ตอน 15 สายสนองเส้นผม
สตรีไทยปรารถนาส่วนแห่งบุญในการสร้างสรรค์คัมภีร์ใบลาน แม้ตนไม่อาจเป็นผู้จารคัมภีร์ได้เฉกเช่นฝ่ายชาย แต่ก็ขอแสดงออกซึ่งบทบาทอันงดงามในฐานะผู้ปกป้องคัมภีร์ด้วยเส้นผมของตน
ดอกไม้หลากสีต่างพันธุ์ ยังถูกร้อยเรียงรวมกันด้วยเส้นด้ายเป็นพวงมาลัยเพื่อบูชาพระรัตนตรัย แผ่นลานแต่ละหน้าเมื่อได้จารจารึกอักษรสำคัญถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็ต้องเรียงร้อยเป็นผูกเป็นมัดรวมเป็นเรื่องราวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการสืบรักษาและศึกษาพระธรรมคำสอนอันเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย
‘สายสนอง’ คือ ไหม ด้าย หรือเชือก ที่ร้อยแผ่นลานเข้ากันเป็น ‘ผูก’ ตามปกติ 1 ผูก จะประกอบด้วย 24 แผ่นลาน หากนับด้านหน้าและด้านหลัง แผ่นลานผูกหนึ่งจะมี 48 หน้าลาน ในกรณีที่เนื้อหาที่จารยาวเกิน 24 แผ่นลานก็จะขึ้นผูกใหม่
คัมภีร์หนึ่งมัดจะมีจำนวนผูกมากน้อยต่างกัน บางเรื่องอาจจบเพียง 3-4 ผูก แต่บางเรื่องอาจยาวถึง 20-30 ผูกก็ได้ ผูกสุดท้ายจะพิเศษกว่าผูกอื่น เพราะส่วนใหญ่มีความยาวเกิน 24 แผ่นลาน ส่วนที่เกินจะนับเป็นจำนวนลาน เช่น มี 28 แผ่นลาน จะเรียกว่า 1 ผูก 4 ลาน เป็นต้น
วิธีร้อยสายสนองเข้าผูก เรียกว่า ‘ร้อยหู’ จะร้อยตามรูที่เจาะเอาไว้ริมซ้ายของแผ่นลานเพียงฝั่งเดียว โดยทำห่วงผูกไว้ที่ปลายข้างหนึ่ง แล้วเอาปลายอีกข้างหนึ่งร้อยเข้าไปในห่วง โอบรอบกึ่งใบลานด้านบนเป็นวิธีเข้าเล่มหนังสือแบบโบราณ
ส่วนรูที่เจาะไว้ฝั่งขวาของแผ่นลานจะปล่อยว่างไว้ เวลาจะอ่านคัมภีร์ต้องคลายสายสนองออกเสียก่อนจึงจะพลิกเปิดหน้าลานได้สะดวก เมื่ออ่านเสร็จจึงดึงสายสนองเข้าให้แน่นสนิทเช่นเดิม
นอกจากวัสดุทั่วไปที่ทำจากไหม ด้าย หรือเชือกแล้ว บางแห่งยังพบสายสนองทำจากเส้นผม ที่ผู้หญิงไทยในอดีตตั้งใจสละบูชาเพื่อถักฟั่นเป็นสายสนองร้อยแผ่นลาน บ้างก็นำเส้นผมมาถักเปียยาว ๓-๕ เมตร ใช้เป็นเชือกมัดห่อคัมภีร์ใบลาน
สุรสิทธิ์ ไทยรัตน์, 2556
การถวายเส้นผมที่ดูแลรักษาอย่างดีเพื่อทำเป็นสายสนองหรือเชือกมัดคัมภีร์ แสดงถึงแรงศรัทธาของสตรีที่มีต่อพระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด
และยังแสดงถึงความปรารถนาอยากมีส่วนร่วมในการตอบแทนคุณพระศาสนา เฉกเช่นฝ่ายชายซึ่งเป็นผู้จารคัมภีร์
ทั้งนี้เพราะสตรีไทยโบราณส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก เนื่องจากการศึกษาแต่เดิมไม่นิยมให้เล่าเรียนหนังสือ เน้นให้มีความรู้เฉพาะการบ้านการเรือนและงานฝีมือเป็นความรู้ติดตัว จะมีเฉพาะสตรีชั้นสูงในรั้วในวังเท่านั้นที่มีโอกาสได้เล่าเรียนเขียนอ่าน
ส่วนฝ่ายชายเป็นผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษามากกว่า เพราะศูนย์กลางของสรรพศาสตร์อยู่ที่วัด มีพระภิกษุสงฆ์ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรที่เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์ สอนหนังสือไทย มอญและขอม ให้ความรู้คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
รวมทั้งอบรมสั่งสอนจริยธรรม กระทั่งถึงวัยอันควรก็จะได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรหรืออุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณีต่อไป
ดังนั้นผู้ที่สามารถจารคัดลอกคัมภีร์ใบลานทางพระพุทธศาสนาได้ จึงมีแต่ฝ่ายชายที่ผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น
แม้พระพุทธศาสนาจะให้โอกาสในการบวชเรียนแก่บุรุษมากกว่าสตรี อย่างไรก็ตามในกรอบของวัฒนธรรมยังมีการจัดสมดุลของการจรรโลงพระพุทธศาสนา
ซึ่งสะท้อนความสำนึกรู้คุณของฝ่ายหญิงผ่านสายสนองเส้นผม ที่ร้อยรวมแผ่นคัมภีร์ใบลาน หรือเส้นผมที่ผูกรวมคัมภีร์เป็นมัด ประหนึ่งสายใยที่ผูกโยงพระธรรมคำสอนให้ร้อยรวมเรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อันเป็นสัญลักษณ์ของบทบาทคู่กันระหว่างเพศภาวะชายในฐานะผู้สร้างสรรค์คัมภีร์ใบลาน และบทบาทของเพศภาวะหญิงในฐานะผู้ปกป้องรักษา อันแสดงถึงบทบาทการตอบแทนคุณพระศาสน์ได้อย่างงดงามและทัดเทียมกัน
เรียบเรียงจากบทความวารสารอยู่ในบุญ เรื่อง
ร้อยเรียงลาน สืบสานพุทธธรรม ฉบับธันวาคม 2556
สนองคุณพระศาสน์ บทบาทสตรีไทย ฉบับสิงหาคม 2557
อ้างอิง
ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546
สุรสิทธิ์ ไทยรัตน์. คัมภีร์ใบลานในประเทศไทย. กรุงเทพ : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2556