กฐิน และอานิสงส์กฐิน
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ไม่จัดเป็นการทอดกฐิน
แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่น จะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้
นอกจากนี้การทอดกฐินยังเป็นทานที่พิเศษ คือ ทั้งพระภิกษุและญาติโยมผู้ทอดกฐินได้อานิสงส์ด้วยกัน การทอดกฐินจึงเป็นบุญใหญ่ ที่ผู้ให้ (คฤหัสถ์) และผู้รับ (พระภิกษุสงฆ์) ต่างก็ได้บุญทั้ง 2 ฝ่าย
บุญจากการทอดกฐินเป็นบุญพิเศษ ที่ทำได้ยากกว่าบุญอื่น ด้วยสาเหตุหลายประการ ดังนี้ คือ
1.) จำกัดด้วยเวลา คือต้องถวายภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษา
2.) จำกัดชนิดทาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอื่นไม่ได้
3.) จำกัดคราว คือ แต่ละวัดรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
4.) จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุรับกฐินได้จะต้องจำพรรษาที่วัดนั้นครบไตรมาส (3 เดือน) และจะต้องมีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป
5.) จำกัดงาน คือ เมื่อพระภิกษุรับผ้ากฐินแล้ว จะต้องกรานกฐินให้เสร็จภายในวันนั้น
6.) จำกัดของถวาย คือ ไทยธรรมที่ถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น โดยทั่วไปนิยมใช้สังฆาฏิ ไทยธรรมอื่นจัดเป็นบริวารกฐิน เกิดจากพุทธประสงค์ พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้ากฐินเพื่อผลัดเปลี่ยนไตรจีวรเก่า แต่ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้อนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาต ถวายผ้าอาบน้ำฝน
กฐินทาน คือ การถวายผ้าให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ได้ดำรงตนอยู่ในกรอบแห่งศีล สมาธิ(Meditation) และปัญญา ผ่านการอยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝน ณ อารามใดอารามหนึ่ง นับว่าเป็นกาลทานอันยิ่งใหญ่ ย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์มากมายแก่ผู้ทอดถวาย
คำว่า กฐิน แปลว่า สะดึง หมายถึง ไม้ที่ใช้สำหรับขึงผ้าให้ตึง มีทั้งรูปสี่เหลี่ยม และรูปวงกลม เมื่อขึงผ้าด้วยสะดึงแล้วจะทำให้เย็บผ้าได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกความหมายหนึ่งนั้น หมายเอาผ้าจีวรที่ถวายแด่พระสงฆ์ที่อยู่ประจำอารามจนครบพรรษา คำว่า ทอดกฐิน จึงหมายถึง การน้อมนำผ้าจีวรมาวางทอดลง เพื่อถวายแด่ภิกษุสงฆ์ มิได้เจาะจงแก่ภิกษุรูปใด เทศกาลทอดกฐินจะเรียกอีกแบบ คือ ฤดูกาลเปลี่ยนผ้าใหม่ของพระภิกษุ โดยในอดีตกาล ยุคต้นที่พระพุทธศาสนาเริ่มบังเกิดขึ้น ผ้าที่ภิกษุได้มานั้นเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหรือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพในป่าช้า หรือผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกองหยากเยื่อ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผ้าในยุคนั้นเป็นของมีค่าหาได้ยาก การที่ภิกษุแสวงหาผ้าที่ไม่มีผู้หวงแหน นำมาใช้นุ่งห่ม จึงแสดงถึงความสันโดษมักน้อยของนักบวชผู้มุ่งแสวงหาทางหลุดพ้น
อีกประการหนึ่ง จะได้ไม่เป็นที่หมายปองของพวกโจร จะได้ไม่ถูกขโมยหรือถูกโจรปล้นชิงไป เพราะผู้คนในสมัยนั้น รังเกียจผ้าผุปะหรือผ้าเก่าๆ ถือว่าเป็นผ้าเสนียด จึงไม่มีใครอยากได้ แต่มาภายหลังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับผ้าที่คหบดีนำมาถวายได้ เนื่องจากหมอชีวกได้กราบทูลเพื่อที่จะถวายผ้าแด่พระภิกษุ เพราะเห็นว่าพระภิกษุทั้งหลายมีความลำบากในการแสวงหาผ้าเป็นอย่างยิ่ง
รูปแบบของจีวรนั้น เกิดขึ้นจากพระดำริของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือ ครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงชี้ให้พระอานนท์แลดูคันนาของชาวมคธ และให้ออกแบบตัดเย็บโดยใช้แผ่นผ้าหลายชิ้นนำมาเย็บต่อๆ กันเป็นขันธ์ คล้ายคันนา เพื่อให้เป็นผ้ามีตำหนิไม่มีใครอยากได้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้จีวรมี 5 ขันธ์ขึ้นไป สำหรับจีวรในปัจจุบันมี 5 ขันธ์นับเฉพาะแนวตั้ง เรียกว่า มณฑล ส่วนขันธ์ย่อยเรียกว่า อัฑฒมณฑล
จีวรที่พระภิกษุใช้สอยกันในสมัยก่อนนั้น จะต้องวัดแต่ละชิ้นให้ได้สัดส่วน แล้วทำการตัดเย็บและย้อมเองซึ่งเป็นเรื่องยากและลำบากอย่างยิ่งสำหรับพระภิกษุ โดยวัสดุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้นำมาย้อมผ้าจีวรได้ คือ
1.รากไม้
2.ต้นไม้
3.ใบไม้
4.ดอกไม้
5.เปลือกไม้
6.ผลไม้
สีของจีวรที่นิยมนำมาทำเป็นผ้ากฐิน สีที่นิยมใช้ คือ สีเหลืองเจือแดง สีเหลืองหม่น หรือสีกรัก ส่วนสีที่ห้ามใช้ได้แก่ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีแสด สีชมพู และสีดำ
เมื่อเย็บและย้อมเสร็จแล้วก็ต้องอธิษฐานให้เป็นผ้าครองต่อไป แต่ก่อนจะนำมานุ่งห่มก็จะต้องพิจารณาผ้าเสียก่อนจึงจะนำมาใช้ได้ โดยเมื่อสำเร็จเป็นจีวรแล้ว พระภิกษุจะใช้สอยและเก็บรักษาเป็นอย่างดี เพราะถือว่าผ้าจีวรนั้นเป็นธงชัยของพระอรหันต์ เมื่อพระภิกษุได้ผ้าจีวรผืนใหม่แล้ว ผ้าผืนเก่าก็จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น นำมาทำเป็นผ้าดาดเพดาน เมื่อผ้าดาดเพดานเก่าก็จะนำมาทำเป็นผ้าปูที่นอนหรือผ้าปูฟูก ผ้าปูที่นอนผืนนั้นเมื่อเก่าแล้วก็จะนำมาทำเป็นผ้าปูพื้น ผ้าปูพื้นที่เก่าแล้วก็จะนำมาทำเป็นผ้าเช็ดเท้า ผ้าเช็ดเท้าที่เก่าแล้วก็จะนำมาทำเป็นผ้าเช็ดธุลี ผ้าเช็ดธุลีที่เก่าแล้วก็จะนำมาโขลกให้แหลกแล้วขยำกับโคลน เพื่อฉาบทาฝากุฏิ
ดังนั้น ผ้ากฐินที่ได้ถวายพระภิกษุสงฆ์ไปแล้ว ย่อมเกิดประโยชน์สูงสุด จึงก่อให้เกิดอานิสงส์แก่ผู้ทอดถวายมากมาย
ประวัติการรับผ้ากฐิน
สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ จำนวน 30 รูป เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวัน แต่เมื่อถึงเมืองสาเกตุยังไม่ทันถึงกรุงสาวัตถีก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน จึงต้องเข้าจำพรรษาในระหว่างทาง ในระหว่างนั้น ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐมีใจระลึกถึงพระพุทธองค์ว่า “เราแม้อยู่ห่างจากสาวัตถีเพียงหกโยชน์ แต่พวกเรากลับไม่ได้เข้าเฝ้าพระองค์”
ครั้นล่วงสามเดือนแล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้ทำการปวารณาซึ่งกันและกันในวันมหาปวารณา ในตอนนั้นแม้ออกพรรษาแล้ว แต่ฝนยังตกอยู่ พื้นดินชุ่มไปด้วยน้ำและโคลน ภิกษุเหล่านั้นรีบเร่งเดินทางเพื่อไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทำให้สบงจีวรที่ท่านนุ่งห่มเปียกปอนเปรอะเปื้อนและเปื่อยขาด กว่าจะเดินทางมาถึงวัดพระเชตวันก็ได้รับความลำบากเป็นอย่างมาก ครั้นถึงวัดพระเชตวันแล้ว ยังมิทันได้พักเลย ภิกษุเหล่านั้นก็รีบเข้าไปกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งจีวรที่ชุ่มไปด้วยน้ำ เปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลน
พระพุทธองค์ทรงตรัสถามภิกษุเหล่านั้นในเรื่องความเป็นอยู่และสุขภาพร่างกายว่า “จำพรรษากันผาสุกดีอยู่หรือ ทะเลาะวิวาทกันบ้างหรือไม่ อาหารบิณฑบาตพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ”
ภิกษุทั้งหลายได้ทูลตอบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “จำพรรษาด้วยความผาสุก พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ยังมีความพร้อมเพรียงกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกันและไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นจีวรของภิกษุทั้งหลายเก่าและขาด จึงทรงมีพุทธานุญาตให้รับผ้ากฐินได้ แต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียงหนึ่งเดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว โดยให้ภิกษุที่ได้รับผ้ากฐินแล้วได้อานิสงส์ 5 ประการ คือ
อานิสงส์กฐินสำหรับพระ
1.เที่ยวไปสู่ที่สงัด เพื่อแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมได้ตามสะดวก โดยไม่ต้องบอกลา
2.เที่ยวไปได้ โดยไม่ต้องนำผ้าไตรจีวรไปครบสำรับ
3.ฉันคณะโภชนะได้ คือ ฉันภัตตาหารร่วมโต๊ะหรือร่วมวงฉันด้วยกันได้
4.ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา คือ รับผ้าจีวรได้มากผืน
5.จีวรที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ คือ หากได้ผ้าจีวรมาเพิ่มอีก ก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้ไม่ต้องเข้าส่วนกลาง