มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุขุดเองก็ดีใช้ให้ผู้อื่นขุดก็ดีซึ่งแผ่นดิน ต้องปาจิตตีย์

วันที่ 26 พค. พ.ศ.2565

มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุขุดเองก็ดีใช้ให้ผู้อื่นขุดก็ดีซึ่งแผ่นดิน ต้องปาจิตตีย์

มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑๐

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “อนึ่ง ภิกษุใดขุดเองก็ดี ให้ขุดก็ดี ซึ่งแผ่นดิน เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
        “ภิกษุขุดเองก็ดีใช้ให้ผู้อื่นขุดก็ดีซึ่งแผ่นดิน ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า แผ่นดิน ท่านอธิบายความหมายไว้ว่า ได้แก่ แผ่นดิน ๒ ประเภท คือ
        - ชาตปฐพี คือ แผ่นดินแท้ ได้แก่ แผ่นดินที่มีดินร่วนล้วน มีดินเหนียวล้วน มีหิน มีกรวด มีกระเบื้อง มีแร่ มีทราย ปนอยู่น้อย มีดินมาก แม้
ดินที่ยังมิได้เผาไฟก็เรียกว่าแผ่นดินแท้แม้กองดินร่วนก็ดีกองดินเหนียวก็ดีที่มีฝนตกรดเกิน ๔ เดือนมาแล้ว ก็เรียกว่าแผ่นดินแท้
        - อชาตปฐพี คือ แผ่นดินไม่แท้ ได้แก่ แผ่นดินที่เป็นหินล้วน เป็นกรวด เป็นกระเบื้อง เป็นแร่ เป็นทรายล้วน มีดินร่วนน้อย มีดินเหนียวน้อย มีหินมาก มีกรวด มีกระเบื้อง มีแร่ มีทรายมาก แม้ดินที่เผาไฟแล้ว ก็เรียกว่าแผ่นดินไม่แท้แม้กองดินร่วนก็ดีกองดินเหนียวก็ดีที่ฝนตกรดต่ำกว่า ๔ เดือนก็เรียกว่าแผ่นดินไม่แท้


เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้โดยทรงมีความมุ่งหมายที่สำคัญคือมิให้ภิกษุไปทำลายชีวิตสัตว์ที่มีอยู่ในดินตามปกติเช่น ไส้เดือน และสัตว์อื่นๆ เมื่อภิกษุไปขุดแผ่นดินย่อมทำให้สัตว์ตายไป เป็นการทำลายชีวิตสัตว์ไป

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
        (๑) ภิกษุกล่าวว่า ท่านจงรู้ดินนี้ท่านจงให้ดินนี้ท่านจงนำดินนี้มา เรามีความต้องการด้วยดินนี้ท่านจงทำดินนี้ให้เป็นกัปปิยะ 
        (๒) ภิกษุไม่แกล้ง 
        (๓) ภิกษุทำเพราะไม่มีสติ
        (๔) ภิกษุผู้ไม่รู้
        (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต หรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013574322064718 Mins