.....จากการที่พระพุทธองค์ทรงแบ่งคนแวดล้อมตัวเราออกเป็น ๖ กลุ่ม แล้วทรงกำหนดเป็นอริยวินัยหรือหน้าที่ โดยให้มีปฏิสัมพันธ์รับผิดชอบด้วยกันทั้งสองทาง คือระหว่างตัวเรากับบุคคลในแต่ละทิศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องมีหน้าที่ปฏิบัติต่อกัน ตามที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ การกำหนดอริยวินัยเพื่อให้แต่ละคนประพฤติปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ เช่นนี้นับว่าเป็นกลวิธีในการสร้างเครือข่ายคนดีอย่างเป็นระบบที่ชาญฉลาดยิ่ง คือ ใช้คนดีร่วมสร้างคนดี จนกระทั่งกลายเป็นเครือข่ายคนดี ซึ่งนอกจากจะช่วยให้แต่ละบุคคลสามารถค้นหาลักษณะนิสัยของมิตรเทียมมิตรแท้ของตนเอง และบุคคลรอบทิศได้อย่างชัดเจน ถูกต้องรวดเร็วแล้ว ยังเป็นบทฝึกกำจัดลักษณะมิตรเทียมและเพิ่มพูนลักษณะนิสัยของมิตรแท้ ที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมสำหรับทุกๆ คนอีกด้วย
เหตุใดจึงกล่าวเช่นนี้?
......ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ไม่มีใครในโลกนี้มีลักษณะมิตรแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมิตรเทียมร้อยเปอร์เซ็นต์ ทว่าแต่ละคนจะมีลักษณะทั้งมิตรแท้และมิตรเทียมปนกันอยู่ในตัว ลักษณะมิตรแท้นั้นต้องอนุรักษ์เอาไว้ ส่วนลักษณะมิตรเทียมต้องกำจัดออกไป หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ว่าแต่ละฝ่ายต้องรักษาข้อดีของตนไว้ พร้อมกันนั้นก็พยายามถ่ายทอดข้อดีให้กันและกัน ส่วนข้อเสียที่แต่ละฝ่ายมีอยู่นั้น ต่างก็ต้องพยายามกันออกทิ้งเสีย กำจัดเสีย ไม่ให้แพร่ระบาดออกไปสู่กันและกัน
.....ถ้าปฏิบัติได้เช่นนี้ แต่ละฝ่ายก็จะเป็นคนดีพร้อม ไม่มีลักษณะนิสัยเลวๆ ของมิตรเทียมหลงเหลืออยู่เลย นั่นคือ ทุกคนในสังคมจะเป็นคนดีหรือมิตรแท้กันหมด
.....ความคิดเช่นนี้ย่อมเป็นเพียงภาคทฤษฎีเท่านั้น ยากต่อการลงมือปฏิบัติจริง เป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก ส่วนที่ยากก็คือการกำจัดหรือป้องกันข้อเสียไม่ให้แพร่ระบาดออกไป เพราะตามธรรมดา ใจคนที่ยังมีอินทรีย์ไม่แก่กล้าพอ ย่อมเพลี่ยงพล้ำต่ออำนาจกิเลสเสมอ การกำจัดหรือกันกิเลสให้หลุดไปจากใจได้นั้น ต้องมีขันติความอดทนสูงพอจึงจะทำได้ ผู้ที่ไม่เคยได้รับการฝึกฝนอบรมในเรื่องความอดทนมาดีพอและต่อเนื่อง จะไม่สามารถกำจัดกิเลสในตนเองหรือกันกิเลสมิให้แพร่ไปสู่ผู้อื่นได้เลย
.....แต่การที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดหน้าที่ให้แต่ละคนในทิศ ๖ ต้องปฏิบัติ ย่อมเป็นการฝึกปลูกฝังลักษณะนิสัยของคนดีไปพร้อมๆ กับการฝึกความอดทนต่ออำนาจกิเลส คือ นับตั้งแต่พ่อแม่ฝึกให้ลูกทำสิ่งดีๆ ตั้งแต่ยังเล็ก ชี้ให้ดูว่าสิ่งใดบ้างเป็นเรื่องชั่วแล้วก็ต้องไม่ทำ เมื่อไปโรงเรียน ครูก็สอนให้ทำดีๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ พระภิกษุก็ยังเน้นย้ำให้ทำดีในระดับสูงขึ้นต่อไปอีก ครั้นเมื่อประพฤติปฏิบัติหน้าที่ของคนดี ตามที่ทรงกำหนดไว้ให้แต่ละทิศจนคุ้นแล้ว คนเราย่อมมี หิริคือความละอายบาป และ โอตตัปปะ คือความกลัวบาป ต่อการที่จะประพฤติในสิ่งที่ไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะ ไม่สมควร หรือสิ่งที่เป็นบาป จึงไม่แสดงพฤติกรรมของมิตรเทียมออกมา
.....เพราะฉะนั้น หน้าที่ต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในทิศ ๖ นี้ คือระบบฝึกคนที่มีประสิทธิภาพยิ่ง อาจกล่าวสั้นๆ ได้ว่า ทิศ ๖ คือกลวิธีในการสร้างเครือข่ายคนดีและความสามัคคีให้แก่สังคมอย่างแท้จริง ซึ่งอาจแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มบุคคลทั้ง ๖ กลุ่ม กับตัวเราได้ด้วยแผนภูมิข้างล่างนี้
(ภาพแผนภูมิ)