สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุใดโกรธเคืองแกล้งโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องสังฆาทิเสส

วันที่ 22 มค. พ.ศ.2565

650123_02.jpg

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๘

คำแปลพระบาลีในพุทธบัญญัติ
         “อนึ่ง ภิกษุใดขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ใส่ความภิกษุด้วยอาบัติปาราชิกอันหามูลมิได้ ด้วยหมายว่า ทำไฉนเราจึงจะยังเธอให้พ้นไปจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อ ก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้นเป็นเรื่องหามูลมิได้ และภิกษุ ยืนยันความผิดอยู่ เป็นสังฆาทิเสส”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
        “ภิกษุใดโกรธเคืองแกล้งโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องสังฆาทิเสส”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า ขัดใจ มีโทสะ คือ โกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ แค้นใจ เจ็บใจ
        คำว่า ไม่แช่มชื่น คือ ไม่แช่มชื่นเพราะความโกรธนั้น เพราะโทสะนั้น เพราะความไม่พอใจนั้น เพราะความไม่ชอบใจนั้น
        คำว่า อันหามูลมิได้ คือ อันตนหรือคนอื่นไม่ได้เห็น ไม่ได้ได้ยิน ไม่ได้สงสัย
        คำว่า ใส่ความ ได้แก่ โจทเองก็ตาม สั่งให้โจทก็ตาม
        คำว่า ทำไฉนจึงจะยังเธอให้พ้นไปจากพรหมจรรย์นี้ได้ คือ ให้พ้นไปจากภาวะภิกษุ ให้พ้นไปจากสมณธรรม ให้พ้นไปจากศีลขันธ์ให้พ้นไปจาก คุณคือตบะ
        คำว่า อันผู้ใดผู้หนึ่งเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม คือ ภิกษุนั้นถูกใส่ความด้วยเรื่องใดจะมีคนเชื่อเรื่องนั้นก็ตาม ไม่มีคนเชื่อไม่มีใครพูดถึงภิกษุนั้นก็ตาม
        คำว่า อธิกรณ์ได้แก่อธิกรณ์๔ อย่างคือวิวาทาธิกรณ์อนุวาทาธิกรณ์อาปัตตาธิกรณ์กิจจาธิกรณ์
        คำว่า และภิกษุยืนยันความผิดอยู่ คือ ภิกษุกล่าวยอมรับว่าข้าพเจ้าพูดพล่อยๆ พูดเท็จ พูดไม่จริง ข้าพเจ้าไม่รู้ได้พูดไปแล้ว

แนวการปรับอาบัติในการโจท
        ในพระไตรปิฎก ตอนที่ว่าด้วยสิกขาบทนี้ ท่านแสดงแนวการปรับอาบัติในการโจทไว้ดังต่อไปนี้
        (๑) ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ขอโอกาสต่อเธอแล้วโจทเธอ หมายจะให้พ้นไปจากพรหมจรรย์ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติสังฆาทิเสส
        (๒) ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ขอโอกาสต่อเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะให้พ้นไปจากพรหมจรรย์ต้องอาบัติอาบัติสังฆาทิเสส
        (๓) ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ขอโอกาสต่อเธอแล้วโจทเธอ หมายจะด่า ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะเสียดสี
        (๔) ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ขอโอกาสต่อเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะด่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะเสียดสี
        (๕) ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ไม่ขอโอกาสต่อเธอแล้วโจทเธอ หมายจะด่า ต้องอาบัติทุกกฏ
        (๖) ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ไม่ขอโอกาสต่อเธอแล้วโจทเธอ หมายจะให้พ้นไปจากพรหมจรรย์ไม่ต้องอาบัติ
        (๗) ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ไม่ขอโอกาสเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะด่า ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะเสียดสี
        (๘) ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ขอโอกาสต่อเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะด่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะเสียดสี
        (๙) ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ไม่ขอโอกาสต่อเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะด่า ต้องอาบัติทุกกฏ
        (๑๐) ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ขอโอกาสต่อเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะให้พ้นไปจากพรหมจรรย์ไม่ต้องอาบัติ
        (๑๑) ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ไม่ขอโอกาสต่อเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะด่า ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะเสียดสี
        (๑๒) ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ขอโอกาสต่อเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะด่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะเสียดสี
        (๑๓) ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ขอโอกาสต่อเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะด่า ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติสังฆาทิเสส
        (๑๔) ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ขอโอกาสต่อเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะให้พ้นไปจากพรหมจรรย์ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
        (๑๕) ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ขอโอกาสต่อเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะด่า ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะเสียดสี
        (๑๖)ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ขอโอกาสต่อเธอก่อนแล้วโจทเธอ หมายจะด่าต้องอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะเสียดสี

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุอาศัยความโกรธไม่พอใจภิกษุอื่นแล้วแกล้งโจทด้วยอาบัติรุนแรง เพื่อให้ภิกษุนั้นพ้นไปจากความเป็นภิกษุซึ่งเป็นการแสดงถึงจิตใจที่เหี้ยมโหด ไม่มองในแง่ดีมองแต่ในแง่ร้ายทั้งที่ไม่เป็นจริงไม่มีจริง
        การโจทภิกษุอื่นด้วยข้อมูลเท็จนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายเมื่อไม่ละอายเมื่อขาดความรับผิดชอบ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็นเรื่องยุ่งยากในการพิจารณาความเพื่อลงโทษ หากเป็นเรื่องไม่จริง ย่อมเสียเวลาเปล่าโดยใช่เหตุ ด้วยเหตุนี้จึงทรงตัดต้นตอเสียด้วยการบัญญัติไว้ว่าเมื่อกล่าวหาภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกที่ไม่มีมูล เป็นอาบัติสังฆาทิเสส เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุใส่ความฟ้องร้องกันได้ง่าย

อนาปัตติวาร
        ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ (๑) ภิกษุจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ภิกษุผู้โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์(๒) ภิกษุจำเลยเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ภิกษุผู้โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ (๓) ภิกษุผู้วิกลจริต (๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือผู้เป็นอาทิกัมมิกะ ได้แก่พระเมตติยะกับพระภุมมชกะ (ภิกษุคู่หูกันอยู่ในหมู่ภิกษุฉัพพัคคีย์)

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.059102416038513 Mins