สิ่งที่แสวงหาอยู่ที่ใจหยุดนิ่ง

วันที่ 30 กค. พ.ศ.2563

สิ่งที่แสวงหาอยู่ที่ใจหยุดนิ่ง

เมื่อใดที่ลูกลิ้ม                             

รสธรรม

ลูกจักต้องจดจำ    

กว่าม้วย

อร่อยรสทุกคำ 

ล้ำเลิศ

ลูกจักลิ้มได้ด้วย

หยุดไว้กลางกาย

ตะวันธรรม

 

         เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา

 

       แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลดให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ สมมติว่า ภายในร่างกายของเราปราศจากอวัยวะ ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น สมมติเป็นที่โล่งๆ ว่างๆ เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายในคล้ายๆ ท่อแก้ว ท่อเพชรใสๆ

 

        คราวนี้เราก็มานึกถึงคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ที่ท่านสรุปคำสอนธรรมะปฏิบัติเอาไว้ว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ”

 

       “หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์” พอจะสรุปได้ว่า ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทางนั้น ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย หยุดอย่างเดียวเท่านั้น คือ เอาใจที่แวบไปแวบมานั้น มาหยุดนิ่งๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒นิ้วมือ ตรงนี้แหละเรียกว่า ฐานที่ ๗

 

         โดยมีเครื่องหมายที่ใส สะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิ กลมรอบตัว โตเท่ากับแก้วตาของเราคือ ประมาณปลายนิ้วก้อย นิ้วนาง นิ้วกลาง เป็นต้น ให้เครื่องหมายนี้เป็นหลักที่ยึดที่เกาะของใจเรา ใจจะได้ไม่ซัดส่าย ไปคิดเรื่องอื่น เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง ครอบครัว เป็นต้นใจจะได้มาอยู่ในตัว ซึ่งเป็นที่ตั้งดั้งเดิมของใจอย่างถาวร ใจจะได้กลับมาหยุดมานิ่ง เพราะหยุดเป็นตัวสำเร็จ ทำให้เราสมปรารถนาในทุกสิ่ง

 

สิ่งที่ทุกคนแสวงหา

 

          สิ่งที่เราปรารถนานั้น คือความสุขที่แท้จริง ไม่ว่าเราจะปรารถนาอะไรก็ตาม ในเบื้องต้นอาจจะหลากหลาย แต่ตอนปลายนั้นต้องการความสุขที่แท้จริง เช่น อยากได้ที่ดิน อยากได้บ้าน อยากมีครอบครัวที่อบอุ่น อยากได้รถ อยากได้ยวดยานพาหนะ อยากได้แหวน อยากได้เครื่องประดับ อยากได้ทรัพย์สินเงินทองอยากได้ยศ ตำแหน่ง อยากมีอำนาจ วาสนา อยากมีพวกพ้องบริวาร นี่คือเบื้องต้นที่เราอยากมี อยากได้ อยากเป็น แต่ตอนสุดท้ายที่อยากอย่างนี้ ก็เพราะถ้าสมอยากแล้ว เรามีความสุขคือสุดท้ายอยากได้ความสุข โดยผ่านคนสัตว์สิ่งของนั่นเอง

 

           อยากมีเงินก็เพราะอยากมีความสุข คิดว่ามีเงินแล้วซื้อความสุขได้ อยากได้ยศ อยากได้ตำแหน่ง คิดว่ามีแล้วจะทำให้เรามีความสุข ความสุขคือสุดยอดแห่งความปรารถนาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แม้สัตว์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน สัตว์อยากกิน อยากมีความสุข มีคู่ก็อยากจะมีอย่างมีความสุข แม้จะเจ็บจะป่วยก็อยากเจ็บป่วยอย่างมีความสุขตายก็อยากตายอย่างมีความสุข ตายไปแล้วก็อยากไปอยู่ในที่ที่มีความสุข สุขทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นความสุขคือสุดยอดแห่ง ความปรารถนาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

 

สุขแท้จริงอยู่ที่หยุดนิ่ง   

      

              สุขที่แท้จริงมนุษย์ยังไม่เคยเจอเลย เจอแต่สุขกำมะลอ ยังเป็นของเทียมอยู่ แต่สุขที่แท้จริงอยู่ที่หยุดกับนิ่ง มารวมประชุมตรงนี้แหละ เพราะฉะนั้นหยุดเป็นตัวสำเร็จ ทำให้เราสมหวังดังใจในทุกสิ่ง พอหยุดได้แล้ว ความปรารถนาต่างๆ ก็จะลดน้อยถอยลงไป ยิ่งเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ยิ่งไม่อยากได้อะไรเลย แต่ยากจะเรียนรู้ความจริงของชีวิต ของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย อยากหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะอยากไปนิพพาน อยากไปสู่ที่สุดแห่งธรรม มันจะเป็นอย่างนั้น  

 

                เพราะฉะนั้น หยุดเป็นตัวสำเร็จตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่ง เป็นพระอรหันต์ ถ้าเราจับหลักได้อย่างนี้ จะเห็นว่ามันไม่ยากหรือยากพอสู้ ฝึกใจให้หยุดนิ่งอยู่กับเนื้อกับตัว โดยเฉพาะที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ให้ใจมาหยุดนิ่งที่ตรงนี้ ฝึกหยุดฝึกนิ่งประคองใจไปด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง เรื่อยไปเลยจะกี่สิบ กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนครั้งก็ได้ ภาวนาไป ตรึกนึกถึงดวงใสๆ ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่าให้เผลอจากสองอย่างนี้ ถ้าเผลอแล้วใจไม่หยุด แต่ถ้าไม่เผลอ ใจจะหยุดจะนิ่งอยู่ในกลางกาย

 

เอกายนมรรค

 

         พอใจหยุดถูกส่วนเข้า มันจะทิ้งคำภาวนา จะตกศูนย์วูบลงไปฐานที่ ๖ ซึ่งอยู่ระดับเดียวกับสะดือ ห่างจากฐานที่ ๗ สองนิ้วมือไปยกเอาดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบลอยขึ้นมา เป็นดวงใสบริสุทธิ์ โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ สุกใส บังเกิดขึ้นที่ฐานที่ ๗

 

         ดวงนี้พระเดชพระคุณหลวงปู่ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือดวงปฐมมรรค พอได้ดวงนี้ก็ง่ายแล้ว การที่จะไปสู่อายตนนิพพานไปถูกแล้ว เพราะทางไปมีทางเดียว เป็นทางสายกลางภายใน โดยเริ่มต้นจากดวงปฐมมรรคนั่นแหละ ทางเอกสายเดียว ไม่มี ๒ ทางเพราะมีทางเดียวนี่แหละ จึงว่ามันง่าย หรือยากพอสู้

 

         ถ้ามีใครมาชี้บอกทางเราว่า ไปทางนี้ มีทางเดียว อย่างนี้เราจะไปผิดทางได้อย่างไร พอไปทางนั้น ปลายทางก็คือจุดหมายที่เราต้องการ ไม่มีใครชี้แนะอย่างนี้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้หนทางสายกลาง แต่มาชี้ชัดเจนขึ้นในยุคของเราคือ พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายนี่แหละ

 

          เพราะฉะนั้น ได้ดวงใสแล้วก็ง่ายแล้ว ไม่มีผิดทางเพราะทางเอกมีสายเดียว อยู่กลางดวง ท่านบอกหมดเลยว่าหยุดถูกส่วน  ตกศูนย์ ปฐมมรรคเกิด ไปสู่อายตนนิพพาน ในเส้นทางสายกลางซึ่งอยู่กลางดวงปฐมมรรค เห็นไหมจ๊ะว่ามันง่ายแล้ว ใจก็จะนิ่งแน่นไปเรื่อยๆ พอถูกส่วนเข้าก็จะเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัว ซึ่งไม่ได้ไปปรุงแต่งเลย มีมาก่อนการบังเกิด ขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียอีก เมื่อท่านบังเกิดขึ้น ท่านก็ไปค้นพบ พบแล้วก็นำมาเปิดเผย นำมาชี้แจง มาสั่งสอนว่ามีอย่างนี้อยู่ภายในกายของเรา

 

ของจริง อยู่กลางกาย

 

         พอเข้ากลางปฐมมรรคได้ จะเจอแต่ของจริงทั้งนั้น สิ่งที่อยู่นอกปฐมมรรคยังเป็นของเทียม ยังไม่ใช่ของแท้ ของกำมะลอเพราะเป็นของเทียม ท่านจึงไม่ให้ไปยึดติด ไปยึดมั่นถือมั่น ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วางเสีย เพราะถ้าหากไปติดตรงนั้นมันจะหมดเวลาของชีวิตไป แล้วจะไม่เจอสิ่งที่ต้องการ   

      

         ท่านถึงว่า อย่าไปติดสิ่งเหล่านั้น คือสิ่งที่เราอาศัยเกี่ยวข้องกันชั่วคราวตอนที่เป็นมนุษย์อยู่เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์สิ่งของ หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ มันเกี่ยวข้องพัวพันกันเฉพาะตอนเป็นมนุษย์เท่านั้น ตายแล้วก็แยกย้ายกระจัดกระจายกันไปถ้าเราไปติด มันก็หมดเวลาของชีวิต

 

          สิ่งที่อยู่นอกปฐมมรรค ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎเหล็กของไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไป มีการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่

 

         ถ้าเป็นคน ก็ไล่เรื่อยไปตั้งแต่เป็นทารก มาเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน วัยชรา สุดท้ายก็ตาย เปลี่ยนกันมาเรื่อยๆจากสดใส มาเสื่อมโทรม มาทรุดโทรม เพราะฉะนั้นไม่ให้ไปติด

 

         สิ่งของก็เหมือนกัน ต่างเดินทางไปสู่จุดสลายทั้งนั้น เกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไป สุดท้ายลงไปอยู่ในถังขยะ ทั้งนั้นเดี๋ยวก็ไปอยู่ในดิน แล้วก็แยกย้ายกันไป จะเป็นเสื้อผ้า ตึกรามบ้านช่อง ในที่สุดก็ไปสู่จุดสลายทั้งนั้น มันไม่คงที่ เพราะไม่คงที่นี่แหละ ขืนไปยึดมั่นถือมั่นแล้วมันจะทุกข์ ทุกข์กายทุกข์ใจเพราะว่าไม่ใช่ของแท้ เป็นอนัตตา ของเทียม ยังไม่ใช่ของจริงของที่อยู่นอกปฐมมรรคเป็นอย่างนี้นะลูกนะ

 

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนว่า อย่ายึดมั่นถือมั่น เอาพอดีๆ จะเกี่ยวข้องจะพัวพันอะไรก็พอดี แค่เป็นเครื่องอาศัยเท่านั้นจะเป็นทรัพย์สินเงินทองก็ชั่วคราว เพราะฉะนั้นใช้ให้เป็น อย่าตกเป็นทาสของมัน

 

         พอหยุดนิ่งถูกส่วนเดี๋ยวก็เข้าถึงปฐมมรรค หยุดกลางปฐมมรรค เดี๋ยวก็เข้าไปถึงธรรมที่ละเอียด ที่ประณีตยิ่งขึ้นหยุดถัดๆ ไป จะใหญ่โตขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นหยุดที่ยิ่งใหญ่ที่นิ่งแน่นไปเรื่อย ยิ่งกว้างขวาง ยิ่งขยาย ยิ่งโตใหญ่ในสิ่งที่เราเห็นยิ่งหยุด ยิ่งนิ่ง ยิ่งโตใหญ่ขยายไปเรื่อยๆ นี่แปลก อัศจรรย์ทีเดียว

 

         ถ้าไม่หยุด จะคับแคบ จะอึดอัด แต่ถ้าหยุดได้แล้วขยาย หยุดสอง ขยายมากกว่าหยุดที่หนึ่ง หยุดสาม หยุดสี่ หยุดร้อยพัน หมื่น แสน ล้าน ยิ่งขยายโตใหญ่หนักยิ่งขึ้น ขยายไปถึงไหนก็เห็นไปถึงนั่น เห็นถึงไหนก็รู้ถึงนั่น

 

อานิสงส์ใจหยุดนิ่ง

 

         มีสิ่งที่จะต้องเรียนรู้อีกเยอะ ที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง ความรู้ที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง เป็นความรู้ที่แท้จริง เป็นของจริงๆ ยิ่งรู้ใจยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งรู้ยิ่งมีความสุข ยิ่งมีพลังใจในการสร้างความดียิ่งๆ ขึ้นไป

 

          หยุดกับนิ่งสำคัญมากๆ นะลูกนะ เดี๋ยวก็จะเห็นกายในกาย กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอรหัต ให้หยุดต่อไป เดี๋ยวก็จะเห็นกายธรรมในกายธรรม โตขึ้นไปเรื่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ ใจก็ยิ่งมีอานุภาพ มีความเป็นใหญ่อยู่ในตัว 

 

           พอหยุดนิ่งจะยิ่งพึ่งตัวเองได้ จะรู้เลยว่าอะไรคือที่พึ่ง อะไรไม่ใช่ที่พึ่ง สิ่งไหนที่ควรระลึกถึง สิ่งไหนไม่ควรระลึกถึง หยุดนิ่งได้ถึงจะเข้าใจ

 

           ถ้าไม่หยุดนิ่ง จะไขว้เขว จะเข้าใจผิด สิ่งที่ไม่ใช่ที่พึ่งก็จะเข้าใจว่าเป็นที่พึ่ง สิ่งที่ไม่ควรระลึกถึงก็จะคิดถึงทั้งวันทั้งคืน จะกินจะนอนก็นึกถึงกันตลอด นั่นเพราะไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ถ้าหากหยุดนิ่งรู้เลย เพราะเห็นความแตกต่างที่เราเคยเห็น เคยรู้ เคยเข้าใจ กับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดจากหยุดกับนิ่ง มันมีข้อแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ถึงตอนนั้นใจก็รู้ว่า ควรจะเลือกอะไร

 

           ยิ่งเมื่อเข้าถึงกายธรรม เราจะพบว่า พระธรรมกายนี่แหละเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเรา เป็นพระเจ้าภายในที่สัมผัสได้ ให้คุณอย่างเดียว ไม่ให้โทษเลย เมื่อเข้าไปถึงแล้วเราจะรู้ด้วยตัวของเราเอง พึ่งตัวเองได้ อยู่คนเดียวก็ไม่เหงา ไม่เศร้า ไม่ซึม ไม่เซ็ง ไม่เครียด ไม่เบื่อ ไม่กลุ้ม

 

          เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีความรักที่จะเข้าถึงอย่างแรงกล้า อย่างหลงใหล เพราะท่านจะเป็นที่พึ่งให้กับเราอย่างแท้จริง ถ้าเรามีที่พึ่งที่แท้จริงได้ เดี๋ยวเราก็เป็นที่พึ่งให้กับใครๆ ก็ได้ทั้งนั้นใครเข้ามาใกล้เรา เราก็เป็นที่พึ่งให้กับเขาได้

 

          หยุดกับนิ่งทำให้เกิดปัญญา ซึ่งจะแก้ไขปัญหาทั้งหลายได้ เพราะฉะนั้นเวลาใครมีปัญหา หลวงพ่อถึงแนะนำให้หยุดกับนิ่ง ดูตัวอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนผจญมาร พระองค์ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย หยุดกับนิ่งอย่างเดียว แล้วก็ระลึกนึกถึง บุญบารมีความดีที่ได้กระทำเอาไว้นับภพนับชาติไม่ถ้วน พอนึกถึงบุญ นึกถึงบารมี ความดีที่ทำเอาไว้ ใจก็ปลื้มปีติเบิกบาน ความเบิกบานนั้นขจัดความหวั่นไหวให้หมดสิ้นไป ขจัดความฟุ้ง จิตก็มั่นคง แน่วแน่ ปัญญาจึงเกิดขึ้น บุญก็ขยายพรึบห้อมล้อมตัวเลย พญามารก็แพ้ภัยไป ทำอะไรไม่ได้ เพราะหยุดกับนิ่งอย่างเดียว นั่นคือต้นแบบของการแก้ปัญหาทั้งหลาย

 

          ไม่ว่าปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น ไม่สู้ ไม่หนี ทำความดีเรื่อยไปด้วยหยุดกับนิ่ง ไม่ช้าสิ่งที่เป็นปัญหาก็จะล่มสลายไป เหลือแต่ความสว่างไสว

 

          เมื่อมีคนเข้าใจผิดได้ คนเข้าใจถูกก็มีอยู่และความเข้าใจผิดมันไม่จีรัง วันนี้เข้าใจผิดพรุ่งนี้เข้าใจถูกได้

 

         หยุดนิ่งจึงสำคัญมากนะ ต้องฝึกต้องทำให้ได้ให้มีให้เป็น ขึ้นมา พึ่งได้ตลอดกาล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในสถานการณ์ใดๆ แม้ตอนที่จะต้องเจอมัจจุมาร มัจจุมารจะมองไม่เห็น พอถึงตอนนั้น เราตายก่อนตาย ถอดกายไปแล้ว ตายก่อนตายได้ ดังนั้นให้ตั้งใจฝึกให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้นะ

 

        คืนนี้ก็เช่นเคยใครเหนื่อยใครงง่วง ใครเพลีย ใครตั้งใจมาก นั่งแล้วมันตึง ก็ปล่อยให้หลับลงไปในสมาธิ ในกลางกาย เมื่อยก็ขยับ ฟุ้งก็ลืมตา แล้วก็เริ่มต้นว่ากันใหม่ ให้ลูกทุกคนสมหวัง ดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวคืนนี้ทุกๆ คน ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ    

          

                  หลวงพ่อธัมมชโย

วันจันทร์ที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4

          โดยคุณครูไม่ใหญ่

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.049550267060598 Mins