.....หลังจากการมรณะของพระครูวัตตสารโสภณแล้ว ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปต่อมา รับผิดชอบงานหลักของพระสังฆาธิการ คือ งานปกครอง งานศึกษา งานเผยแผ่ งานสาธารณูปการ แต่มีงานด้านการปกครองที่สำคัญขึ้นอีกคือ ท่านเจ้าคุณพระกาญจนวัตวิบูลย์ (สอน) เจ้าคณะอำเภอเมืองกาญจนบุรี และเจ้าอาวาสวัดทุ่งลาดหญ้า ได้มรณภาพลง คณะสงฆืจึงได้ประชุมคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อ พระมหาไพบูลย์ กตปุญโญ ป.ธ. ๘ เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองฯ ขณะที่กำลังดำเนินเรื่องอยู่นั้น ท่านเจ้าคุณพระเทพมงคลรังษี เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) ได้มรณภาพลงอีกคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้พระมหาไพบูลย์ เป็นเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีและให้พระครูสังคีคุณธาดา (กิมซ้า) วัดเทวสังฆาราม เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองฯ ร่วมกันบริหารงานคณะสงฆ์
......เมื่อท่านรับตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดใหม่ ๆ ผู้ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดคือ พระมหาแสวง ปัญญาวชิโร (อาจปักษา) พระมหาแสวง ช่วยงานคณะสงฆ์ได้ระยะหนึ่งจึงลาออก เจ้าคณะจังหวัดจึงมอบหมายให้ผู้เขียนขณะนั้นเป็นสามเณรอายุ ๑๘ ปี ทำหน้าที่เป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด จึงเป็นความลำบากพอสมควร เพราะผู้เป็นเจ้าคณะจังหวัดรูปใหม่อายุ ๓๗ ปี ซ้ำยังไม่เคยงานระดับตำบล อำเภอมาก่อนเลย ผู้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการยังเป็นสามเณร พิมพ์ดีดยังไม่คล่องนักต้องพยายามพิมพ์ ด้วยความบรรจง เจ้าคณะฯ ก็ขยัน ทำให้นึกถึงคำพูดที่ว่า เจ้านายขยัน ลูกน้องก็เหนื่อย ยอมรับว่าเจ้าคณะมีความสามารถมากในทุกด้าน จนทำให้การบริหารงานคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นเป็นไปด้วยดี มีงานที่ประทับใจผู้เขียน ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดฯ นั่นคือการประชุมพระสังฆาธิการ ระดับภาค ๑๔ มี พระมหาประชุมรวมกันประมาณ ๑,๒๐๐ รูป โดยที่คณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี แบ่งหน้าที่ทำงานด้วยความเต็มใจตลอดการประชุม ๕ วัน ถือว่างานนี้เป็นการพิสูจน์ความสามารถของผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัด ฯ ด่านแรก ความสามารถนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
......ดังที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระราชนิพนธ์ไว้ในหลักราชการว่า “ ความสามารถนั่นแหละเป็นสิ่งที่ต้องการที่จะใช้บังคับบัญชาคน ไม่ว่าหน้าที่ฝ่ายทหารหรือพลเรือนและเมื่อผู้ใหญ่เขาจะเลือกหาผู้บังคับบัญชาคน เขาย่อมจะเพ่งเล็งดูความสามารถมากกว่าภูมิวิชา (ถ้าเขาคิดถูก) แต่ผู้ที่หลงไปเพ่งแต่ภูมิวิชาเท่านั้นก็มี ซึ่งไม่ช้าก็ต้องรู้สึกว่าคิดผิด เพราะผู้มีวิชาแต่ไม่รู้จักใช้วิชานั้นให้เป็นประโยชน์จริง ๆ ได้แล้ว ก็ไม่ผิดอะไรกับวานรซึ่งถือแก้วไว้ในมือ แต่จะหารู้ราคาแห่งแก้วนั้นก็หามิได้”
......การปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี สมัยนั้นมี ๔ อำเภอ คือ อำเภอเมืองฯ อำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา และอำเภอพนมทวน มีวัดทั้งหมด ๙๖ วัด เจ้าคณะจังหวัดองค์ใหม่ออกเดินทางไปตรวจเยี่ยมวัดในทุกท้องที่ ด้วยพาหนะ คือ ช้าง เรือ จักรยาน รถยนต์ บางแห่งต้องเดินทางด้วยเท้ารอนแรมไปหลายวัน โดยเฉพาะที่อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี ก่อนนั้น ๓ อำเภอนี้อยู่ในเขตตำบลเกาะสำโรง อันมีพระมหาณรงค์ ปริสุทโธ (ปัจจุบันคือพระราชธรรมโสภณ) เป็นเจ้าคณะตำบล เมื่อสำรวจเส้นทางเป็นอันดีแล้วจึงกราบเรียนพระเถระผู้ใหญ่ไปดูความเป็นไป เรียกงานไปครั้งนั้นว่า “ตรวจการณ์ภาค” กล่าวได้ว่าหลวงพ่อท่านมีความเป็นอัจฉริยะประการหนึ่งคือ ความเป็นผู้ช่างจดจำ ทั้งตัวเลข ชื่อหมู่บ้าน ชื่อผู้คน ระยะทางระหว่างหมู่บ้าน และสิ่งอื่น ๆ เรื่องนี้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านคงไม่มีใครค้าน
......จากการที่ไปตรวจการณ์ ได้เห็นความเป็นอยู่ของพระผู้น้อยในถิ่นทุรกันดาร มีความเป็นอยู่ฝืดเคืองด้วยปัจจัยสี่ ผ้าที่เตรียมไปใช้ต้องแบ่งถวาย วันกลับเหลือแค่ผ้าคือชุดที่ครองอยู่เท่านั้น พระที่อยู่ในป่าไม่เคยได้ลิ้มรสใบชาชนิดใด ๆ นอกจาใบมะม่วงเผาไฟ หรือใบทับทิมคั่ว ต่อมาจึงได้กำหนดการไปเยี่ยมพระในถิ่นทุรกันดารเป็นประจำทุกปี ขอผ้าเก่า ย่ามเก่า ข้าวสาร อาหารแห้งไปถวาย นี่คือน้ำใจของผู้บังคับบัญชาที่เผื่อแผ่เจือจานลูกน้อง แม้จะเป็นน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็เป็นความประทับใจของผู้รับ พระเถระที่มักไปกับคณะอยู่เสมอคือ ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี วัดมหาธาตุ ฯ อันเป็นงานของพระธรรมทูต สายที่ ๑