สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑ ภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น ต้องสังฆาทิเสส

วันที่ 01 กพ. พ.ศ.2565

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑ ภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น ต้องสังฆาทิเสส

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑

คำแปลพระบาลีในพุทธบัญญัติ

       “อนึ่ง มีภิกษุผู้ประพฤติตามพูดเข้าข้างภิกษุนั้นแล ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวอะไรภิกษุนั่น ภิกษุนั่นกล่าวถูกธรรม ภิกษุนั่นกล่าวถูกวินัย และภิกษุนั่นถือเอาความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้าแล้วจึงกล่าว เธอทราบความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้าจึงกล่าว การกระทำของเธอนั่นย่อมชอบใจแม้แก่พวกข้าพเจ้า ภิกษุเหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุนั่นไม่ใช่เป็นผู้กล่าวถูกธรรม ภิกษุนั่นไม่ใช่เป็นผู้กล่าวถูกวินัย การทำลายสงฆ์อย่าได้ชอบใจพวกท่านเลย ขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงกับสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน มีอุทเทสเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุกแล ภิกษุเหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุเหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละการกระทำนั้นเสีย หากเธอทั้งหลายถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ ยอมสละการกระทำเสียได้ การสละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอทั้งหลายไม่ยอมสละ เป็นสังฆาทิเสส”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้นถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
          คำว่า ผู้ประพฤติตาม คือ ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์เห็นอย่างไร ชอบใจอย่างไร พอใจอย่างไร แม้ภิกษุเหล่านั้นก็เห็นอย่างนั้น ชอบใจอย่างนั้น พอใจอย่างนั้น
          คำว่า พูดเข้าข้าง คือดำรงอยู่ในพวกในฝ่ายภิกษุ (ผู้ทำลายสงฆ์) นั้น

       สิกขาบทนี้แสดงถึงการที่มีภิกษุผู้ไม่รู้เท่าทันความคิดของผู้ทำลายสงฆ์ยอมเข้าไปเป็นพวกด้วย ยกย่องสนับสนุนผู้ทำลายสงฆ์นั้น โดยขาดความรู้จริงขาดความรอบคอบ ไม่คิดในด้านบวกในด้านลบไปพร้อมกันเพื่อชั่งน้ำหนักว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรควรอะไรไม่ควร ทำให้สงฆ์เกิดการแตกแยกจึงทรงบัญญัติเป็นข้อห้ามไว้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
          สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อเตือนสติภิกษุให้รอบคอบ คิดเป็น และให้มองกว้างๆ ถึงการกระทำของภิกษุด้วยกันว่าเหมาะไม่เหมาะอย่างไรจะได้ไม่หลงเพลิดเพลินยินดีไปเข้าข้างและติดตามไปเป็นบริวารลูกน้องโดยไม่ลังเลซึ่งเป็นการส่อให้รู้ว่าเป็นคนหูเบา เชื่อง่าย หลอกง่ายขาดสติปัญญาไตร่ตรองอันเป็นการตัดความเจริญในการประพฤติพรหมจรรย์ของตนไปโดยปริยาย

อนาปัตติวาร

      ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์ (๒) ภิกษุผู้สละเสียได้ (๓) ภิกษุผู้วิกลจริต (๔) ภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน (๕) ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระโกกาลิกะ และคณะ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035130683581034 Mins