สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส

วันที่ 20 มค. พ.ศ.2565

650122_01.jpg

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕


คำแปลพระบาลีในพุทธบัญญัติ

        “อนึ่ง ภิกษุใดชักสื่อ คือบอกความประสงค์ของชายแก่หญิงก็ดี บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายก็ดี ในความเป็นภรรยาก็ตาม ในความเป็นชู้ก็ตาม โดยที่สุดบอกแม้แก่หญิงแพศยาอันจะพึงอยู่กันชั่วขณะ เป็นสังฆาทิเสส”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
        “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า ชักสื่อ หมายถึงถูกฝ่ายหญิงวานไปหาฝ่ายชาย หรือถูกฝ่ายชายวานไปหาฝ่ายหญิงคือนำความประสงค์ของหญิงหรือชายไปบอกแก่หญิงหรือชายอีกฝ่ายหนึ่งว่าต้องการให้ไปเป็นสามีหรือเป็นภรรยา ได้แก่ทำตัวเป็นเถ้าแก่ชักสื่อให้ชายหญิงได้กัน
        คำว่า บอกความประสงค์ของชายแก่หญิง หมายถึงแจ้งความปรารถนาของฝ่ายชายแก่ฝ่ายหญิง
        คำว่า บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชาย หมายถึงแจ้งความปรารถนาของฝ่ายหญิงแก่ฝ่ายชาย
        คำว่า ในความเป็นภรรยา คือ ต้องการให้เป็นภรรยา
        คำว่า ในความเป็นชู้คือ ต้องการให้เป็นชู้รักคือเป็นสามี
        คำว่า หญิงแพศยา คือหญิงขายบริการอันจะพึงอยู่ร่วมกันชั่วขณะได้แก่หญิงที่เป็นภรรยาชั่วคราว

องค์แห่งการชักสื่อ
        การชักสื่อโดยปกติย่อมสำเร็จได้และทำให้ต้องอาบัติตามสิกขาบทนี้ ต้องประกอบด้วยองค์แห่งการชักสื่อ ๓ ประการคือ
        (๑) รับคำของผู้วาน
        (๒) ไปบอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
        (๓) กลับไปบอกแก่ผู้วาน
        แต่ในกรณีชักสื่อหรือบอกแก่หญิงแพศยาย่อมสำเร็จได้ด้วยองค์ ๒ เท่านั้น เช่นชายวานภิกษุให้ไปบอกหญิงขายบริการ ภิกษุรับคำแล้วไปบอกแก่หญิงบริการนั้น แม้ไม่กลับมาบอกแก่ชายนั้นอีก ความปรารถนาของเขาก็สำเร็จได้แล้ว ดังนั้น การต้องอาบัติสังฆาทิเสสตามสิกขาบทนี้ย่อมมีได้ด้วยองค์แห่งการชักสื่อ ๒ ประการข้างต้นเท่านั้น

องค์แห่งอาบัติ
        ในสิกขาบทนี้ท่านวางเกณฑ์การตัดสินว่าต้องอาบัติอะไรอย่างไรไว้เป็นหลัก ดังนี้
        (๑) ถ้าเขาวาน ภิกษุรับคำ เป็นอาบัติถุลลัจจัยไปบอกแก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นสังฆาทิเสส
        (๒) ถ้าเขามิได้วาน ภิกษุจัดการเอง ไปบอกแก่ชายหรือหญิงฝ่ายแรก เป็นถุลลัจจัย ไปบอกแก่ชายหรือหญิงฝ่ายที่สอง เป็นสังฆาทิเสส
        (๓)ผู้วาน เป็นเจ้าตัวโดยเป็นชายหรือหญิงก็ตาม เป็นมารดาบิดาหรือเป็นผู้ใหญ่ชองชายหรือหญิงก็ตาม เมื่อเขาวาน ภิกษุรับคำไปบอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเจ้าตัวก็ตาม เป็นบิดามารดา หรือเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส
        กรณีเช่นนี้จะทำเองหรือสั่งให้ผู้อื่นทำแทนตนก็ตาม ก็ต้องสังฆาทิเสสเหมือนกัน
        (๔) เขาวานภิกษุหลายรูป ทุกรูปรับคำแล้วแต่เวลาไปบอกไปบอกแม้เพียงรูปเดียว ต้องสังฆาทิเสสพร้อมกันทั้งหมด
        (๕) ภิกษุรูปหนึ่งไม่รู้ชักโยงสามีภรรยาซึ่งหย่าขาดกันแล้วให้กลับคืนดีกันใหม่ ท่านว่าไม่ต้องอาบัติ
        (๖) ภิกษุรูปหนึ่งรู้อยู่ว่าโยมบิดากับมารดาหย่าขาดกันแล้วถูกบิดาขอร้องให้ไปบอกโยมมารดาได้กลับมาปรนนิบัติตนเหมือนเดิมภิกษุไปบอกตามนั้น เป็นสังฆาทิเสส
        (๗)สามีภรรยาโกรธกันแล้วแยกกัน ต่างคนต่างอยู่ แต่มิได้หย่าขาดกัน ภิกษุพูดชักโยงให้คืนดีกัน ไม่ต้องอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
        สิกขาบทนี้หมายถึงการที่ภิกษุประพฤติทำตัวเป็นผู้ชักสื่อให้ชายหญิงได้อยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยา หรือให้ชายได้เสพสมกับหญิงขายบริการ ด้วยมีประสงค์จะให้ตนเป็นที่เคารพนับถือ เป็นที่ไว้วางใจ หรือได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่ยอมตัวมาเป็นเถ้าแก่ให้ทำให้มีพวกพ้องบริวารมากขึ้น หรือด้วยวัตถุประสงค์อย่างอื่น ซึ่งการประพฤติอย่างนี้ย่อมไม่เหมาะไม่ควร เพราะย่อมได้รับการตำหนิจากผู้รู้ทั้งหลายก็ได้ว่าผู้เป็นสมณะสละทางโลกแล้วต้องเป็นผู้ไม่ขวนขวาย ต้องเป็นผู้ไม่พยายามทำงานเช่นนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุเข้าไปก้าวก่ายในเรื่องการเป็นอยู่ฉันสามีภรรยาซึ่งเป็นเรื่องทางโลกซึ่งละเอียดอ่อน ต้องการให้เป็นกลาง เพราะการอยู่กันเป็นครอบครัวนั้นเป็นเรื่องของจิตใจเป็นหลัก หากเกิดจากการชักสื่อแต่ไม่สมัครใจ ยอมอยู่ด้วยกันตามคำของผู้ใหญ่ สุดท้ายอาจต้องหย่าขาดกัน หรืออยู่ทนทุกข์หวานอมขมกลืนไปด้วยกัน ยิ่งผู้ชักสื่อเป็นภิกษุผู้ใหญ่ที่ตนนับถือหรือเป็นญาติผู้ใหญ่ด้วย เมื่อมาชักสื่อก็ยอมทำตามด้วยเกรงใจ แต่ไม่สมัครใจอยู่ด้วยกันนัก หากจำต้องแยกทางกัน ผู้ชักสื่อก็อาจถูกตำหนิและไม่นับถือกันต่อไป
        อนึ่ง เพื่อให้ภิกษุวางตัวเป็นหลักไม่ใช่เป็นคนรับใช้คฤหัสถ์ไม่ใช่เป็นคนเข้ากี้เจ้าการเที่ยวชักสื่อให้เขาเป็นผัวเมียกัน ไม่ใช่เป็นคนไปไกล่เกลี่ยให้เขาคืนดีกันอีกเมื่อเขาตกลงหย่าขาดกันไปแล้ว เป็นต้น เพราะการทำเช่นนั้นย่อมทำให้เกิดผลเสียตามมา แม้จะมีข้อดีบ้าง ได้รับความสำเร็จในทางดีบ้าง แต่ก็ทำให้เสียเวลา เสียโอกาสในการประพฤติพรหมจรรย์จึงทรงบัญญัติห้ามไว้

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุผู้ไปด้วยกรณียกิจของสงฆ์ก็ดีของเจดีย์ก็ดีของภิกษุผู้อาพาธก็ดีเช่นในวัดมีงานก่อสร้างอยู่หรือมีงานซ่อมเจดีย์อยู่ อุบาสกวานภิกษุไปยังสำนักอุบาสิกา หรืออุบาสิกาวานภิกษุไปยังสำนักของอุบาสก เพื่อขออาหารหรือค่าแรงสำหรับคนงานในกิจนั้น เมื่อภิกษุไปด้วยกรณียะของสงฆ์เช่นนั้น ไม่ต้องอาบัติหรือได้รับการขอร้องวานไปเพื่อต้องการยาสำหรับภิกษุอาพาธก็เช่นกัน (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต(๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือผู้เป็นอาทิกัมมิกะได้แก่พระอุทายี

วินีตวัตถุ
        วินีตวัตถุ ได้แก่เรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล และทรงตัดสินแล้วว่าเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติเช่นเรื่องต่อไปนี้
        - ภิกษุรูปหนึ่งถูกชายคนหนึ่งวานให้ไปบอกหญิงคนชื่อนี้ว่าต้องการนางมาเป็นคู่ครอง ภิกษุรับคำวานแล้วไปถามหาหญิงคนชื่อนั้นว่าอยู่ที่ไหนทราบว่านางได้ตายไปแล้ว ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแต่ต้องอาบัติทุกกฏ
        - ภิกษุรูปหนึ่งถูกชายคนหนึ่งวานให้ไปบอกหญิงชื่อนี้ว่าอย่างนี้ภิกษุนั้นรับคำวานแล้วไปหาหญิงชื่อนั้น ได้ทราบว่านางย้ายบ้านไปแล้ว ทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฏ
        - ภิกษุรูปหนึ่งชักโยงหญิงคนหนึ่งซึ่งทะเลาะกับสามีแล้วกลับไปอยู่ที่บ้านมารดาให้กลับมาคืนดีกันกับสามีทรงตัดสินว่า ไม่ต้องอาบัติอะไร เพราะเขายังมิได้หย่าขาดกัน

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.041803367932638 Mins