สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุพากเพียรเพื่อจะทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ต้องสังฆาทิเสส

วันที่ 26 มค. พ.ศ.2565

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุพากเพียรเพื่อจะทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ต้องสังฆาทิเสส

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐

คำแปลพระบาลีในพุทธบัญญัติ

       “อนึ่ง ภิกษุใดพากเพียรเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน หรือถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุให้แตกกัน ยกย่องกันอยู่ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่าท่านอย่าได้พากเพียรเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน หรืออย่าได้ถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุให้แตกกัน ยกย่องกันอยู่ ขอท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน มีอุทเทสเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุกแล ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องยันอยู่อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละการกระทำนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ ยอมสละการกระทำนั้นเสียได้ การสละได้อย่างนี้ นั่นเป็น การดี หากเธอไม่ยอมสละ เป็นสังฆาทิเสส”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุพากเพียรเพื่อจะทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ภิกษุอื่น ห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้นถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า พากเพียรเพื่อทำลายสงฆ์ คือ แสวงหาพวก จับกลุ่มกันด้วยหมายมั่นว่า ทำไฉนภิกษุเหล่านี้จะพึงแตกกัน พึงแยกกัน พึงเป็นพรรคกัน
       คำว่า อธิกรณ์อันเป็นเหตุให้แตกกัน ได้แก่ เรื่องอันเป็นเหตุให้แตกแยกกัน ๑๘ ประการ
       คำว่า ยกย่องยันอยู่ ได้แก่ แสดง ไม่ยอมสละ
       คำว่า สมนุภาสน์ หมายถึงการสวดประกาศห้ามไม่ให้ถือรั้นการอันมิชอบ ให้เลิกละการกระทำนั้นเสีย
คำนี้เป็นชื่อบทสวดทางพระวินัย

อาการที่เป็นอาบัติ
       การทำลายสงฆ์ให้แตกกันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีข้อปลีกย่อยมากเป็นเรื่องที่สงฆ์จะต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน ทั้งในการสอดส่องดูแล ในการป้องกัน ในการบอกกล่าว ในการแนะนำตักเตือน ในการห้ามปราม จนในที่สุดในการกำจัดแก้ไข ซึ่งในแต่ละอย่างหากเพิกเฉย ท่านปรับเป็นอาบัติเพราะจะมีผลกระทบทำให้เกิดความบานปลายถึงทำให้สงฆ์แตกกันขึ้นได้
       ท่านแสดงอาการที่เป็นอาบัติไว้ดังนี้
       (๑) หากมีกระแสว่าจะมีภิกษุทำลายสงฆ์เป็นหน้าที่ของภิกษุผู้รู้เรื่องจะพึงห้ามปราม ถ้าไม่ห้าม ต้องอาบัติทุกกฏ
       (๒) ถ้าห้ามปรามแล้วไม่เชื่อฟัง พึงนำตัวมายังท่ามกลางสงฆ์ว่ากล่าวอีก ๓ ครั้ง ถ้ายังขัดขืนอยู่ พึงสวดสมนุภาสน์คือประกาศห้ามด้วย
อาณัติสงฆ์ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ตามแบบที่ท่านกำหนดไว้ถ้าภิกษุผู้เป็นตัวการทำลายสงฆ์สละเสียได้ในคราวแรกๆ จัดว่าเป็นการดีถ้าไม่สละต้องอาบัติทุกกฏทุกคราว
       (๓) ถ้าสวดจนจบญัตติคือคำเผดียงสงฆ์จบอนุสาวนาคือคำหารือตกลงของสงฆ์ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ยังไม่สละ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
       (๔) สวดจบอนุสาวนาครั้งที่ ๓ อันเป็นครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
       (๕) ในกรรมอันเป็นธรรม ภิกษุผู้เป็นตัวการเข้าใจถูกก็ดีแคลงใจอยู่ก็ดีเข้าใจผิดก็ดีไม่ยอมสละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
       ในกรณีเช่นนี้ในกรรมไม่เป็นธรรม ท่านว่า ต้องอาบัติทุกกฏ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
       การทำลายสงฆ์ เรียกว่า สังฆเภท เป็นกรรมหนัก มีโทษหนัก และจัดเป็นอนันตริยกรรมด้วย จึงทรงบัญญัติไว้ห้ามมิให้ภิกษุกระทำ
       การทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันจะสำเร็จถึงความเป็นสังฆเภท ก็ต่อเมื่อสงฆ์ได้แตกแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่าจนกระทั่งไม่ทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน
       สิกขาบทนี้เป็นเรื่องการทำลายสงฆ์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ มีผลกระทบมากมาย เป็นเรื่องพิเศษที่เกี่ยวกับความต้องการมีอำนาจต้องการเป็นใหญ่เป็นเรื่องของความมักใหญ่ใฝ่สูงจนเกินเหตุ จนถึงดิ้นรนพยายามที่เรียกว่าตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์แม้จะถูกตักเตือนให้เลิกคิดเลิกกระทำนั้นแล้วก็ยังถือรั้น และอ้างเหตุผลชักชวนผู้อื่นให้เข้าพวก ซึ่งผู้ไม่รอบคอบก็หลงเชื่อยอมเข้าเป็นพวกด้วย เลยกลายเป็นผู้ทำกรรมเช่นนั้นร่วมกัน
       การทำลายสงฆ์เป็นการทำลายความสามัคคีของสงฆ์เพราะปกติสงฆ์ทั้งปวงนั้นเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นสมานสังวาส คือมีสังวาสการอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข มีจิตใจเสมอกัน ไม่แยกกันทางความคิด แสดงถึงความมีจิตสามัคคีและเป็นสมานสีมาฐิตะ คือเป็นผู้ตั้งอยู่ในสีมาเดียวกัน ไม่แยกกันทางกายแสดงถึงความมีกายสามัคคีและสงฆ์นั้นมีอุเทศ(คำสั่งสอน) เดียวกันคือปาฏิโมกขุทเทศ เป็นไปร่วมกัน ไม่แยกกัน

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์(๒) ภิกษุผู้สละเสียได้(๓) ภิกษุผู้วิกลจริต (๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่พระเทวทัต

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.043140602111816 Mins