กิจวัตรที่ควรประพฤติปฎิบัติ

วันที่ 05 กย. พ.ศ.2563

5-9-63-1-b.jpg

กิจวัตรที่ควรประพฤติปฎิบัติ

            หลวงพ่อบอกให้พวกท่านตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฎิบัติธรรมเรื่อยไป แบบนี้ท่านจะต้องทำอะไรบ้างล่ะ

 

            เรื่องแรก ก็ที่หลวงพ่อพูดให้ฟังว่า ที่หลวงพ่อมีสติปัญญา มีความรู้ความสามารถมาได้ในระดับนี้  เพราะอาศัยได้ฝึกตัวให้เป็นคนกล้าตัดสินว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว  อะไรควร อะไรไม่ควรมาตั้งแต่เล็ก  รวมทั้งฝึกให้กล้าตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรด้วย  พวกท่านก็ต้องฝึกเรื่องนี้เหมือนกัน  อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นคนเรื่อยเฉื่อย  ทำตามคำผู้อื่นโดยไม่คิดถึงเหตุผลและฝึกคิดสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและพระศาสนาด้วย


              เรื่องที่ ๒ เรื่องการปรับปรุงตัวเองให้มีขันติ ความอดทน หลวงพ่อมีหลักในการยกระดับเพดานความอดทนเเต่ละอย่างให้สูงขึ้นอย่างไรก็เล่าให้ฟังแล้ว

 

              คราวนี้เรื่องที่ ๓ ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องรู้ต่อไปว่า แท้ที่จริงท่านควรจะประพฤติปฏิบัติตนต่อไปอย่างไร

 

               ก่อนอื่นท่านต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า  ท่านมาบวชทำไม ถ้าตอบว่าบวชจะไปนิพพาน นี่ถูกจั๋งเลย  แต่เป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดิน แล้วถ้าตอบว่ามาบวชเพื่อสร้างบารมีให้ทันพระพุทธเจ้าหรือจะตามพระพุทธเจ้าเข้าพระนิพพานนี่ก็ถูกอีก  แต่คำตอบอย่างนี้ในเชิงปฎิบัติแล้วยังส่องทางไม่ค่อยชัด  ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง  ถ้าตอบให้คนฟังนึกออกเห็นชัดกว่านี้ก็ต้องตอบว่า  ที่มาบวชครั้งนี้ตั้งใจจะมฝึกหัดอบรมบ่มนิสัยตัวเองให้มันดียิ่ง ๆ ขึ้นไป  อะไรที่มันเป็นความผิด  ความชั่ว  ความเลว  ความไม่ดีในตัวจะแก้ไขให้มันหมดสิ้นไป แล้วอะไรที่เป็นคุณงามความดีที่ยังไม่เคยทำ  ก็จะทำ  ที่เคยทำแล้วก็จะทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปถึงที่สุด  ทำตามอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทำ  ตอบอย่างนี้จึงจะส่องทางในเชิงปฏิบัติได้มากขึ้น

                แต่ถ้าจะตอบให้ชัดขึ้นไปกว่านี้  ชนิดที่เอามาตีแผ่กันออกไปเลย  ก็ต้องตอบว่า  ที่มาบวชครั้งนี้  ก็เพื่อจะมาอบรมบ่มนิสัยตัวเองในเรื่อง ๓ เรื่อง คือ

 

                 เรื่องที่ ๑ การศึกษาภาคปริยัติ  ตั้งใจจะมาศึกษาภาคปริยัติให้พร้อมเพื่อจะได้มีความรู้เรื่องหลักธรรมของพระพุทธศาสนา รู้วิธีปฏิบัติ ขัดเกลานิสัยตามวิธีการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้

 

                  เพราะฉะนั้นใครก็ตาม มาบวชอยู่วัดพระธรรมกายแล้วไม่เรียนไม่ได้  หลวงพ่อต้องขอเคี่ยวเข็ญท่านเรื่องนี้นะ  โดยเฉพาะสามเณรนี่ต้องให้เรียนเต็มที่เลย  สำหรับพระภิกษุก็พยายามแบ่งเวลาผลัดเปลี่ยนกันไปเรียน  แต่เนี่องจากวัดเราเป็นวัดใหญ่จะไปเรียนพร้อม ๆ กันทั้งหมดก็ไม่ได้  หลวงพ่อกวาดวัดคนเดียวไม่ไหว  ก็ต้องแบ่งหน้าที่ให้ไปช่วยกันทำสาธุชนเขามาปฎิบัตธรรมกันมาก  นํ้า ไฟ  ข้าวปลาอาหาร  ก็ต้องไปช่วยกันดูแล  ไปช่วยกันเทศน์กันสอน  ก็เพราะต้องเทศน์ต้องสอนด้วยนี่ละ ความรู้ภาคปริยัติจึงต้องแน่น

 

               อย่างไรก็ดี การเรียนภาคปริยัตินี่มี ๒ อย่างนะ อย่างหนึ่งคือเข้าห้องเรียน เรียนทั้งบาลี เรียนทั้งนักธรรม เรียนกันเข้าไปให้มากๆ นั่นเป็นการเรียนภาคปริยัติในห้องเรียน แต่ยังมีภาคปริยัตินอกห้องเรียนอีกนะสำคัญมากด้วย  ท่านต้องทำกันให้ได้ทุกรูป  ปริยัตินอกห้องเรียนเป็นยังไงลูกเอ๊ย  หนังสือที่สำคัญมากของพระพุทธศาสนาคือ พระไตรปิฎก ในหลักสูตรนักธรรม  หลักสูตรบาลี  เขาไม่ได้สอนให้อ่านพระไตรปิฎกหรอก แต่ท่านต้องบังคับตัวเองให้อ่าน  ไปอ่านให้จบนะ  หลวงพ่อน่ะอ่านพระไตรปิฎกจบตั้งแต่ยังไม่ได้บวช บวชแล้วก็ยังไปอ่านทบทวนอีก  เพราะฉะนั้นจึงรู้ว่าในนั้นมีอะไรดี ๆ มากมายเลย  ท่านใดไม่ว่าจะได้เรียนปริยัติในห้องเรียนหรือไม่ได้เรียนก็ตาม  ขอให้หาเวลาไปอ่านพระไตรปิฎกให้ได้  อย่าบอกว่าไม่มีเวลา  ถ้าท่านไม่อ่าน  ท่านจะไม่เจอตัวจริงของพระพุทธศาสนาจะเจอแต่ขี้ปากชาวบ้าน  ซึ่งท่านจะมั่นใจได้ยังไงว่า ที่เขาเอามาพูด ๆ กันนั้น ผิดหรือถูก  ไปหาโอกาสอ่านกันนะ  ไม่ได้มาก  วันละหน้าวันละบทก็ยังดีอ่านทุกวัน ๆ ผ่านไปสักพรรษาสองพรรษาเดี๋ยวก็เห็นหน้าเห็นหลัง

 

               อีกประเภทหนึ่งถือเป็นการศึกษานอกห้องเรียนที่มีประโยชน์มากคือการฟังเทศน์  ผู้ขึ้นเทศน์จะเป็นหลวงพ่อหรือหลวงพี่รูปใดรูปหนึ่งก็ตาม ท่านต้องหาโอกาสไปฟัง บางรูปท่านอาจจะเทศน์ตะกุกตะกักไปบ้างก็ฟังเถอะ  เพราะกว่าท่านจะขึ้นเทศน์ท่านต้องค้นคว้ามาไม่น้อย  ไปสรุปไปจับประเด็นดีๆ คัดเลือกเอามาแล้ว  ฟังท่าน ๒-๓ ชั่วโมงก็เท่ากับย่นเวลาค้นคว้าของเราไปได้ตั้งหลายวัน

 

                ถ้าท่านไม่ฟังเทศน์ไม่อ่านพระไตรปิฎก บวชไปก็ได้แต่เปลือกไม่เจอแก่นพระพุทธศาสนาเหมือนคนไทยหุงข้าวแล้วเทนํ้าทิ้ง ปัทโธ่... ส่วนที่มีคุณค่าที่สุดของข้าวที่หุงกินนั้นน่ะ  นํ้าข้าวไม่ใช่ข้าวสุก  กลับไม่กิน เทนํ้าข้าวให้ไอ้ตูบกิน  ตัวเองกินกากข้าว ของดี ๆ ให้สุนัขกิน  มันกินเข้าไปก็ยิ่งโตวันโตคืน ฉลาดวันฉลาดคืน นี่ถ้ามันไม่ติดคราบสุนัขมันจะฉลาดแซงหน้าคนเอานะ เกือบเสียท่ามันแล้วไหมล่ะ กว่าจะรณรงค์ให้นึ่งข้าวกินหรือให้หุงข้าวแบบไม่เช็ดนํ้าได้นี่  เสียเวลาไปเป็นสิบๆ ปีเชียวท่านเอ๊ย  ถ้าท่านไม่ฟังเทศน์อุปมาเหมือนอย่างที่หลวงพ่อว่านั้นละ  ไม่เห็นคุณค่าสิ่งใกล้ตัว ใกล้เกลือกินด่าง สาธุชนเขาดั้นด้นมาแต่ไหนๆ ทั่วประเทศ มาฟังเทศน์ที่วัดพระธรรมกาย แต่พระ-เณรที่วัดพระธรรมกายไม่ได้ฟัง ไปทำอะไรเสียก็ไม่รู้ ถึงเวลาจะใช้ก็ต้องมาค้นเอง แล้วก็ผลัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ค้นอีก  เลยโง่กว่าโยมหนักเข้าไปอีก  ไปพิจารณาตัวเองกันให้ดีนะ เดี๋ยวจะว่าไม่เตือน

 

                "จำคำหลวงพ่อไว้ วันอาทิตย์ถ้าไม่ปางตายจริง ๆ อย่าไปไหน มาฟังเทศน์กันให้ได้ ถ้าปางตายจริง ๆ ให้เขาหามมานอนฟังที่อาศรมบัณฑิตก็เข้าท่านะ หลวงพ่อจะให้เขาตามหมอมาฟังเสียด้วยกันเลย สามเณรก็เหมือนกัน ช่วยไปฟังหน่อยเถอะ หลับมั่งตื่นมั่งก็ยังดี อย่าให้หลับหัวทิ่มตกลงมาก็แล้วกันนะ เณรนะ"

 

               ไม่รู้เป็นยังไงหมู่นี้ ญาติโยมมาบ่นให้ฟังเรื่อยว่า พระเณรวัดพระธรรมกายพอฉันเสร็จ นั่งให้พรโงกเงก ๆ บางองค์สัปงกแต่ปากก็ไม่หยุดให้พร  ถ้าถามก็คงได้คำตอบว่านอนดึก  งานหนัก  ไปจัดแจงปรับปรุงตัวกันให้ดีนะท่านนะ รักษาสง่าราศีของหมู่สงฆ์กันหน่อย

 

               เรื่องที่ ๒ หาเวลาศึกษาภาคปริยัตทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนได้แล้ว  ท่านต้องหาเวลานั่งสมาธิให้ได้ด้วย  ท่านต้องนั่งสมาธิทุกวัน  จะมากจะน้อยยังไงก็ต้องนั่ง  ถ้าไม่นั่งสมาธิทุกวันใจท่านจะหยาบ  แล้วท่านก็จะทนต่อการกระทบกระทั่งไม่ได้  ทนต่อความทะยานอยากในสุขที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปไม่ได้  แล้วก็จะมีอาการอย่างที่ผู้ใหญ่ท่านพูดว่า  ร้อนผ้าเหลือง  ซึ่งไม่ช้าท่านก็ต้องจากหมู่คณะไป  อยากอยู่สร้างบารมีร่วมกันนาน ๆ ท่านต้องนั่งสมาธิทุกวันนะ

 

               เรื่องที่ ๓  กิจวัตรของท่านต้องไม่บกพร่อง กิจวัตรพระ ๑๐ อย่าง มีอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่บิณฑบาต กวาดวัต ปลงอาบัติ ฯลฯ ไล่เรื่อยไปเชียว ท่านต้องทำ ถ้าท่านไม่ทำสิ่งเหล่านี้ ท่านไปไม่รอดเพราะแท้ที่จริงแล้วกิจวัตรพระเป็นเรื่องของการฝึกให้ท่านมีความรับผิดชอบต่อหมู่คณะต่อส่วนรวม และต่อตัวของท่านเองด้วย

 

               เรื่องบิณฑบาตก็นี่ท่านต้องทำถึงแม้ว่าเราจะมีอาหารพร้อมที่วัดไม่ต้องออกเดินบิณฑบาตก็ได้ แต่หลวงพ่ออยากให้ทุกรูปหาโอกาสออกบิณฑบาต  ผลัดเปลี่ยนกันไปก็ได้  อย่างน้อยที่สุดให้ได้เดือนละครั้ง จะบิณฑบาตในเขตรอบ ๆ วัด หรือจะไปให้ไกลถึงไหนก็ตามใจ การบิณฑบาตมีประโยชน์มีอานิสงส์มากมาย อย่างน้อยที่สุดก็ได้ ๒ อย่างคือ

( ๑ ) ได้ไปดูสภาพบ้านเมือง สภาพสังคมของชาวบ้านชาวเมือง ว่าเดี๋ยวนี้เขาเป็นยังไงกันบ้าง ญาติโยมมาปรับทุกข์เอาพระเป็นที่พึ่ง จะได้พูดกันรู้เรื่องง่ายขึ้น เรียกว่า พูดจาภาษาเดียวกัน

( ๒ ) ได้ไปเดินยืดเส้นยืดสาย ออกกำลังกายกันบ้าง เช้า ๆ ตอนอรุณขึ้นนี่อากาศดีมากเลย

 

              แต่ว่าถ้าวันใดไม่ได้ออกบิณฑบาตท่านก็ต้องออกมาฉันกับหมู่คณะนะ ที่วัดพระธรรมกายนี่ถ้าไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจริง ๆ ไม่มีใครไปส่งอาหารให้ท่านฉันที่กุฏิหรอก แค่ปวดหัวตัวร้อนเดินได้ ช่วยเดินออกมาฉันที่เดียวกับพระทั้งวัดหน่อยเถอะ

 

               เกี่ยวกับเรื่องนี้ หลวงพ่อเคารพท่านฐิติสุทโธ อยู่ประการหนึ่ง  องค์นี้อายุอ่อนกว่าหลวงพ่อ แต่พรรษาแก่กว่านิดหน่อย เพราะบวชก่อน ท่านสุขภาพไม่ค่อยดี เพราะอุบัติเหตุรถคว่ำซี่โครงยังต่อกันไม่ค่อยดีนัก ไหปลาร้ายังใส่เหล็กดามอยู่  ก่อนหน้านี้ทุกเช้า ไม่ว่าท่านจะหิวหรือไม่หิว จะฉันหรือไม่ฉัน  ท่านต้องออกมานั่งที่วงอาหาร  บางวันหลวงพ่อเห็นท่านนั่งเฉย ๆ ไม่ฉัน  ก็ถามว่าทำไมไม่ฉัน

ท่านตอบว่า "วันนี้ไม่หิว"

"อ้าว ไม่หิวแล้วออกมาทำไม"  ท่านก็ตอบยั่วหลวงพ่อ

"อยากจะมาดูว่าหลวงพ่อทัตตะตายไปแล้วหรือยัง  ถ้าตายไปแล้วก็จะได้จัดงานศพให้สมเกียรติ  ส่วนองค์อื่น ๆ  ก็อยากจะว่าเขาเจ็บไข้ได้ป่วยไหม  หรือว่าจะมีข่าวสารอะไรให้รู้กันบ้าง  ไม่อยากตกข่าว"

 

                  ท่านตอบชัด  เคารพรักท่านก็ตรงนี้  ไม่หิวไม่ฉันก็ออกมาทุกเช้า เพราะกลัวจะตกข่าว  ท่านถือว่าคนเราอยู่ด้วยกันเป็นหมู่คณะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน  หมู่คณะเขามีเรื่องราวอะไร  ตัวเองไม่รู้ไม่ได้  นี่คือหนึ่งในทีมงานสร้างวัดพระธรรมกาย  นักรับผิดชอบที่ทำให้เงิน ๓,๒๐๐ บาท กลายเป็นฝันที่เป็นจริง เดี๋ยวนี้หลวงพ่อก็ไม่ทราบหรอกว่ามีใครที่มีคุณธรรมอย่างนี้บ้าง ถ้าไม่มี ก็ขอให้รับทราบไว้นะว่า  เขามีจิตใจกันอย่างนี้จึงใช้เงิน ๓,๒๐๐ บาท สร้างวัดใหญ่ในเนื้อที่ ๑๙๖ ไร่ ให้ท่านอาศัยสร้างบารมีมาได้ จนถึงทุกวันนี้

 

                ใครที่ภายในเดือนหนึ่งยังไม่ได้ไปบิณฑบาต ไปเสียนะ จะกี่ครั้งก็ตามใจ แล้วท่านจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก เห็นความวุ่นวายของชีวิตผู้ครองเรือน ในเวลาเดียวกันท่านจะได้รับทราบถึงความทรหด ความแข็งแกร่งของสังขารของท่านว่าตอนนี้เป็นอย่างที่ท่านหวังไหม  คงมีบางรูปหรอกน่ะที่ต้องอุทานในใจว่า "เฮ้ย อะไรนี่  เดินบิณฑบาตมาได้ไม่กี่กิโล หอบขนาดนี้แล้วเรอะเรา" จะได้รู้ตัวไม่ประมาท

             

                อีกอย่างหนึ่ง อันนี้ขอให้รับทราบกันไว้ เป็นความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ หลวงพ่อได้ช่วยชีวิตพระไว้หลายรูป ญาติโยมอีกหลายคนให้พ้นจากโรคอัมพาต อัมพรึกคือหลวงพ่อได้พบพระบางรูป  ไม่ใช่ทุกรูป  เป็นประเภทผอมแห้งแรงน้อย เดินกระย่องกระแย่ง  ทำทำจะไม่ไหว จะเป็นอัมพาตอัมพรึกเอา  กินยาอะไรก็ไม่หาย ผอมแต่ไม่ได้เป็นวัณโรค  เป็นวันละโรคหรือวันละหลาย ๆ โรคมากกว่า  เดี๋ยวเป็นไอ้นั่น เดี๋ยวเป็นไอ้นี่ ในกุฏิมีแต่ยา หลวงพ่อเองเมื่อก่อนก็มียาเต็มกุฏิเหมือนกัน  แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องใช้แล้ว

               

                  หลวงพ่อทำยังไงถึงไม่ต้องใช้ยา หลวงพ่อหันมาใช้วิธีกายบริหารบ้างดัดตนบ้าง  บางครั้งเส้นสายตึงมากๆ  ก็ให้เด็กวัดมาช่วยนวดช่วยดึงให้บ้าง  อาการจึงดีขึ้นมาก ต่อ ๆ มาวัดขยายใหญ่ขึ้น หลวงพ่อเลยต้องเดินตรวจวัดทุกเช้า  บางวันก็ใช้โอกาสนี้พาลูกศิษย์เดินชมวัด  เดินกันตั้งเเต่อรุณขึ้นเลย ไม่ได้พาไปเดินช่วยกันชมว่าวัดเราสวยหรอกนะ  ไปเดินตรวจดูความบกพร่องของเสียของชำรุด จะได้ซ่อมแซมเสียแต่เนิ่นๆไม่ให้บานปลายใหญ่โต  อันไหนที่มันดี มันทนก็ให้หลักการเขาไป  จะได้ใช้เป็นแบบอย่างการก่อสร้างในวันข้างหน้า ระหว่างนั่นก็สังเกตดูสุขภาพตัวเอง  เออเดินเหินก็คล่องดี  เส้นสายไม่ค่อยยึดเหมือนแต่ก่อน  ไอ้เด็ก ๆ ที่เดินตามเมื่อก่อนเห็นกระยืดกระยาด  เดี๋ยวนี้กระฉับกระเฉงขึ้นมาก  การเดินนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพแน่ ๆ

 

                ก็เอาหลักการนี้มาพิจารณาพวกผอมแห้งแรงน้อย พวกที่ไปหาหมอกี่หมอๆ ก็หาสาเหตุไม่เจอ หมอบอกไม่เห็นท่านเป็นอะไร ปัดโธ่หมดแรงจะตายเอายังบอกไม่เป็นอะไร  ก็โกรธหมอละนะ  แต่หมอเขาก็ไม่ได้ตรวจชุ่ย ๆ หรอก ประเภทนี้เป็นลักษณะเส้นยึด เพราะเครียด เพราะเกร็งด้วยสาเหตุหลายๆ อย่าง  เครื่องมือแพทย์ธรรมดาตรวจไม่เจอแน่ วิธีแก้ไม่ยาก ได้เดินบิณฑบาตรับอรุณวันละกิโลสองกิโล โดยเฉพาะเดินย่ำไปบนก้อนกรวดก้อนหิน  ที่มันเป็นตะปุ่มตะป่ำ  ก้อนหินก้อนกรวดเหล่านั้น มันจะนวดฝ่าเท้าให้เอง  วิธีนี้เส้นมันจะคลายตั้งแต่เท้ายันศีรษะเลย  แล้วอาการป่วยทั้งหลายมันจะค่อย ๆ ดีขึ้น

               

                 หลวงพ่อเคยทดลองรักษาพระที่ป่วยเป็นอัมพาตเพิ่งหาย ยังต้องใช้ไม้เท้าเดินกระย่องกระแย่ง  ดูท่ากว่าจะเดินได้คล่องคงอีกนาน หลวงพ่อก็ถามท่านว่าอยากจะหายเร็ว ๆ ไหม จะให้คาถา ท่านก็รับเพราะอยากจะหายเต็มทีแล้ว  หลวงพ่อก็ให้คาถาท่านไป คาถาก็ไม่มีอะไรพิสดารก็บท "สัมมา อะระหัง" ของหลวงพ่อวัดปากนํ้าภาษีเจริญนั่นแหละ แต่ใส่กรรมวิธีเข้าไปด้วยว่าต้องเสกยังงั้น  ต้องเป่ายังงี้  ยักย้าถ่ายเทว่าเรื่อยไปก็รู้อยู่ว่าท่านชอบขลัง  แต่กำกับบทสำคัญไว้บทหนึ่งว่าท่านต้องออกบิณฑบาตเอาบุญจากการบิณฑบาตเข้าช่วยด้วย โดยเฉพาะเส้นทางบิณฑบาตเส้นไหนที่ขรุขระทุรกันดารมาก ๆ ให้ท่านหมั่นเดินไปเส้นทางนั้น จะได้บุญมากเป็นพิเศษ ส่งให้ท่านหายจากอัมพาตเร็วขึ้น ก้อนหินก้อนกรวดตะปุ่มตะป่ำ  อย่าไปเลี่ยงย่ำลงไปเลย  แล้วอย่าลืมท่อง "สัมมาอะระหัง" ไว้เรื่อย ๆ ทั้งวันทั้งคืน

 

               ความจริงท่านก็คงไม่อยากจะเชื่อหรอก แต่ว่าจนใจไม่รู้จะรักษายังไงแล้วก็เลยต้องเชื่อ ได้คาถาได้วิธีเสกกำกับไปด้วยหน่อยค่อยใจชื้น แล้วท่านก็ไปทำอย่างที่หลวงพ่อบอก

                 ๒-๓ เดือนต่อมาท่านกลับมาหาหลวงพ่อ ยิ้มแป้นหน้าใสมาเชียว เดินเหินคล่องไม่ถือไม้เท้ามาด้วย แล้วท่านก็เล่าให้ฟัง

                 "แหมท่าน ๗ วันแรกนี่ผมบิณฑบาตไปก็ด่าแม่ท่านไป"

                 "อ้าว แล้วกัน...ทำไมล่ะ"


                 "โธ่ท่าน มันเจ็บเหมือนกับเอาเข็มไชเข้าไป"  

                  มันเจ็บเพราะเส้นมันขอดอยู่ใต้ฝ่าเท้าพอโดนอะไรตะปุ่มตะป่ำทิ่มเข้าหน่อย  มันก็ต้องเจ็บเป็นธรรมดาก็ทีแรกท่านจะเอาขลัง บอกเรื่องจริงเดี๋ยวก็จะไม่เชื่อ ก็เราไม่ใช่แพทย์ไม่ใช่หมอปริญญา

                  "ที่เหยียบไปบนหิน มันเจ็บแปล๊บแล่นถึงกลางกะโหลกเลยนะท่าน ผมน่ะด่าเลย" เฮอะ วาสนาเรา แนะให้เขาจะเอาบุญกลับถูกด่า ไม่เป็นไรไม่ว่ากัน "แต่ว่าพอเลย ๗ วันแล้ว เส้นมันคงเริ่มคลาย รู้สึกเลยว่าเส้นมันคลาย ผมก็เลยหายวันหายคืน ไม้เท้าน่ะโยนทิ้งไปแล้ว พอเดินคล่องก็มาเยี่ยมท่านทันที สงสัยว่าไอ้ความตะปุ่มตะป่ำของก้อนกรวดก้อนหินมันคงช่วยนวดเส้นใต้เท้าผมใช่ไหมครับ"

 

                    เห็นท่านหายก็ดีใจกับท่าน ก็หลักการนี้แหละที่ญี่ปุ่นบ้างจีนบ้าง เขาทำรองเท้าตะปุ่มตะป่ำมาขายพวกเรา แพงด้วยใช่ไหม ท่านเอ๊ยไม่ต้องไปซื้อมาหรอกนะ เดินถอดรองเท้าบิณฑบาตเข้าทุกเข้า ให้ก้อนอิฐก้อนหินมันช่วยทิ่มฝ่าเท้าให้บ่อย ๆ เส้นคลายแล้วโรคมันก็หายเอง ไม่ต้องไปเสียสตางค์ซื้อรองเท้าให้โง่  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จพ่อบรมครูของเราท่านให้วิธีไว้แล้ว เอามาใช้กันเสียนะ

               

                    มีโยมอีกคนหนึ่งเป็นอัมพาตเหมือนกันลูกๆพามาหาหลวงพ่อ อาการก็อย่างที่ว่ามาแล้ว เวลาไปไหนเดินได้  ๒-๓ ก้าว ก็ต้องเกาะต้องให้ประคองกันไป รายนี้เขามีฐานะค่อนข้างดี หลวงพ่อก็เลยทำหินเสกให้เขาต้องเสกเหมือนกัน วันดีคืนดีกับคนบางคนก็ต้องเอาขลังเข้าช่วย  หลวงพ่อก็นักเสกหนังเหนียวเก่า  ถึงจะเผาตำราไปแล้วท่าก็ยังให้  หลวงพ่อให้เขาขุดเป็นลำรางกว้าง ๕๐ ซม. ยาวประมาณ ๕ วา ลึก ๓ นิ้ว แล้วให้เอาเม็ดกรวดจากแม่นํ้าหรือทะเล ที่เป็นก้อนกลม ๆ ไม่ใช่กรวดอย่างที่ทำถนนนะ ให้เอากรวดมาเทใส่ลงไปให้เต็ม แล้วทำราวจับข้างหนึ่ง สั่งให้โยมคนนี้เดินบนกรวดทุกวัน เวลาประมาณ ๘-๙ โมงเช้า หรือ ๕ โมงเย็น กะเอาเวลาแดดอ่อนๆ หรือแดดร่มลมตกก็แล้วกัน ก็จะให้กรวดทิ่มฝ่าเท้าช่วยนวดเส้นนั่นแหละ แต่เราไม่บอกเขาตรงๆ ก็เขาจะเอาขลังน่ะก็ต้องให้อย่างขลัง เสกนั่นเป่านี่ให้ถูกใจ

           

                  พอเวลาผ่านไปได้ประมาณ ๑ เดือนเขาก็มาหา ดีใจเดินยิ้มร่ามาเชียว เพราะหายดีแล้ว

                "โอ้โฮ หินเสกของหลวงพ่อนี่ดีจริง"

                  เอ้าดีก็ดี หลวงพ่อแนะนำอย่างนี้ไปหลายราย  ตอนหลัง ๆ นี่ หลวงพ่อไม่เสกไม่เป่าให้ใครแล้ว ไม่อยากให้ถูกลือว่าเป็นเซียน เดี๋ยวจะดังจัด ใช้วิธีบอกเหตุผลไปตรงๆ เลย เชื่อก็เอาไปทำ ไม่เชื่อก็ตามใจพวกท่านนะ ใครที่รู้สึกว่าสุขภาพไม่ค่อยดี ลุกขึ้นไปบิณฑบาตเสีย การไต้เดินยืดเส้นยืดสายช่วยเราได้หลายอย่าง พวกที่ท้องผูก ฉันไม่ค่อยได้ ถ่ายไม่ค่อยคล่อง ไปบิณฑบาตเข้าบ่อย ๆ เถอะรับรองงวดนี้ถ่ายคล่องแน่ ขืนเอาแต่ฉันแล้วก็นั่ง ๆ อายุท่านจะไม่ยืน

 

                   อีกเรื่องหนึ่งเป็นกิจวัตรที่บางรูปอาจจะเซ็งไปบ้าง แต่ท่านต้องทำคือเรื่องการไปให้กำลังใจญาติโยม บางครั้งพ่อแม่เขาตาย เขามาบอกหรือมีคนมาส่งข่าวท่านต้องไปงานศพเขาบ้าง  คนเราเวลาพ่อแม่ตายก็เศร้าโศกด้วยกันทั้งนั้น ใจคอพะว้าพะวัง ไม่รู้จะทำอะไรถูก คำเทศน์คำสอนเคยฟังมาเท่าไรลืมหมด จับต้นชนปลายไม่ติดหรอก ตอนนั้นเขาต้องการที่พึ่ง ถ้าได้เห็นพระที่เคยคุ้น พระที่เคยตักบาตรให้ประจำ เคยถวายภัตตาหารบำรุงท่านมาเอง หรือพ่อแม่ที่ตายไปเคยบำรุงท่าน แล้วท่านอุตส่าห์มาในงานศพ ใจมันชื้นขึ้นมาเชียวแหละ ใจชื้นตั้งแต่นึกว่าหลวงพ่อหลวงพี่ไม่ทิ้งเรา วันนี้พระมาฟังสวดพระอภิธรรม ยังไงเสียพ่อแม่ที่ละโลกไปแล้วคงได้บุญมากคงไปดี

 

                เอาเถอะจะไปดีหรือไม่ดีอย่างน้อยเจ้าภาพก็ใจดีขึ้นบ้างละ เขาสบายใจเราสบายใจเดี๋ยวบุญเป็นสายโยงมาถึงวัด ไม่ต้องออกปากชวนก็มาเอง จะเทศน์จะสอนอะไรก็ง่าย ดีหนักขึ้นไปอีกเพราะเขายึดธรรมะเป็นที่พึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องรักษาศรัทธาญาติโยมนี่ท่านต้องทำ ถือว่าเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งของพวกเรา

 

               นอกจากบิณฑบาต กวาดวัด ปลงอาบัติ สวดมนต์ทำวัตรทั้งเช้าทั้งเย็น พร้อมทั้งลงปาฏิโมกข์ไม่ยอมขาดและไปงานศพอย่างที่ว่าแล้วเห็นมีงานอะไรเป็นส่วนรวม อย่าดูดาย ลูกเอ๋ย การบริหารสมบัติพระศาสนานี่ดูดายไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าท่านทรงเตือนไว้แล้ว จำได้ไหม

๑. ของหายต้องหา ทางที่ดีปัองกันไม่ให้มันหายด้วย ทำบัญชีไว้ให้ดี เก็บให้เป็นที่ แล้วกำหนดตัวบุคคลผู้ดูแลไว้ให้ชัดเจน ของจะได้ไม่หาย

 

๒. ของเสียต้องซ่อม ของอะไรชำรุดเสียหายนิด ๆ หน่อยแล้วไม่ซ่อมขืนใช้ไปไม่ช้าก็เสียมาก เสียเงินเสียทองหนักเข้าไปอีก ของเสียแล้วยังไม่พอ ญาติโยมก็เสียศรัทธาไปด้วย ที่ร้ายคือสันดานคนก็เสียกลายเป็นคนมักง่าย ดูดายชอบเกี่ยงงาน เห็นแก่ตัวมากขึ้นๆ คนแบบนี้ไม่มีทางเจริญในพระศาสนาแน่นอน

๓. ใช้ของต้องรู้จักประมาณ นั่งสมาธิมาก ๆ สติดี ๆ รู้จักตัวเองให้ได้  มันก็ประเมินงาน ประมาณตนได้อย่างที่ว่ามาแล้ว

๔. ไม่ตั้งคนพาลเป็นหัวหน้างาน  ต้องไม่เอาคนพาลมาเป็นเจ้าหน้าที่ แล้วคนพาลประเภทที่น่ากลัว คือ พวกพาลซึมลึก ส่วนคนพาลประเภทพาลโฉ่งฉางไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่ เพราะดูออก จะจัดการแก้ไข หรือจะไล่ส่งก็ตัดสินได้เร็ว แต่พวกพาลซึมลึกนี่ดูยาก คือเป็นพวกไม่ค่อยปรับปรุงตัวเอง เรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ สอนก็ดื้อ ๆ ด้าน ๆ แนะนำอะไร ก็ไม่ค่อยตัดสินใจที่จะทำ เห็นอะไรไม่ชอบมาพากลก็ปล่อยเลยตามเลยใครมาปรึกษาหารือถามความเห็นอะไรก็ว่า ดี ๆไม่ดู ไม่แล ไม่เกี่ยง เป็นประเภท "หลวงปู่ดีเน๊าะ"  เห็นอะไรเสียอะไรหายก็ว่าช่างมันเถอะ เดี๋ยวมันก็ดีเอง

"หลวงปู่ ผมจะฉันข้าวเย็นละนะ ไม่งั้นไม่ไหว หิวเหลือเกิน
นอนไม่หลับ"

"เออ..ดีเน๊าะ"

"หลวงปู่ เวลาเรียนผมง่วงจัง ต้องสูบบุหรี่มันถึงจะแก้ง่วงได้"

"เออ..ดีเน๊าะ"

                   แบบนี้นิมนต์ไปข้างหน้าก่อนเถอะ เกิดกี่ชาติๆ อย่ามาอยู่ร่วมกันเลยเพราะดูไม่ออกว่าขี้เกียจหรือปลงตกไม่อยากเสียเวลาไปวิเคราะห์ท่าน

                   คนบางประเภท "ขยันแต่ไม่ชอบตัดสินใจ" ไม่ชอบการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พวกนี้ก็ไม่น่าเอามาใช้เหมือนกัน เพราะจริง ๆ แล้วเป็นคนประเภท "ขยันแต่โง่" ใช้ไม่ได้ เป็นพระก็ไม่เจริญก้าวหน้าในพระธรรมวินัย เป็นเด็กวัดก็ไว้วางใจให้ทำงานสำคัญไม่ได้ หนักแรงหนักใจหัวหน้างานเปล่า ๆ เพราะไม่รู้จักเปรียบเทียบ ไม่รู้จักปรับปรุง ไม่รู้จักตัดสินตัดสินใจอะไรก็ไม่เป็นข้อสำคัญมาอยู่ด้วยกันนาน ๆ เรานั่นแหละจะสันดานไม่ดี กลายเป็นคนปากร้าย ใจร้อน เพราะคิดแก้ลำดัดนิสัยคนพวกนี้อยู่เรื่อยๆ

                  ท่านเอาหลักเกณฑ์ที่หลวงพ่อว่า ไปคัดเลือกคนมาใช้งานให้ดีนะ พวกเฉื่อย ๆ แฉะ ๆ อยู่ในครัวเห็นมดขึ้นข้าวสารก็ว่า ไม่เป็นไร มดมันไม่มีไร่ไม่มีนาทำกิน มากินข้าวของเราหน่อยจะเป็นไร..มดขึ้นกุฏิเร๊อะไม่เป็นไร ก็มันไม่มีที่อยู่จะไล่ให้มันไปอยู่ที่ไหนล่ะ..ไอ้คนพวกนี้เวลาถูกยุงกัด ไม่เห็นมันบอกว่าไม่เป็นไร ยุงมันไม่มีไร่ไม่มีนาทำกิน ให้มันกินเลือดบ้างพอกันตาย ไม่เห็นมันพูดอย่างนั้น เห็นตบยุงแผละ เอามันถึงตายทุกทีคนประเภทนี้มาเป็นอุบาสกอุบาสิกาอยู่ที่วัดไม่ได้  เป็นผู้ชายก็อย่าชวนมาบวช เพราะต้องใช้บทฝึกมาก  กำลังอย่างเราเอาไม่ไหวหรอก  ให้ท่านวัดอื่นที่เก่งๆ เอาบุญก้อนนี้ไปก่อน  ของเราขอเลือกที่มีแววดีๆ ถ้าทำอย่างนี้ท่านจะสบาย  หลวงพ่อก็สบายด้วย  ถ้าท่านไม่รู้จักคัดเลือกคนมาบวชมาเป็นเจ้าหน้าที่วัด อีกหน่อยท่านก็กลายเป็นพระปากจัด ด่าเช้าด่าเย็นให้หลวงพ่อได้ยิน

 

                  กิจวัตรที่หลวงพ่อยกเอามาแจกแจงอยู่นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในกิจวัตรพระ ๑๐ ประการขยายความเพื่อส่องทางเชิงปฏิบัติ ให้พวกท่านเห็นง่าย ๆ ส่วนข้ออื่น ๆ จะหาโอกาสขยายความให้อีกในวันข้างหน้า

             

                  สำหรับคราวนี้ยกขึ้นมา เพื่อยํ้าให้พวกท่านมั่นใจว่า สิ่งเหล่านี้ แหละคือหน้าที่ที่แท้จริงของพระนักสร้างบารมี คือเมื่อท่านทำแล้ว บารมีทั้ง ๓๐ ทัศจะมาเอง ตั้งแต่ทานบารมี อุปทานบารมี ปรมัตถ์ทานบารมีฯลฯ ทุกอย่างทุกชั้นกลั่นกันมาเลย ทั้งหล่อหลอม ทั้งขัดเกลาท่านให้เข้าไปในเส้นทางที่ประกอบไปด้วยมรรคมีองค์ ๘ โดยปริยาย แล้วแน่นอนวันหนึ่งท่านต้องเข้าถึงธรรมกาย ยังไงก็ต้องเข้า มันเป็นอัติโนมัติ แม้ไม่ทันตั้งใจตั้งท่าก็เข้าได้  ผิดกับบางพวก ตั้งใจจะให้เข้าเสียเหลือเกิน หน้าที่การงานทิ้งหมด ตื่นนอนแทนที่จะเก็บที่นอนให้ดี  ฮื้อ...เสียเวลานั่งสมาธิหมู่คณะ เขาทำงานกัน ไม่เอาละเดี๋ยวมันจะแย่งเวลาศึกษาธรรมะของเราไปพวกนี้อย่าหวังเลยว่าจะเข้าถึงธรรมกาย เข้าอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น ไปไม่รอด

 

                    แต่ว่าถ้าถึงเวลาศึกษาภาคปริยัติ  ก็รีบไปศึกษา  ถึงเวลาฟังเทศน์ก็ไปฟัง  ถึงเวลานั่งสมาธิก็นั่งตัวตั้งเลย  นั่งมันเข้าไป  ถึงเวลากวาดวัด  กวาดเข้าไปกวาดให้ด้ามไม้กวาดคอดไปทีซิน่า  อยากจะเห็นเหมือนกัน ทำหน้าที่ให้ครบให้ดีที่สุดเรื่อยไป  เดี๋ยวดีเอง  ทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัวจะเรียบร้อยไป หมดทุกอย่าง กิเลสในตัวก็หลุดหมด มันทานอยู่ไม่ได้หรอก

               

                  สำหรับวาระวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อปีนี้ หลวงพ่อก็ขอสรุปข้อคิดความเห็นอันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อเองที่ได้รับความก้าวหน้ามาตามลำดับ ๆ เท่าที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับนักสร้างบารมีไว้เป็นเรื่องหลักใหญ่ ๓ เรื่องคือ

๑. ขอให้ท่านฝึกเป็นคนรู้จักตัดสินและตัดสินใจ รู้จักเปรียบเทียบ เพราะจะทำให้ท่านเป็นคนว่องไว ตัดสินใจฉับพลันในทุกเรื่อง สามารถแก้ไขปรับปรงตัวเองได้โดยง่าย

๒. ให้ท่านพยายามยกระดับของความอดทน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างบารมีให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนวิธีการนั้นถ้าจะตามอย่างหลวงพ่อก็ต้องฝึกในเรื่อง ๒ เรื่องคือ

๒.๑  ฝึกตัวเองให้มากด้วยความเคารพ

๒. ๒  ฝึกตัวเองให้มากด้วยความกตัญญูรู้คุณและการตอบแทน

ถ้าทำ ๒ อย่างนี้ได้  ท่านจะสามารถยกระดับความอดทนขึ้นไปได้ไม่รู้จบ

๓. ท่านต้องรู้ว่าการบวชของท่านนี้ บวชมาเพื่อฝึกหัดอบรมตนให้ดีขึ้น ในการฝึกหัดอบรมตนให้ดีขึ้นนั้น ท่านมีความจำเป็นจะต้องทำ ๓ เรื่องคือ

๓. ๑ ศึกษาภาคปริยัติให้เต็มที่

๓. ๒ ตั้งใจนั่งสมาธิกันอย่างไม่ลดละ

๓.๓ กิจวัตรต่าง ๆ ของท่าน ท่านจะต้องหมั่นปรับปรุงให้เหมาะสม ทั้งกิจวัตรที่เป็นส่วนตัวและกิจวัตรที่เป็นส่วนรวมของคณะสงฆ์ทั้งหมด

 

                 ถ้าท่านได้ประพฤติปฏิบัติอย่างที่หลวงพ่อแนะนำ การเข้าถึงธรรมกายก็ไม่ใช่เรื่องยาก ยากน่ะยากอยู่หรอกลูกเอ๋ย แต่ไม่ยากจนเกินไป มีหนทางที่จะเป็นไปได้และที่แน่นอน ถ้าได้ทำตามที่หลวงพ่อว่ายังไง ๆ เสียเราคงจะได้ฝากผีฝากไข้กันไปจนตลอดชีวิต คงไม่สิกขาลาเพศหรือตกหลุมตกร่องเสียกลางทาง  แล้วเมื่อถึงวันที่เราเข้าถึงธรรมกายได้พร้อมกันหมดทุกคน เราจะได้ชื่นใจหายเหนื่อยกันเสียที มันคงไม่ช้าเกินไปนะลูกนะสำหรับวาระนี้หลวงพ่อขอฝากข้อคิดไว้เพียงเท่านี้

 

                ด้วยอำนาจบารมีธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้าทั้งหลาย อำนาจบารมีธรรมที่หลวงพ่อได้สร้างสมอบรมมาดีแล้ว นับด้วยร้อยชาติพันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติก็ดี ในปัจจุบันชาติก็ดี และที่จะบำเพ็ญให้ยิ่งๆ ขึ้นใปในภายภาคหน้าอีกด้วย  รวมทั้งความปรารถนาดีที่พวกเราทุกๆ คนมีต่อหลวงพ่ออยากให้หลวงพ่อมีอายุยืนยาว สุขภาพพลานามัยแข็งแรง ได้สร้างบุญสร้างบารมีได้เต็มที่เป็นอาทิ  ขออำนาจบารมีธรรมทั้งหลายเหล่านั้น  จงประมวลรวมเข้าด้วยกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยส่งผลดลบันดาลอภิบาลคุ้มครองปกป้องและรักษา ให้ลูกๆ ของหลวงพ่อทุกรูป ทุกคน มีความอดทนที่จะสร้างบารมีเป็นเลิศ สามารถยกระดับแห่งความอดทน นั้น ให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปไม่มีขอบเขต ให้ลูกๆ ของหลวงพ่อทุกคนบำเพ็ญบารมี ไปได้ตลอดรอดฝั่ง ปรับปรุงกาย วาจา ใจของตนเองให้ผ่องใส ให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ไม่มีตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น ให้สามารถประคับประคองตัวเองและหมู่คณะ ให้พ้นจากภัยพิบัติต่างๆ เดินไปตามเส้นทางอันประเสริฐ ซึ่งประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปได้อย่างง่ายดาย ทุกภพ ทุกชาติตราบเท่าเข้าถึงพระนิพพาน เทอญฯ

 

จากหนังสือ มองอย่างนักคิด ทำอย่างนักสู้

คุณครูไม่เล็ก

โหลด หนังสือ ได้ที่ https://kalyanamitra.org/book/index_dhammabook_detail.php?id=885

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01292028427124 Mins