไป มันก็เกิดชั่วคราวเดี๋ยวมันก็ดีพอเกิดขึ้นตั้งอยู่ เดี๋ยวอารมณ์นั้นก็เสื่อมสลายหายไป นี่คือเครื่องเสริม
พอเสริมอย่างนี้หนักเข้า เวลาเรามานั่งธรรมะ ใจจะรวมได้เร็ว เมื่อวานนี้ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว วันนี้เราก็นิ่งเฉยเริ่มต้นใหม่เริ่มต้นใหม่มันก็ไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์อีกก็ไม่เป็นไร ยอมมันไปก่อนเราเข้าออกตรง ๕๐ เปอร์เซ็นต์นี้ให้คล่อง ต่อไปจะชำนาญมากเข้าแต่เดิมนั้นต้องใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ถึงจะไปถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ต่อมาแค่ครึ่งชั่วโมงก็ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว ต่อมาก็ลดลงมาเรื่อย ๆจนกระทั่งแค่ ๕ นาที มันก็ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว ฝึกจนกระทั่งคล่องไปเลยตรง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พอเราไม่เร่งร้อนว่าให้ถึง ๑๐๐เปอร์เซ็นต์ หรือยิ่งกว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ พอทำอย่างนี้หนักเข้า มันก็ก้าวหน้าไปเอง
หนทางที่เราเดินบ่อย ๆ หญ้ามันไม่รกหรอก แล้วเราก็จะเจนทาง ตรงไหนมีก้อนอิฐ ตรงไหนมีตอ มีหลุมมีบ่อ เราก็หลบเลี่ยงได้ ทางเดินของใจก็เช่นกัน ทำให้
มันคุ้น เดี๋ยวเราก็จะรู้ว่า อ๋อ ตรงนี้มันเป็นหลุม เป็นบ่อ เป็นตอของการปฏิบัติธรรม มันสะดุดทุกทีเวลามาถึง อย่างนี้เราก็สังเกตออก แล้วในที่สุดก็ชำนาญไปเรื่อย ๆ จาก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ก็เป็น ๖๐, ๗๐ , ๘๐ , ๙๐,๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
แม้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว ยอม...หยุด...เย็น ก็ยังต้องเอามาใช้นะลูกนะ ยอมว่าเราเพิ่งได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่คนอื่นเขา๒๐๐ เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว ยอมไปก่อน เออ ตอนนี้เราถึงดวงนะแต่เขาถึงกายภายในไปแล้ว ช่างเขานะลูกนะ อย่าลืมใช้วิธีเดิมวิธีเดียวคือยอม...หยุด...เย็นเท่านั้น
เหมือนเรารับประทานอาหาร ใช้วิธีเดียว คือ ตักข้าวเข้าปากวิธีเดียว ถ้าใส่ทางจมูกต้องเจาะคอ นั่นมันผิดธรรมชาติ ฟังเสียงก็เหมือนกันวิธีเดียววิธีเดิมนั่นคือ ต้องผ่านช่องหู เพราะฉะนั้นการ
ทำให้ก้าวหน้าก็ใช้วิธีเดิมวิธีเดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้นเราเห็นดวงชัดใสแจ่มทีเดียวนะ กลมดิ๊ก สว่างเจิดจ้า เอ๊ะ ทำไมไม่เห็นกายภายในเหมือนอย่างคนอื่นเขาเห็นล่ะ เอาล่ะสิ ตัวอุปสรรคพญามารมันสอนเราในตัวแล้วนะ มันมากระซิบในใจว่า เอ๊ะ เราเห็นดวงขนาดนี้ มันน่าจะเห็นกายแล้วนะทำไมยังไม่เห็น ตัวนั้นมันกระซิบอยู่ในใจ อย่าไปเชื่อนะลูกนะ เราก็ยังทำ ยอม หยุด แล้วก็เย็นต่อไป เย็นไปเรื่อย ๆ ไม่ช้าหรอกจะเร็วทำที่หลวงพ่อบอกจะเร็วมาก ๆ และนั่งจะมีความสุขทุกครั้ง
ถ้านั่งแล้วไม่มีความสุขก็อย่าไปนั่งมันเลย นั่งไปทำไม ถ้าอยู่เฉย ๆ สุขมากกว่า ก็เพราะว่านั่งผิดวิธี
จึงไม่มีความสุข จึงไม่ได้รับความสุขที่เกิดจากการเจริญภาวนา
เพราะฉะนั้นเรายอม ได้ดวงแล้ว แต่ยังไม่เห็นกายก็ช่างมันสองตัวนะ “ช่างมัน” อีกสามตัว คือ “ยอม หยุด เย็น” ยอมว่าเราหยุดใจได้แค่นี้ ใจมันก็จะได้หยุด แล้วมันจะได้เย็นใจ พอใจอยู่เย็นมันก็เป็นสุข เราคงเคยได้ยิน อยู่เย็นเป็นสุข อยู่ร้อนมันเป็นทุกข์จำนะลูกนะ จำไว้ให้ดี ๆ
ถ้าจำได้แล้ว ต่อจากนี้ไป นิ่งตรงกลางอย่างสบาย ๆ เราถึงตรงไหน ยอม หยุด แล้วก็เย็นนะลูกนะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ
เสาร์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕
จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
โดยคุณครูไม่ใหญ่