.....เป็นประสบการณ์การจาริกประเทศอินเดีย ของหลวงพ่อกัสสปมุนี เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ปิปผลิวนาราม จังหวัดระยอง ระหว่างปลายปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ ต่อต้นปี ๒๕๐๘ เวลาประมาณ ๕ เดือน ในคณะกอปรด้วยพระภิกษุและฆราวาส เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธคุณ และเพื่อปลงธรรมสังเวชในความแปรเปลี่ยนของสังขารทั้งหลาย
และจากการที่ได้ผู้มีความรอบรู้ในขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละท้องถิ่น บวกกับความชำนาญในภูมิประเทศ ทำให้ได้ประสบการณ์ชนิดที่ยังไม่เคยมีคนไทยผู้ใดได้นำมาบรรยายไว้ก่อนนี้เลยทีเดียว จากการได้ไปสมบุกสมบันในพื้นที่ และใช้ความสังเกตจดจำของหลวงพ่อท่าน
มีเรื่องราวดี ๆ อยู่มากมาย จัดแบ่งเป็น ๕ ภาคการนำเสนอ นับจากเมืองไทยไปชมพูทวีป ภาคที่ ๒ สู่ปาฏลีบุตร เที่ยวโบราณสถานพุทธศาสนา มุ่งสู่ฤาษีเกษเมืองแห่งนักพรต และออกจากฤาษีเกษกลับสู่เมืองไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ได้อ่านมาแล้วเป็นอันมาก ด้วยเนื้อหาและอรรถรสที่แปลกกว่าหนังสืออื่น
อาทิ วิธีการกราบพระพุทธรูปของพระชาวธิเบต ด้วยท่าท่าที่แสดงออกถึงความคารวะและศรัทธาแก่กล้าที่สุด ทำแบบซ้ำเป็นสิบ ๆ เป็นร้อย ๆ ครั้งก็ทำได้ อย่างไร หรือพลังอะไรที่ทำให้ขับเคลื่อนตู้รถไฟโบกี้เคลื่อนไปได้ ๓๐๐ เมตร บนทางลาดชัดสูงขึ้น ๆ เคยได้ยินเกี่ยวกับเมืองของนาค หรือนาคพิภพ จะได้พบว่าที่จริงมีอยู่ และมีหนทางนำไปสู่ด้วยสระแห่งหนึ่ง ที่ท่านจะเชื่อหรือไม่นั้น จากเรื่องที่ได้ไปรู้เห็นมาในนี้ อินเดียมีภูเขาเกือบทุกลูกในเขตไมซอร์แหลกเป็นจุล เหมือนกับถูกกำลังของยักษ์หรือผู้มีฤทธิ์ทุบทำลายเพื่อนำไปจองถนนตามที่ปรากฎในรามเกียรติ์หรือเปล่า มีเรื่องหลายรส ทั้งความพิสดารที่น่ารู้ มีทั้งสาระประโยชน์
รวมทั้งคำแนะนำสั่งสอนข้อคิดเตือนใจ โอวาทและแนวการปฏิบัติธรรม ที่หลวงพ่อกล่าวไว้ในที่ต่าง ๆ แก่บุคคลหลายระดับ ตั้งแต่ชาวบ้านจนถึงปัญญาชน เป็นการเจรจาโต้ตอบ ที่เข้าใจง่าย ไม่ถึงกับต้องไปค้นตามคัมภีร์ เพราะที่เป็นโอวาทจากการสรุปและกลั่นกรองจากความแจ่มแจ้งของท่านเอง
ในตอนท้ายให้ความรู้ในบทสนทนาภาษาฮินดีง่าย ๆ ไว้จำนวนหนึ่ง โดยเลียนการออกเสียงในภาษาฮินดีด้วยอักขระภาษาไทย สามารถใช้เป็นคู่มือหัดพูดทำความเข้าใจภาษาได้
หนังสือนี้จัดพิมพ์ขึ้นโดย สำนักสงฆ์ปิปผลิวนาราม ต . หนองบัว อ . บ้านค่าย จ . ระยอง
สุพัฒนะ.