เต่าในกระดอง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว
มีเต่าตัวหนึ่ง เที่ยวหากินอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่งในเวลาเย็น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ก็ได้เที่ยวหากินอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่งในเวลาเย็น
เต่าได้เเลเห็นสุนัขจิ้งจอก ซึ่งเที่ยวหากินอยู่แต่ไกลแล้ว ก็หดอวัยวะ ๕ ทั้งหัว (หดขา ๔ ข้างและคอ) เข้าไปอยู่ในกระดองของตนเสีย มีความขวนขวายน้อย นิ่งอยู่
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกก็ได้แลเห็นเต่าซึ่งเที่ยวหากินอยู่แต่ไกลแล้ว เข้าไปหาเต่าถึงที่แล้วได้ยืนอยู่ใกล้เต่าด้วยคิดว่าเวลาใด ต่อตัวนี้จักเหยียดคอหรือขาข้างใดข้างหนึ่งออกมา เวลานั้น เราจักงับมันฟาดแล้วกัดกินเสีย
เวลาใด เต่าไม่เหยียดคอ หรือขาข้างใดข้างหนึ่งออกมาเวลานั้น สุนัขจิ้งจอกก็หมดความอาลัย ไม่ได้โอกาสจึงหลีกไปจากเต่า ฉันใด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มารผู้ใจบาป ผู้ปรากฏอยู่ใกล้พวกท่านเสมอๆ แล้วคิดว่า บางทีเราจะพึงได้มีโอกาสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ใจของภิกษุเหล่านี้บ้าง
เพราะฉะนั้นเเล ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว อย่าถือนิมิต(ถือโดยรวม) อย่าถืออนุพยัญชนะ (ถือโดยแยกเป็นส่วน) จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส (ความยินดี ยินร้าย) ครอบงำได้ ชื่อว่าได้รักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
เมื่อฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว อย่าถือนิมิต อย่าถืออนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมนินทรีย์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวลาใด ท่านทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ เวลานั้น มารผู้ใจบาปก็จักหมดความอาลัยไม่ได้โอกาส หลีกจากท่านทั้งหลายไป ดุจสุนัขจิ้งจอกหมดความอาลัย หลีกจากเต่า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
กุมมสูตร มก. เล่ม ๒๘ หน้า ๔๐๖