กรรม ๑๒

วันที่ 07 สค. พ.ศ.2563

กรรม ๑๒

ลักษณะการให้ผลของกรรม

                 เนื่องจากกฎแห่งกรรมมีความซับซ้อนยากต่อการทำความเข้าใจ พระอรรถกถาจารย์จึงได้
รวบรวมและจัดหมวดหมู่เนื้อหากฎแห่งกรรมขึ้น เพื่อจำแนกลักษณะการให้ผลของกรรม
ออกเป็นส่วน ๆ ทำ ให้ง่ายต่อการศึกษาและทำความเข้าใจมาก ดังปรากฏในพระคัมภีร์มโนรถปูรณี 1
 เรียกว่า กรรม ๑๒

                  กรรม ๑๒ นั้นแบ่งการให้ผลของกรรมออกเป็น ๓ ประเภทหมวด ตามลักษณะการให้ผล
กรรมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

ประเภทที่ ๑ กรรมให้ผลตามหน้าที่ (กิจจจตุกกะ) มี๔ อย่าง คือ
๑) ชนกกรรม คือ กรรมทำหน้าที่นำไปเกิด
๒) อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมทำหน้าที่สนับสนุน
๓) อุปปีฬกกรรม คือ กรรมทำหน้าที่บีบคั้น
๔) อุปฆาตกกรรม หรือ อุปัจเฉทกรรม คือ กรรมทำหน้าที่ตัดรอน

ประเภทที่ ๒ กรรมให้ผลตามลำดับกำลัง (ปากทานปริยายจตุกกะ) มี๔ อย่าง คือ
๑) ครุกรรม คือ กรรมหนัก
๒) อาสันนกรรม คือ กรรมใกล้ตาย
๓) อาจิณกรรม หรือพหุลกรรม คือ กรรมทำบ่อยจนคุ้นเคย
๔) กตัตตากรรม คือ กรรมสักแต่ว่าทำ

ประเภทที่ ๓ กรรมให้ผลตามเวลาที่ให้ผล (ปากกาลจตุกกะ) มี๔ อย่าง คือ
๑) ทิฎฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ใหผลในปัจจุบันชาติ
๒) อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลชาติหน้า
๓) อปราปริยเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลชาติต่อ ๆ ไป
๔) อโหสิกรรม คือ กรรมที่เลิกให้ผล หรือไม่ได้โอกาสให้ผล
มีรายละเอียดของการให้ผลกรรมแต่ละอย่าง ดังนี้

 

กรรมให้ผลตามหน้าที่ (กิจจจตุกกะ)

๑) ชนกกรรม กรรมมีหน้าที่นำไปเกิด หมายความว่า การที่สัตว์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นมาในภพ ๓
นั้น ไม่ว่าจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา หรือ จะเกิดเป็นอะไรก็ตามที ย่อมเกิดขึ้น
ด้วยอำนาจแห่งชนกกรรมนี้ทั้งสิ้น ไม่ใช่อยู่ ๆ จะเกิดเป็นอะไรก็เกิดขึ้นมาเอง โดยไม่มีเหตุ
ไม่มีปัจจัย อันที่จริง แต่ละชาติของสัตว์ทั้งปวง ย่อมเกิดขึ้นภายใต้กฎแห่งชนกกรรม คือ
ชนกกรรมทำหน้าที่ตกแต่งให้เกิดขึ้นมาทั้งหมด หากไม่มีชนกกรรมนี้แล้ว สัตว์ทั้งหลายจะ
เกิดขึ้นมาไม่ได้เลยเป็นอันขาด

๒) อุปัตถัมภกกรรม กรรมมีหน้าที่อุปถัมภ์คํ้าชูกรรมอื่น หมายความว่าหน้าที่ของกรรมนี้ ได้แก่
การเข้าไปค้ำชูกรรมของสัตว์ทั้งหลายที่ไปเกิดในภูมิต่าง ๆ เมื่อสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นด้วย
อำนาจชนกกรรมของสัตว์ที่เกิดให้แล้ว อุปัตถัมภกกรรมก็เข้าทำหน้าที่ ช่วยคํ้าชูให้ได้รับ
ความทุกข์หรือความสุขตามสมควรแก่กรรม คือ ถ้าชนกกรรมแต่งให้สัตว์เกิดมาดี
อุปัตถัมภกกรรมก็จะสนับสนุนให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป แต่ถ้าชนกกรรมแต่งสัตว์ให้เกิดมาไม่ดี
อุปัตถัมภกกรรมก็จะสนับสนุนหรือซํ้าเติมให้สัตว์นั้นย่ำแย่ หรือทุกข์ยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก

๓) อุปปีฬกกรรม มีหน้าที่เบียดเบียนกรรมอื่น หมายความว่า หน้าที่ของกรรมนี้ ก็ได้แก่การเข้า
ไปเบียดเบียนทำร้ายกรรมที่มีสภาพตรงกันข้ามกับตน คือ ถ้าเป็นอุปปีฬกรรมฝ่าย
อกุศลกรรม ก็ย่อมทำหน้าที่เบียดเบียนทำร้ายกุศลกรรมความดีงาม ชงให้ผลเป็นความสุข
ความเจริญแก่เจ้าของกรรม แล้วบันดาลให้เจ้าของกรรมได้รับความทุกข์ความเสื่อมอันเป็น
ผลของตนต่อไป ถ้าเป็นอุปปีฬกกรรมฝ่ายกุศล ก็ย่อมทำหน้าที่เบียดเบียนทำร้ายอกุศลกรรม
ความชั่วที่ให้ผลเป็นความทุกข์ ความเสื่อมแก่เจ้าของกรรม แล้วบันดาลให้เจ้าของกรรมนั้น
ได้รับความสุขความเจริญอันเป็นผลของตนต่อไป

๔) อุปฆาตกกรรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุปัจเฉทกกรรม คือ กรรมที่มีหน้าที่เข้าไปฆ่า หรือ
เข้าไปตัดรอนกรรมอื่น หมายความว่า หน้าที่ของอุปฆาตกรรมนี้ ก็ได้แก่การเข้าไปฆ่าหรือ
เข้าไปตัดรอนกรรมที่มีสภาพตรงกันข้ามกับตนได้อย่างเด็ดขาด และในขณะที่เข้าทำหน้าที่ ก็
เข้าทำหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว เป็นปัจจุบันทันด่วน ยิ่งกว่าอุปปีฬกรรมที่กล่าวมา คือถ้าเป็น
อุปฆาตกรรมฝ่ายอกุศล ก็ทำหน้าที่เข้าไปฆ่ากุศลกรรมความดีซึ่งกำลังให้ผลเป็นความสุข
ความเจริญแก่เจ้าของกรรมอยู่นั้น แล้วบันดาลให้เจ้าของกรรมได้รับความทุกข์ความ
เดือดร้อนอันเป็นผลของตนในบัจจุบันทันใด ถ้าเป็นอุปฆาตกรรมฝ่ายกุศลก็เข้าไปทำหน้าที่
ฆ่าฝ่ายอกุศลความชั่วร้ายซึ่งกำลังให้ผลเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนแก่เจ้าของกรรมนั้นอยู่
แล้วบันดาลให้เจ้าของกรรมได้รับความสุขความเจริญอันเป็นผลของตนในบัจจุบันทันด่วน
เช่นกัน

 

กรรมให้ผลตามลำดับกำลัง (ปากทานปริยายจตุกกะ)

๑) ครุกรรม กรรมหนักซึ่งมีอำนาจให้ผลเป็นลำดับแรก หมายความว่า ครุกรรมนี้เป็นกรรมหนัก
ที่สุด เพราะเป็นกรรมที่มีกำลังแรงที่สุดและจะให้ผลเป็นอันดับแรก ซึ่งไม่มีกรรมใดที่จะ
สามารถให้ผลได้ก่อน เพราะกรรมอื่นมีกำลังให้ผลน้อยกว่าครุกรรม คือ ถ้าเป็นครุกรรมฝ่าย
อกุศลก็จะให้ผลชักนำบุคคลเจ้าของกรรมไปสู่เกิดในอบายฎมิทันทีหลังจากที่เขาตายไปจาก
ชาตินี้แล้ว ถ้าเป็นครุกรรมฝ่ายกุศลก็จะให้ผลชักนำบุคคลเจ้าของกรรมไปเกิดในสุคติภูมิ
ทันที หลังจากที่เขาตายไปจากชาตินี้ โดยไม่มีกรรมอื่นจะมาขัดขวางหรือหักห้ามได้

๒) อาสันนกรรม กรรมที่กระทำในเวลาใกล้จะตาย ซึ่งมีอำนาจให้ผลเป็นลำดับที่ ๒ รองจากครุกรรม
หมายความว่า เมื่อสัตว์ที่เกิดในวัฎฎสงสารนี้ไม่ได้ทำครุกรรมแต่อย่างใด อาสันนกรรม
ซึ่งได้แก่กรรมที่กระทำในขณะใกล้ตาย ก็ย่อมจักให้ผลทันที คือ ถ้าเป็นอาสันนกรรม
ฝ่ายอกุศล ก็จะให้ผลชักนำบุคคลเจ้าของกรรมให้ไปเกิดในอบายภูมิหลังจากที่ละโลกไปแล้ว
ถ้าเป็นอาสันนกรรมฝ่ายกุศล ก็จะให้ผลชักนำบุคคลเจ้าของกรรมให้ไปเกิดในสุคติภูมิ
หลังจากที่ละโลกไปแล้วเช่นเดียวกัน

๓)อาจิณณกรรม หรือพหุลกรรม กรรมที่กระทำบ่อย ๆ ซึ่งมีอำนาจให้ผลเป็นลำดับที่ ๓
หมายความว่า เมื่อสัตว์ที่เกิดในวัฎฎสงสารไม่ได้ทำครุกรรม ทั้งเวลาเมื่อใกล้ตายอาสันนกรรม
ก็ไม่ชัดเจน ในกรณีเช่นนี้ อาจิณณกรรมซึ่งได้แก่กรรมที่ตนเคยกระทำไว้บ่อย ๆ สั่งสม
ไว้ในสันดานของตนมาก ๆ ย่อมจักได้โอกาสให้ผลทันที คือถ้าเป็นอาจิณณกรรมฝ่ายอกุศล
ก็จะให้ผลชักนำเจ้าของกรรมไปเสวยทุกข์โทษอยู่ในอบายภูมิทันที ถ้าเป็นอาจิณณกรรมฝ่าย
กุศล ก็จักให้ผล ชักนำเจ้าของกรรมให้ไปเสวยสุขอยู่ในสุคติภูมิในชาติต่อไป

๔) กตัตตากรรม กรรมที่สักว่ากระทำ ซึ่งมีอำนาจให้ผลเป็นลำดับที่ ๔ หมายความว่า เมื่อสัตว์ที่
เกิดในวัฎฎสงสารไม่ได้ทำครุกรรม ไม่ได้ทำอาสันนกรรม ในเวลาเมื่อใกล้จะตายทั้ง อาจิณณกรรม
ก็มิได้ปรากฎมี ครานั้น กตัตตากรรมซึ่งเป็นกรรมที่มีพลังน้อยที่สุด เพราะเป็นกรรม
ที่ผู้กระทำไม่ได้มีเจตนา หรือไม่ได้มีความตั้งใจทำ เป็นแต่สักว่ากระทำลงไปก็ย่อมได้โอกาส
ให้ผล คือถ้าเป็นกตัตตากรรมฝ่ายอกุศลก็จักชักนำเจ้าของกรรมให้ไปเกิดในอบายภูมิทันที
ถ้าเป็นกตัตตากรรมฝ่ายกุศลก็จักชักนำเจ้าของกรรมให้ไปเกิดในสุคติภูมิทันที ในกรณีนี้ขอ
ท่าน ผู้มีปัญญาจงจำไว้ว่า บรรดาสัตว์ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนี้ ที่จะได้ชื่อว่าไม่
มี กตัตตากรรมนั้น เป็นไม่มี

 

กรรมให้ผลตามเวลาที่ให้ผล (ปากกาลจตุกกะ)

๑) ทิฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือ ให้ผลชาตินี้ หมายความว่า ทิฐธรรมเวทนียกรรม
เป็นกรรมที่ให้ผลรวดเร็วเป็นบัจจุบันทันด่วน เมื่อสัตว์กระทำเข้าแล้ว ย่อมได้รับ
ผลในชาติปัจจุบันนี้ทีเดียว ไม่ต้องไปรอรับผลในชาติหน้า หรือ ชาติไหน ๆ ทั้งนั้น เป็นกรรม
ที่ให้ผลทันตาเห็นอย่างน่าประหลาดใจ คือ ถ้าเป็นทิฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายอกุศล ก็บันดาล
ให้เจ้าของกรรม ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนภายในเร็ววันในปัจจุบันชาตินี้ ถ้าเป็น
ทิฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลก็จะบันดาลให้เจ้าของกรรมได้รับความสุขความเจริญภายใน
เร็ววันในชาติปัจจุบันนี้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าทิฐธรรมเวทนียกรรมไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันชาตินี้
ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมไปทันที

๒) อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลชาติหน้า หมายความว่า เป็นกรรมที่สัตว์กระทำเข้าแล้ว
ย่อมได้รับผลในชาติที่ ๒ คือในชาติหน้า(ปรโลก)ซึ่งต่อจากชาตินี้อย่างแน่นอน ถ้าเป็น
อุปปัชชเวทนียกรรมฝ่ายอกุศล ก็จักบันดาลผลให้เจ้าของกรรมไปเกิด ณ อบายภูมิในชาติ
หน้า ถ้าเป็นอุปปัชชเวทนียกรรมฝ่ายกุศล ก็จักบันดาลผลให้เจ้าของกรรมไปเกิด ณ สุคติภูมิ
ในชาติหน้าเช่นกัน

๓) อปราปริยเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป หมายความว่า เมื่อสัตว์กระทำกรรมเข้า
แล้วย่อมได้รับผลชาติที่ ๓ นับจากปัจจุบันชาตินี้เป็นต้นไป โดยมีการให้ผลดีผลร้ายตาม
ฝักฝ่ายแห่งตน คือ ถ้าเป็นอปรายิเวทนียกรรมฝ่ายอกุศล ก็บันดาลให้เจ้าของกรรมได้รับความ
ทุกข์ความเดือดร้อนตั้งแต่ชาติที่ ๓ เป็นต้นไป ถ้าเป็นอปราปริยเวทนียกรรมฝ่ายกุศล ก็
บันดาลผลให้เจ้าของกรรมได้รับความสุขความเจริญตั้งแต่ชาติที ๓ เป็นต้นไปเช่นกัน

๔) อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผล หรือไม่ได้โอกาสให้ผล หมายความว่าอกุศลกรรมหรือ
อกุศลกรรมที่ให้ผลเสร็จแล้วกรรมจึงกลายเป็นอโหสิกรรม หรือกรรมที่วิบากกรรมรอให้ผล
อยู่ แต่ไม่ได้โอกาสให้ผล หากล่วงเลยเวลาในการให้ผลก็จะเป็นอโหสิกรรม


                  จากคำอธิบายเรื่องกรรม ๑๒ นั้น จะเห็นได้ว่ากรรมไม่ได้สูญหายไปไหน แต่กำลังทำงาน
อยู่ตลอดเวลา ซึ่งกรรมแต่ละหมวดก็มีหน้าที่ มีลำดับ และมีระยะเวลาในการให้ผลที่ชัดเจน
เปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้ที่กว่าต้นไม้ชนิดนั้น ๆ ที่ได้ปลูกขึ้นมาจะเจริญเติบโตให้ร่มเงา แผ่
กิ่งก้านสาขาได้นั้นต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโตเป็นเดือนเป็นปี กรรมก็เช่นเดียวกัน


                  อย่างไรก็ตามกรรม ๑๒ กล่าวเฉพาะรูปแบบการให้ผลของกรรมเท่านั้น ยังมิได้แจกแจง
ละเอียดถึงสาเหตุและผลของกรรมว่า เมื่อเราประกอบเหตุอย่างนี้ จะมีผลดี ผลเสียอย่างไรบ้างต่อ
เราบ้าง ซึ่งต้องอาศัยปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงจะสามารถอธิบายได้


เชิงอรรถอ้างอิง

1  มโนรถปูรณี คือ คัมภีร์ชั้นอรรถกถาของพระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0019137342770894 Mins