ปทุมเจดีย์ " เจดีย์ดอกบัว "
พระพุทธเจ้ากับ”ดอกบัวทั้งห้า”
สั้น ๆ ง่าย ๆ กับเรื่องราวที่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก หรือที่อยู่ในประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งปวงในภัทรกัปนี้
“ภัทร” แปลว่า ห้า “กัป” แปลว่า ช่วงเวลาที่จะมีเกิดขึ้นและดับไปของพระพุทธศาสนา ดังนั้น “ภัทรกัป” จึงมีความหมายตรงตัวว่า เป็นกัป เป็นช่วงเวลาที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลงมาตรัสรู้ธรรมเป็นจำนวน 5 พระองค์
และอะไรเล่า คือ สิ่งที่สื่อความหมายนี้
เป็นที่เล่าและจารึกต่อ ๆ กันมาเป็นความรู้ว่า ในวาระที่โลกบังเกิดขึ้น และเย็นสนิทเพียงพอพร้อมที่จะเป็นที่อุบัติขึ้นของมวลชีวิต ณ ขณะนั้น ได้บังเกิดดอกบัวปัทมา หรือดอกบัวหลวงสีขาวที่เรียกกันในภาษาวรรณกรรมว่า “ปุณฑริก” ผุดขึ้นจากแผ่นดินอย่างแข็งแรง งดงาม เป็นจำนวน 5 ดอก เป็นสัญญาณและเป็นการบอกกล่าวว่ากัปนี้จะปรากฏมีพระโพธิสัตว์มาตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมดเป็นจำนวนถึง 5 พระองค์
และกาลก็ดำเนินมาเช่นนั้น จากยุคของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ซึ่งจะโลกจะค่อย ๆ เจริญขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงวาระที่พระองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ จากนั้นพระองค์ก็จะทำนาย หรือทรงบอกถึงจำนวนปีที่พระศาสนาของพระองค์ จะจำเริญขึ้นและดำรงอยู่ถึงจุดสูงสุด เรียกกันว่า “กัปไขขึ้น” และจะเริ่มเสื่อมสลาย จนสิ้นสูญอันเป็นเวลาที่โลกจะต้องเผชิญกับความลำบากไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง เรียกกันว่าเป็นช่วง “กัปไขลง” จนกว่าจะถึงเวลาที่พระโพธิสัตว์องค์ต่อไปจะเสด็จลงมาบังเกิดเพื่อบำเพ็ญบารมีสู่การตรัสรู้ธรรม กัปจึงจะเริ่มไขขึ้นอีกครั้ง
สำหรับโลกใบนี้ กาลก็จะเป็นเช่นกล่าวนี้ ถึง 5 ครั้ง แล้วโลกใบนี้ก็จะถึงวาระแห่งการแตกสลาย ดังนั้น “ดอกบัว” หรือ ปัทมา หรือ ปทุมา หรือ ปุณฑริก จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ธรรมของพระโพธิสัตว์เข้าสู่ภาวะของการสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พุทธศาสนิกชนจึงนิยมใช้ดอกบัวเป็นดอกไม้สำหรับบูชาพระพุทธองค์ ทั้งสีขาวและสีชมพู และไม่นิยมพับกลีบดอกให้เปลี่ยนรูปลักษณ์ เนื่องจากต้องการรักษา รูปร่าง รูปลักษณะให้เหมือนกับดอกบัวทั้งห้าที่ปรากฏบนพื้นดิน สำแดงสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ อีกทั้งดอกบัวนี้ยังปรากฏอยู่บนจอมกระหม่อมของพระธรรมกาย (กายตรัสรู้ธรรม) ภายใน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกด้วย
ดังนั้น “ดอกบัว” จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ การสร้างพระเจดีย์เป็นรูปทรงดอกบัว จึงเท่ากับเป็นสร้างสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์นั่นเอง
หลักการของเจดีย์ทรงดอกบัว
เปรียบเทียบกับหลักการของเจดีย์ทั่วไป
โดยหลักการ นักเจดีย์วิทยาจะแบ่งพุทธเจดีย์ออกเป็นสองลักษณะใหญ่ ๆ คือ
เจดีย์ที่เน้นไปในทางกว้าง หรือ แนวนอน เรียกว่า “The Plan Stupa”
เจดีย์ที่เน้นไปในทางสูง หรือ แนวตั้ง เรียกว่า “The Pile Stupa”
เจดีย์ที่เน้นในทางกว้าง หรือ Plan Stupa มักเป็นเจดีย์ที่สร้างในพื้นที่โล่งกว้าง หรือเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะเน้นไปในทางกว้าง คือ เจดีย์ทรงกลม เช่น สาญจิเจดีย์ เกสริยาพุทธเจดีย์และมหาธรรมกายเจดีย์ ที่มักนิยมเรียกกันว่า ทรงสถูป หรือ Thupa
เจดีย์ที่เน้นไปทางสูง หรือ Pile Stupa คือเจดีย์ทั่วไป ที่มียอดแหลม อย่างที่คุ้นตากัน เช่น ปฐมเจดีย์ รุวันเวฬิเซย่า
กระนั้นในรูปทรงของเจดีย์ทรงสูง หรือ ที่เรียกกันว่า Cetiya ก็ซ่อนความเป็นจริงที่เป็นรูปลักษณะของทรงกลมไว้ในฐานที่เข้าใจ ดังภาพข้างล่างนี้
และยังมีเจดีย์อีกรูปทรงหนึ่ง ที่เรียกรูปลักษณะเฉพาะของเจดีย์ทรงนี้ว่า Stupa as the Lotus หรือ เจดีย์ทรงดอกบัว เช่น เจดีย์พระธาตุพนม ทั้งนี้เพราะถือว่า “ดอกบัว” คือสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ หรือ การตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ ตามนัยที่ปรากฏเป็นดอกบัวหลวงห้าดอกตอนต้นกัป
เมื่อเป็นเช่นนี้เจดีย์ทรงดอกบัว จึงมิใช่ของแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะนอกจากจะเป็นรูปทรงจำเพาะแล้ว ยังจัดอยู่ในประเภทของเจดีย์ทรงสูง Pile Stupa คือ เน้นไปทางแนวตั้ง
กระนั้น ก็สามารถใช้แนวตั้งมาเป็นรัศมีของการวาดส่วนโค้งได้ ซึ่งส่วนโค้งนี้เองที่ทางทฤษฎีเรียกว่า The Hidden Sphere คือ ทรงกลมที่ซ่อนอยู่หรือทรงกลมที่มองไม่เห็น ทั้งนี้เพราะโดยหลักการ การสร้างพุทธเจดีย์โดยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ถือว่าทรงกลมนี้แทนดวงธรรมหรือแทนดวงปฐมมรรค แต่การจะสร้างเจดีย์ทรงกลมให้มีขนาดใหญ่นั้นใช้พื้นที่มากหรือต้องสร้างในที่สูง ทำให้กาลต่อมา รูปลักษณ์ของพระพุทธเจดีย์จึงจำต้องถูกปรับให้เป็นไปหรือสอดคล้องไปกับพื้นที่ เพราะการสร้างเจดีย์ทรงกลมที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ นั้นนับเป็นเรื่องยาก
ดังนั้นเมื่อต้องการความสูงของเจดีย์ เพื่อให้สามารถเห็นได้จากที่ไกล จึงต้องหันมา เน้นในด้านของส่วนสูงจึงทำให้เกิดเจดีย์มีการต่อยอดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศศรีลังกา คือ รุวันเวฬิเซย่า จากนั้นรูปลักษณ์ของเจดีย์ก็ถูกพัฒนาไปเรื่อย ๆให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่รับพระพุทธศาสนาเข้าไป
ทรงกลมที่มองไม่เห็น The Invisible Sphere ที่ซ่อนอยู่ในเจดีย์ทรงสูงทุกรูปเเบบ
ทรงกลมที่มองไม่เห็น The Invisible Sphere ที่ซ่อนอยู่ในเจดีย์ทรงดอกบัว(พระธาตุพนม)
ดังนั้น ไม่ว่าพุทธเจดีย์จะถูกสร้างออกมาด้วยการเน้นทางแนวตั้งหรือแนวนอน ก็ย่อมสำแดงถึงทรงกลมทั้งสิ้น เพียงแต่ซ่อนไว้หรือโดยเปิดเผยเท่านั้น และทรงกลมนี้ ก็มิได้แทนแต่จำเพาะความเป็นบาตรคว่ำหรือดวงปฐมมรรคเท่านั้น หากหมายถึงครอบฟ้าที่อานุภาพของพระพุทธองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าจะสอดส่งไปถึงด้วย
ดังนั้น พุทธเจดีย์แทบทุกองค์จึงมิได้ซ่อนความหมายไว้แต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนัยที่เน้นส่วนสูง “The Pile” และนัยที่เน้นส่วนกว้าง “The Plan”
ปทุมเจดีย์ หรือ เจดีย์ทรงดอกบัว
ปทุมเจดีย์จัดอยู่ในทฤษฎีของ The Pile Stupa และยังมีชื่อจำเพาะตามภาษานักวิชาการอีกด้วยว่า Stupa as the Lotus จึงนับว่าเป็นพุทธเจดีย์ที่มิได้แปลกแยกแตกต่างออกไปแต่อย่างใด เพียงแต่การก่อสร้างเน้นรูปลักษณะของความเป็นดอกบัวให้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งยังมีเส้นแบ่งนรก มนุษย์ สวรรค์ ตามทฤษฎีชัดเจนคงเดิมทุกประการ
เส้นแบ่งนรก มนุษย์ สวรรค์ นั้นก็คือ บัวคว่ำ และ บัวหงาย ที่เป็นส่วนฐานของพุทธเจดีย์ทุกองค์ คือ บัวคว่ำ แสดงถึงนรกภูมิ บัวหงาย แสดงถึงสุคติภูมิ คือ สวรรค์ทั้งหลาย โดยมีเส้นแบ่งระหว่างบัวคว่ำ กับ บัวหงายชัดเจน เส้นนี้ชัดเจนและสำคัญนัก นักเจดีย์วิทยาถือว่าเป็นเส้นที่แสดงถึง “เขตแดนของมนุษย์” ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างนรกกับสวรรค์
ในปทุมเจดีย์ก็มีเส้นนี้ชัดเจน นั่นก็คือเส้นที่รองรับองค์เจดีย์นั่นเอง ส่วนจะกว้างใหญ่เพียงใดแล้วแต่วัตถุประสงค์ เพราะบางทีก็ต้องใช้เส้นนี้เป็นแนวเวียนประทักษิณแสดงสักการะต่อองค์พระเจดีย์ด้วยไปในขณะเดียวกัน
ลักษณะสำคัญของพุทธเจดีย์มีเพียงเท่านี้ คือ
ฐานที่รองรับองค์เจดีย์ ที่มักจะเป็นเส้นนิ่ง แทนภพมนุษย์
ส่วนบัวคว่ำแทนนรกภูมิ
ส่วนบัวหงายแทนสวรรค์ทั้งปวง
ส่วนองค์พุทธเจดีย์ ว่าจะเน้นทางด้านกว้างหรือเน้นทางด้านสูง
แต่ทุก ๆ รูปทรงเว้นเจดีย์ทรงกลม จะมีส่วนที่มองไม่เห็น นั่นคือทรงกลมที่เกิดจากยอดพุทธเจดีย์ถึงกึ่งกลางฐาน ที่เรียกกันว่า The Invisible Sphere นั่นเอง
ซึ่งแม้จะเป็นเจดีย์ทรงกลม ส่วนฐานก็ยังกว้างกว่าองค์เจดีย์ เพราะอย่างไรเสีย ผู้สร้างก็ไม่สามารถสร้างทรงกลมได้ใหญ่โตโอฬารตามความเป็นจริงได้ จึงมักทำส่วนฐานให้กว้างใหญ่เพื่อแทนส่วนโค้งที่กว้างมากขึ้นเท่านั้น เช่น ส่วนเชิงลาดของมหาธรรมกายเจดีย์เป็นต้น
นอกนั้นจะเป็นการปรับกันไปตามความประสงค์บ้าง ตามพื้นที่บ้าง ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมบ้าง ตามความเชื่อเดิมที่ตกทอดกันมาบ้าง
แต่ที่ชัดเจนที่สุดน่าจะอยู่ที่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตอนต้นกัป เมื่อปรากฏดอกบัวหลวงผุดขึ้นพ้นแผ่นดินเป็นจำนวนห้าดอก ที่แสดงหรือบอกความจริง ให้เทวาทั้งหลายทราบว่า ยุคนี้ กัปนี้ จะมีพระโพธิสัตว์ มาบังเกิดเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง 5 พระองค์ทีเดียว
ดังนั้น อีกนัยหนึ่ง ปทุมเจดีย์ ย่อมแสดงชัดถึงความเป็นพระพุทธองค์ ที่ทรงลงมา ตรัสรู้ ณ โลกมนุษย์แห่งนี้
ซึ่ง ณ ขณะนี้ พุทธันดรนี้ เป็นยุคของ เจ้าชายสิทธัตถะ พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ปทุมเจดีย์ จึงอาจสามารถสำแดงถึงหรือเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อีกนัยหนึ่งด้วย
ดังนั้น โดยปรัชญา และ รูปลักษณ์ของ”ปทุมเจดีย์” จึงสามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้
1. เป็นพุทธเจดีย์ทรงสูงที่เรียกว่า The Pile Stupa
2. เป็นพุทธเจดีย์ที่มีรูปลักษณะเฉพาะ เรียกกันในภาษาวิชาการว่า “Stupa as the Lotus” หรือเจดีย์ทรงดอกบัว
3. มีคุณสมบัติ หรือรูปแบบครบถ้วนตามสาระแห่งพระพุทธเจดีย์ทุกประการคือ มีส่วนฐานที่เรียกว่า ฐานปัทม์ หรือบัวคว่ำ บัวหงาย และ เส้นนิ่งคั่นกลางระหว่างบัวคว่ำ/หงาย
4. เป็นประหนึ่งตัวแทนการปรากฏขึ้นของดอกบัวหลวงทั้งห้าเมื่อต้นภัทรกัปนี้
5. ดังนั้น ปทุมเจดีย์ จึงสามารถอยู่ในอีกลักษณะหนึ่งของพุทธเจดีย์ได้ นั่นคือStupa as the Buddha Himself คือ เจดีย์แทนพระพุทธองค์
ปทุมเจดีย์ ที่ปรากฏนิยมสร้างกัน ณ ขณะนี้ ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงไม่ได้ผิดแผกแตกต่างออกไปจากบรรพเจดีย์แต่อย่างใด แต่หากเป็นการน้อมนำเหตุผลทั้งปวงของความเป็นพระพุทธเจดีย์มารวมไว้ในที่เดียวกัน โดยมิได้แผลงรูปลักษณ์ให้แปลกออกไป
ปทุมเจดีย์ จึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่ควรแก่การสรรเสริญยิ่งในเชิงภูมิปัญญาของผู้ดำริสร้าง เพื่อบังเกิดเป็นบุญอย่างยิ่งต่อผู้สร้าง ผู้ส่งเสริม และผู้เคารพกราบไหว้ ทำให้การกราบพระพุทธเจดีย์เป็นประดุจได้กราบองค์จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ อีกนัยหนึ่ง เท่ากับได้กราบพระพุทธเจ้าทั้งหมดทั้งปวง ทั้งห้าพระองค์ของภัทรกัปนี้เลยทีเดียว
จากหนังสือ ปทุมเจดีย์ "เจดีย์ดอกบัว"
โดย เกษมสุข ภมรสถิตย์
อ่านเพิ่มเติม เเละโหลดหนังสือ http://kalyanamitra.org/book/index_dhammabook_detail.php?id=1009