สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุโกรธเคือง แกล้งหาเลสโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส

วันที่ 25 มค. พ.ศ.2565

650126_01.jpg

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๙

คำแปลพระบาลีในพุทธบัญญัติ
        “อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น อ้างเอกเทศ บางส่วนแห่งอธิกรณ์เรื่องอื่นพอเป็นเลส ใส่ความภิกษุด้วยอาบัติปาราชิก ด้วยหมายว่า ทำไฉนเราจึงจะยังเธอ ให้พ้นไปจากพรหมจรรย์ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้นเป็นเรื่องอื่นแท้ เอกเทศบางส่วนถูกเธออ้างพอเป็นเลส และภิกษุยืนยันความผิดอยู่ เป็นสังฆาทิเสส”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
        “ภิกษุโกรธเคือง แกล้งหาเลสโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า ขัดใจ มีโทสะ คือ โกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ แค้นใจ เจ็บใจ
        คำว่า ไม่แช่มชื่น คือ ไม่แช่มชื่นเพราะความโกรธนั้น เพราะโทสะนั้นเพราะความไม่พอใจนั้น เพราะความไม่ชอบใจนั้น
        คำว่า อธิกรณ์เรื่องอื่น คือ เป็นอาบัติส่วนอื่น หรือเป็นอธิกรณ์ส่วนอื่น
        คำว่า เลส หมายถึง ข้ออ้างอิง, สิ่งที่รู้กันในทีในที่นี้หมายถึงเลศ ๑๐ อย่าง ได้แก่ เลศคือชาติกำเนิด ๑ เลศคือชื่อ ๑ เลศคือวงศ์ตระกูล ๑ เลศคือลักษณะ ๑ เลศคืออาบัติ๑ เลศคือบาตร ๑ เลศคือจีวร ๑ เลศคือ อุปัชฌาย์๑ เลศคืออาจารย์๑ เลศคือเสนาสนะ ๑
        คำว่า ใส่ความ ได้แก่ โจทเองก็ตาม สั่งให้โจทก็ตาม
        คำว่า ทำไฉนจึงจะยังเธอให้พ้นไปจากพรหมจรรย์นี้ได้ คือ ให้พ้นไปจากภาวะภิกษุ ให้พ้นไปจากสมณธรรม ให้พ้นไปจากศีลขันธ์ให้พ้นไปจากคุณคือตบะ
        คำว่า อันผู้ใดผู้หนึ่งเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม คือ ภิกษุนั้นถูกใส่ความด้วยเรื่องใดจะมีคนเชื่อเรื่องนั้นก็ตาม ไม่มีคนเชื่อไม่มีใครพูดถึงภิกษุนั้นก็ตาม
        คำว่า อธิกรณ์ ได้แก่อธิกรณ์๔ อย่างคือวิวาทาธิกรณ์อนุวาทาธิ-กรณ์อาปัตตาธิกรณ์กิจจาธิกรณ์
        คำว่า เอกเทศบางส่วนพอเป็นเลศ คือ อ้างเลศอย่างใดอย่างหนึ่งในเลศ ๑๐ อย่างนั้นขึ้นมา
        คำว่า และภิกษุยืนยันความผิดอยู่ คือ ภิกษุกล่าวยอมรับว่าข้าพเจ้าพูดพล่อยๆ พูดเท็จ พูดไม่จริง ข้าพเจ้าไม่รู้ได้พูดไปแล้ว

ตัวอย่างการอ้างเลศโจท
        ในพระวินัยปิฎกตอนว่าด้วยสิกขาบทนี้ได้ยกตัวอย่างการอ้างเลศโจทไว้ครบทั้ง ๑๐ อย่าง ขอนำบางอย่างมาแสดงพอเป็นนัย คือ
        ที่ชื่อว่า เลศคือชาติกำเนิด อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุผู้มีวรรณะกษัตริย์ต้องอาบัติปาราชิก ครั้นเห็นภิกษุผู้เป็นวรรณะกษัตริย์รูปอื่นเข้า ได้โจทว่า ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุผู้เป็นวรรณะกษัตริย์ต้องอาบัติปาราชิกแล้วท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร อุโบสถก็ดีปวารณาก็ดีสังฆกรรมก็ดีไม่มีร่วมกับท่าน ดังนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด ....
        ที่ชื่อว่า เลศคือลักษณะ อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุร่างสูงต้องอาบัติปาราชิก ครั้นเห็นภิกษุร่างสูงรูปอื่นเข้า ได้โจทว่า ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุร่างสูงต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร อุโบสถก็ดีปวารณาก็ดีสังฆกรรมก็ดีไม่มีร่วมกับท่าน ดังนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด ....
        ที่ชื่อว่า เลศคืออุปัชฌาย์ อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์ชื่อนี้ต้องปาราชิก ครั้นเห็นสัทธิวิหาริกรูปอื่นของพระอุปัชฌาย์ชื่อนี้เข้า ได้โจทว่าข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์ชื่อนี้ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร อุโบสถก็ดีปวารณาก็ดีสังฆกรรมก็ดีไม่มีร่วมกับท่านดังนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด

        การโจทหรือใส่ความอย่างนี้ จัดเป็นการโจทหรือกล่าวหาโดยอ้างอธิกรณ์คืออาปัตตาธิกรณ์มาเป็นเลศ คือมาเป็นข้ออ้างอิงที่พอเชื่อถือได้
        สิกขาบทนี้เป็นเรื่องของการแส่หาเรื่องภิกษุอื่นเพื่อให้พ้นจากสมณเพศ โดยอ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ ไม่ตรงประเด็น ด้วยอำนาจความขัดใจ มีโทสะมีความไม่แช่มชื่นอยู่ในใจ แสดงถึงความเคียดแค้น อาฆาตมาดร้าย หรือความโกรธเคืองเป็นการส่วนตัว มิใช่เพื่อให้เกิดความสงบ เห็นจริงตามที่โจทเป็นเหตุให้เกิดความอลวนวุ่นวาย เกิดความไม่สงบความไม่สามัคคีขึ้นในหมู่คณะ ทำให้เสียเวลาในการพิจารณาตัดสิน จึงทรงปรับโทษเป็นอาบัติสังฆาทิ-เสสที่เป็นครุกาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุมีสติมีความระวังในการกล่าวหาภิกษุอื่น ต้องมีมูลจริงๆ และมีความหวังดีต้องการความสงบเรียบร้อยความงดงามในหมู่คณะ ไม่มีความลำเอียงอาฆาตมาดร้าย หรือมีจิตใจโกรธแค้นในใจเป็นต้นทุน ซึ่งการโจทด้วยข้อเท็จจริงอย่างนั้น จะโจทเองก็ตาม สั่งให้ผู้อื่นโจทก็ตาม ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
        ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุผู้สำคัญว่าเป็นอย่างนั้น โจทเองก็ดีสั่งให้ผู้อื่นโจทก็ดีคือมีความสำคัญว่าภิกษุนี้ต้องอาบัติปาราชิกจริงจึงได้โจท (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่พระเมตติยะและพระภุมมชกะ (สองคู่หูในหมู่ภิกษุฉัพพัคคีย์)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.04493553241094 Mins