สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส

วันที่ 11 มค. พ.ศ.2565

650113_02.jpg

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๔

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

          “อนึ่ง ภิกษุใดถูกราคะครอบงำแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว กล่าวคุณแห่งการบำเรอความใคร่ของตนในสำนักมาตุคาม ด้วยถ้อยคำพาดพิงเมถุนว่า น้องหญิง หญิงใดบำเรอผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรมเช่นเรา ด้วยธรรมนั่น การบำเรอของหญิงนั้นนั่นเป็น ยอดแห่งการบำเรอทั้งหลาย เป็นสังฆาทิเสส”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
         คำว่า ถูกราคะครอบงำแล้ว หมายถึงมีความกำหนัด มีความเพ่งเล็ง มีจิตปฏิพัทธ์
         คำว่า มีจิตแปรปรวนแล้ว หมายถึงมีจิตที่กำหนัดแล้ว
         คำว่า มาตุคาม หมายถึงหญิงมนุษย์ไม่ใช่นางยักษ์ไม่ใช่หญิงเปรต
ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานเพศเมียเป็นหญิงที่รู้เดียงสาสามารถทราบถึงถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ทุพภาษิต คำชั่วหยาบ และคำสุภาพได้

         คำว่า ในสำนักมาตุคาม คือในที่ใกล้มาตุคาม ในที่ไม่ห่างมาตุคามได้แก่พูดกับมาตุคาม
         คำว่า บำเรอ หมายถึงทำให้ยินดียิ่ง ทำให้รื่นเริงยิ่ง
         คำว่า ด้วยถ้อยคำพาดพิงเมถุน คือ ด้วยถ้อยคำที่เกี่ยวด้วยเมถุนธรรมคือการเสพกาม
         คำว่า ความใคร่ของตน หมายถึงความอยากของตน ความประสงค์ของตน การบำเรอแก่ตน
         คำว่า มีศีล คือ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากมุสาวาท
         คำว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ คือ ผู้เว้นขาดจากเมถุนธรรม
         คำว่า มีกัลยาณธรรม คือ เป็นผู้มีธรรมอันงาม เพราะมีศีลและประพฤติพรหมจรรย์เช่นนั้น
         คำว่า ด้วยธรรมนั้น หมายถึงด้วยเมถุนธรรม

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
         สิกขาบทนี้หมายถึงการที่ภิกษุมีความกำหนัดพูดล่อ หรือพูดแนะนำ หรือพูดชักชวนให้หญิงบำเรอตนด้วยกามอันเกี่ยวเนื่องด้วยเมถุนธรรม ตามที่ตนใคร่ที่ตนปรารถนา อันเป็นประโยชน์แก่ตน ทำให้ตนรื่นรมย์ยินดี

         การกล่าวให้หญิงบำเรอตนด้วยกามลักษณะนี้ถือว่าเป็นการชักนำหญิงที่มีศรัทธาแต่ไม่รู้ซึ้งให้หลงเชื่อเป็นการหลอกลวง เป็นการเห็นแก่ตัวของภิกษุเป็นเหตุให้คิดหมกมุ่นอยู่กับกามารมณ์จนไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์ให้สมบูรณ์ได้

         สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุฟุ้งซ่าน ปล่อยสติประพฤติเหลาะแหละด้วยการพูดจาไร้ยางอาย ให้สำรวมระวังคำพูด มีความรู้สึกละอายใจที่จะพูดชักชวนให้หญิงบำเรอตนทางกามารมณ์โดยตรงหรือโดยอ้อม ทั้งนี้เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของสงฆ์ไว้และเพื่อรักษาพระศาสนาไว้

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุผู้กล่าวว่าขอท่านจงบำรุงด้วยจีวร บิณฑบาตเสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารดังนี้เป็นต้น (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือผู้เป็นอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุทายี

วินีตวัตถุ
         วินีตวัตถุ ได้แก่เรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล และทรงตัดสินแล้วว่าเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติเช่นเรื่องต่อไปนี้
         - ภิกษุรูปหนึ่งถูกหญิงหมันผู้อุปถัมภ์ตนอยู่ถามว่า ทำไฉนจึงจะมีบุตรได้ภิกษุตอบว่า จงถวายทานที่เลิศ นางถามว่า ทานที่เลิศคืออย่างไร
ภิกษุตอบว่า คือเมถุนธรรม ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งถูกหญิงผู้อุปถัมภ์ตนอยู่ถามว่า ทำไฉนจึงจะมีโชคดีภิกษุตอบว่า จงถวายทานที่เลิศ นางถามว่า ทานที่เลิศคืออะไร ภิกษุตอบว่าคือเมถุนธรรม ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งถูกหญิงที่คุ้นเคยถามว่าดิฉันจะอุปัฏฐากพระคุณเจ้าด้วยอะไรดีภิกษุตอบว่า จงถวายทานอันเลิศ นางถามว่า ทานที่เลิศคืออะไรภิกษุตอบว่า คือเมถุนธรรม ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว

         - ภิกษุรูปหนึ่งถูกหญิงผู้ใจบุญถามว่า ทำไฉนจึงจะได้ไปสู่สุคติภิกษุตอบว่า ต้องถวายทานที่เลิศ นางถามว่า ทานที่เลิศคืออะไร ภิกษุตอบว่าคือเมถุนธรรม ทรงตัดสินว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว.

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.054170914491018 Mins