จิตที่ตั้งมั่น
ภาษิตของพระสิริมาเถระ
ถ้าตนมีจิตไม่ตั้งมั่น
ถึงชนเหล่าอื่นจะสรรเสริญ
ก็สรรเสริญเปล่า
เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น
ถ้าตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
ถึงชนเหล่าอื่นจะติเตียน
ก็ติเตียนเปล่า
เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
สิริมาเถรคาถา มก. เล่ม ๕๑ หน้า ๘๙
เนื้อหาอ่านเพิ่มติม
ข้อความตอนหนึ่งจาก... สิริมาเถรคาถา (ว่าด้วยคาถาของพระสิริมาเถระ)
(ท่านพระสิริมาเถระ)เกิดในตระกูลคฤหบดี แห่งพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ เพราะเหตุที่เขาเจริญด้วยสิริสมบัติในตระกูลนั้น นับจำเดิมแต่วันที่เกิดแล้ว คนทั้งหลาย จึงตั้งชื่อเขาว่า สิริมา ดังนี้. ในเวลาที่เขาเดินได้ น้องชายก็เกิด คนทั้งหลาย ก็ตั้งชื่อน้องชายว่า สิริวัฑฒ์ โดยกล่าวว่า เด็กคนนี้ ยังสิริให้เจริญเกิดแล้ว. แม้เด็กทั้งสองนั้น ก็เห็นพุทธานุภาพ ในคราวที่พระองค์ทรงรับพระวิหารชื่อว่า เชตวัน เป็นผู้มีจิตศรัทธา บวชแล้ว. ในบรรดาพระเถระ ๒ รูปนั้น พระสิริวัฑฒเถระ ยังไม่ ได้บรรลุอุตริมนุสธรรม (ธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์) ก่อน แต่เป็นผู้ได้ปัจจัย ๔ เป็นปกติ เป็นผู้อันคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายสักการะเคารพแล้ว ส่วนพระสิริมาเถระ จำเดิมแต่ เวลาที่ท่านบวชแล้ว เป็นผู้มีลาภน้อย เพราะมีกรรมมาตัดรอน เช่นนั้น แต่เป็นผู้อันชน ส่วนใหญ่ยกย่องนับถือ กระทำกรรมในสมถะและวิปัสสนาทั้งหลายแล้ว เป็นผู้มี อภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นาน
ก็ภิกษุและสามเณรทั้งหลายผู้เป็นปุถุชน ไม่รู้ว่าท่านพระสิริมาเถระผู้มีอภิญญา ๖ - เป็นพระอริยะ จึงไม่ยกย่อง จะพูดคุยอะไรกัน ก็พากันตำหนิเพราะความที่ท่านเป็นผู้มี ลาภน้อย โดยที่ชาวโลกไม่สนใจ แต่เมื่อจะยกย่อง ก็พากันสรรเสริญพระสิริวัฒเถระ เพราะความที่ท่านเป็นผู้อันชาวโลกเคารพนับถือ โดยความที่ท่านเป็นผู้มีปัจจัยลาภ. พระสิริมาเถระ คิดว่า ธรรมดาผู้ที่ควรตำหนิกลับมีผู้กล่าวสรรเสริญ และผู้ที่ควร สรรเสริญกลับถูกกล่าวตำหนิ นี้ พึงเป็นโทษของความเป็นปุถุชน ดังนี้ เมื่อจะตำหนิ ความเป็นปุถุชน จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า
"ถ้าตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถึงชนเหล่าอื่นจะสรรเสริญ
ชนเหล่าอื่นก็สรรเสริญเปล่า เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น
ถ้าตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถึงชนเหล่าอื่นจะติเตียน
ชนเหล่าอื่นก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว"
....เมื่อพระสิริมาเถระประกาศความที่ตนเป็นผู้หมดกิเลส และประกาศความที่ พระสิริวัฑฒเถระยังมีกิเลส ด้วยคาถาเหล่านี้อย่างนี้แล้ว พระสิริวัฑฒเถระฟังคำเป็น คาถานั้นแล้ว เกิดความสลดใจ เริ่มตั้งวิปัสสนา ยังประโยชน์ตนให้บริบูรณ์แล้ว ต่อกาลไม่นานนัก และบุคคลผู้ติเตียนทั้งหลาย ก็ยังพระสิริมาเถระให้อดโทษแล้ว.
*(อภิญญา หมายถึง การรู้ยิ่ง มี ๖ ประการ คือ หูทิพย์ ๑ ญาณที่รู้ใจบุคคลอื่น ๑ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ ๑ ตาทิพย์ ๑ และ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป ๑)*
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 89