บุญวันเกิด

วันที่ 30 มิย. พ.ศ.2564

30-6-64-6-b.jpg

บุญวันเกิด

               จิตเป็นธรรมชาติรู้ที่ละเอียดสุขุมนัก และมักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ แต่ถ้าคุ้มครองไว้ดีแล้ว จิตย่อมสว่างผ่องใส สามารถเห็นได้ชัดเจน และนำความสุขมาให้

              ดังนั้นเมื่อตื่นนอนตอนเช้า ก่อนอื่นพึงกำหนดใจน้อมระลึกถึงพระธรรมกาย และยังจิตให้สดชื่นแจ่มใส ด้วยการจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัยในห้องพระ ตั้งใจกราบพระสามครั้ง แล้วสมาทานศีลห้าหรืออุโบสถศีลอย่างใดอย่างหนึ่งตามกำลังศรัทธา พึงตั้งใจรักษาศีลนั้นให้บริสุทธิ์อย่างน้อยคืนหนึ่งกับวันหนึ่ง ที่สำคัญที่สุด จะต้องเว้นจากการดื่มสุรายาเมาทุกชนิดโดยเด็ดขาด และเจริญภาวนาอย่างน้อย ๒๐-๓๐ นาที 

- กราบระลึกถึงพระคุณของบิดามารดาบังเกิดเกล้าและบรรพบุรุษ
- กราบระลึกถึงพระคุณของผู้มีอุปการะคุณ เช่น ครู อาจารย์ ฯลฯ
- ตามระลึกถึงความดีที่ได้บำเพ็ญมา ทั้งของตนของญาติมิตร ตลอดจนบริวารชน ให้เกิดปีติโสมนัส
- สิ่งใดที่จะชักนำให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว ไม่พึงกระทำเป็นอันขาด

-ประคองรักษาใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย และระลึกถึงธรรมกายอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา แม้ขณะทำบุญตักบาตรหรือรับแขกก็ดี

การทำทานที่มีผลน้อย คือ

การให้ทานโดยปราศจากความเคารพในทานของตน ๑
ขาดความอ่อนน้อมต่อสมณะผู้รับ ๑
ไม่ให้ทานด้วยมือของตนเอง ๑
ให้ของที่ไม่ประณีตเป็นเดน ๑

             ดังนั้น ในการปฏิบัติตามพิธีกรรมทุกอย่าง เช่น จุดธูปเทียนสักการะบูชาพระรัตนตรัยก็ดี สมาทานศีลก็ดี ถวายภัตตาหารก็ดี ถวายเครื่องไทยธรรมก็ดี ตลอดจนการปล่อยสัตว์ปล่อยปลาก็ดี เจ้าภาพควรปฏิบัติด้วยตนเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพในทานและความตั้งใจจริงของตน แม้จะเคอะเขินบ้างเพราะขาดความชำนาญก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นบ้านของตนเอง

             หลังจากถวายภัตตาหารและปล่อยสัตว์แล้ว เจ้าภาพพึงอาราธนาพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาให้เกิดสติปัญญายิ่ง ๆ ขึ้นไป หรือจะกราบเชิญผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือให้โอวาทแก่ตน ตลอดจนญาติมิตรที่มาชุมนุมพร้อมกัน และรับศีลรับพรจากผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือก็ได้

            เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว สมควรที่เจ้าภาพพึงให้โอวาทแก่บุตรหลาน ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ให้รู้จักตั้งตนไว้ในทางที่ชอบหลังจากนั้นจึงแจกของชำร่วยเป็นทานตามสมควร และร่วมรับประทานอาหาร

วิธีกรวดน้ำ

              ทุกครั้งภายหลังการบำเพ็ญบุญกุศล พึงตั้งใจกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาดีแล้วให้แก่ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย และผู้มีอุปการะคุณ ตลอดจนสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ดังต่อไปนี้

คำกรวดน้ำย่อ
อิทัง เม ญาตินังโหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตโย

แปลความว่า
ขอส่วนบุญกุศลนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า
ขอให้ญาติทั้งหลายจงมีแต่ความสุขกายสุขใจเถิด

ให้ชีวิตเป็นทาน

              เนื่องจากครั้งนี้เป็นการทำบุญปรารภชีวิต ปีติยินดีที่มีชีวิตฝ่าอันตรายรอบด้านมาได้ด้วยดีอีกปีหนึ่ง จึงสมควรแสดงน้ำใจเมตตากรุณาด้วยการปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยสัตว์ ที่จะถูกฆ่าเพื่อเป็นการให้ทานชีวิต เพราะไม่ใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่รู้จักรักชีวิตแม้แต่สัตว์ก็เช่นกัน และจะมีอานิสงส์ส่งผลให้เจ้าภาพมีอายุยืนยาวอีกด้วย พระบรมศาสนาตรัสว่า

อนฺนโท พลโท โหติ วตฺถโท โหติ วณฺณโท
ยานโท สุขโท โหติ ทีปโท โหติ จกฺขฺโท 

แปลความว่า
ผู้ให้ข้าวเป็นทาน ย่อมชื่อว่าให้กำลัง
ผู้ให้เสื้อผ้าเป็นทาน ย่อมชื่อว่าให้ผิวพรรณ
ผู้ให้ยานพาหนะเป็นทาน ย่อมชื่อว่าให้ความสุข
ผู้ให้ประทีปเป็นทาน ย่อมชื่อว่าให้จักษุ

             ด้วยเหตุนี้ประเพณีไทยจึงนิยมปล่อยสัตว์ปล่อยปลาที่จะถูกฆ่าเป็นอาหารทุก ๆ คราวที่ทำบุญให้ทาน โดยเฉพาะทำบุญในวันคล้ายวันเกิด โดยถือว่า ผู้ให้ชีวิตเป็นทานย่อมชื่อว่าให้อายุแก่สรรพสัตว์ อันจะเป็นผลตอบสนองให้ตนได้มีอายุยืนยาว

วิธีอธิษฐาน

             ทุกครั้งที่บำเพ็ญบุญกุศล พึงตั้งจิตอธิษฐานตามความปรารถนาของตน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเจริญ และเพื่อความสำเร็จในสิ่งอันพึงปรารถนาในทางที่ชอบ โดยเฉพาะความหมดกิเลส เพื่อจะได้สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้โดยเร็ว เมื่ออธิษฐานแล้วก็เปรียบเสมือนเรือที่ตั้งหางเสือไว้ดี ย่อมแล่นไปโดยทิศทางตรงไม่ต้องอ้อมเสียเวลา ย่อมฟันฝ่าอุปสรรคพ้นไปได้โดยเร็วและถึงจุดหมายปลายทางด้วยดีในที่สุด ตรงกันข้ามกับการบำเพ็ญบุญที่ไม่อธิษฐาน ย่อมประดุจเรือที่ปราศจากหางเสือ ฉะนั้น

              การอธิษฐานในทางที่ชอบย่อมไม่เป็นการพอกพูนกิเลส แต่เป็นอุบายเตือนตนมิให้ตกไปทางเสื่อม เป็นการตั้งใจไว้ที่ควรทำให้จิตใจผ่องใส ชาวพุทธทุกคนถือว่าใจเป็นสิ่งสำคัญ บุคคลถ้าใจผ่องใสแล้ว จะพูดจะทำกิจการใดก็ย่อมดีตามไปด้วย ดังนั้นบางท่านอาจจะอธิษฐานขอให้เป็นผู้มั่นอยู่ในพระรัตนตรัยทุกภพทุกชาติจนกระทั่งหมดกิเลสเข้าสู่พระนิพพาน บางท่านอาจจะอธิษฐานขอให้สำเร็จวิชชาสาม วิชชาแปด อภิญญาหก บางท่านอาจจะอธิษฐาน ขอให้อายุยืนจะได้มีโอกาสทำความดีได้มาก ฯลฯ ทั้งนี้เพราะแม้แต่ความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าก็เกิดจากการอธิษฐานทั้งสิ้น วิธีอธิษฐานที่ถูก ก็ต้องตั้งจิตไว้ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ดังกล่าว ในหลักการบำเพ็ญกุศลแล้วเปล่งวาจาตามความปรารถนาที่ชอบนั้น ๆ

อนุโมทนา

               ผู้บำเพ็ญบุญดีแล้ว ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ย่อมมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข ละโลกไปแล้วย่อมเป็นสุขยิ่งขึ้น เพราะสามารถเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมนั้น ๆ ของตนอย่างชัดเจนด้วยความปรีดา เหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า 

"การสั่งสมบุญ ย่อมนำความสุขมาให้ "

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01049241622289 Mins