มหาวิบัติของสังคมจากทิศเบื้องล่าง (ตอน ๑)

วันที่ 06 ตค. พ.ศ.2547


 

.....มหาวิบัติของสังคมจากทิศเบื้องล่าง

 

๑. ลูกน้องขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง

ถ้าหัวหน้าหรือนายจ้างขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ตามที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้เป็นอย่างน้อยนั้น ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการแรก คือ ลูกน้องหรือลูกจ้างจะไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง เพราะประพฤติกรรมกิเลส ๔ ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) มิจฉาทิฏฐิรุนแรง สำหรับผู้ที่มีอาชีพเป็นลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานส่วนมากมีการศึกษาน้อย มาจากครอบครัวยากจน ไม่ใคร่ได้รับการปลูกฝังอบรมในเรื่องสัมมาทิฏฐิ ไม่ใคร่มีหิริโอตตัปปะ จิตใจจึงมีภูมิคุ้มกันต่ำมาก เพราะมีมิจฉาทิฏฐินอนเนื่องอยู่ในจิตใจ

ลูกจ้างเหล่านี้ ถ้าได้มีโอกาสทำงานกับนายจ้างที่มีอริยวินัยปฏิบัติหน้าที่ไม่บกพร่อง อีกทั้งมีโครงการอบรมปลูกฝังสัมมาทิฏฐิให้แก่ลูกจ้างเป็นพิเศษ ลูกจ้างแต่ละคนก็ย่อมจะสามารถพัฒนาความเป็นมิตรแท้ให้เกิดขึ้นในจิตใจ ย่อมมีความสำนึกในบุญคุณของนายจ้าง ย่อมคิดตอบแทนความเมตตากรุณาของนายจ้าง ด้วยการทำงานให้มีประสิทธิผลสูงขึ้น และมีความจงรักภักดีต่อนายจ้าง ลูกจ้างบางคนเมื่อนายจ้างละโลกไปแล้วก็ยังยินดีทำงานรับใช้ทายาทของนายจ้างต่อไปอีก ในทางกลับกัน นายจ้างที่ขาดอริยวินัย บกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน ล้วนเป็นนายจ้างที่มีลักษณะนิสัยเป็นมิตรเทียม เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งสิ้น พฤติกรรมทางกายและวาจาของนายจ้างประเภทนี้ ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจเกลียดชัง โกรธแค้น หรือถึงขั้นอาฆาตพยาบาทให้แก่ลูกจ้าง

นายจ้างที่มีลักษณะมิตรเทียม ย่อมเป็นผู้โหมกระพือมิจฉาทิฏฐิของเหล่าลูกจ้างให้รุนแรงขึ้น และรอเวลาระเบิดออกมาเป็นพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ทั้ง ๒ ฝ่าย อาจจะกล่าวได้ว่านายจ้างที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้น นอกจากตนเองจะก่อบาปโดยตรงแล้ว การกระทำของเขายังบีบคั้นลูกจ้างให้คิดก่อกรรมทำเข็ญเพื่อตอบโต้อีกด้วย เป็นการผูกเวรกันไม่รู้จักจบสิ้น

๒) ปล่อยข่าวทำลายนายจ้าง ลูกจ้างที่เกลียดชังนายจ้างมิจฉาทิฏฐิอาจมีวิธีแก้แค้นนายจ้างโดยวิธีแนบเนียน เช่นซุบซิบนินทานางจ้างให้เสียหาย ปล่อยข่าวเพื่อให้กรรมการของบริษัทหรือองค์กรแตกกัน ปล่อยข่าวเพื่อทำลายคุณภาพของสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ของบริษัท บารายอาจนำความลับของบริษัทไปเปิดเผยกับคู่แข่งของนายจ้าง เป็นต้น

๓) ทำลายผลประโยชน์ของนายจ้าง ลูกจ้างที่ขาดหิริโอตตัปปะ ย่อมมีวิธีตอบโต้เจ้านายที่เป็นมิจฉาทิฏฐิได้อย่างกว้างขวาง วิธีการตอบโต้จะมีความรุนแรงหรือเลวร้ายเพียงใดย่อมขึ้นกับแรงแค้นของพวกเขา

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างพฤติกรรมของลูกจ้างใช้ทำลายผลประโยชน์ของนายจ้างที่ปรากฏขึ้นบ่อยๆ

- นัดหยุดงานประท้วง ซึ่งเป็นวิธีการทำลายผลประโยชน์ของนายจ้างอย่างหนึ่ง

- ลอบทำร้าย หรือฆาตกรรมนายจ้างที่ไล่ตนออกจากบริษัท ลอบฆาตกรรมหัวหน้าหน่วยงานที่ปลดตนออกจากตำแหน่ง

- เอาสูตรในการผลิตของบริษัทไปขายให้กับคู่แข่งของนายจ้าง

- ใช้ทรัพย์สิ่งของของบริษัทอย่างไม่ประหยัด โดยจงใจจะให้บริษัทได้รับความเสียหาย

- ชี้ช่องให้คนร้ายเข้ามาขโมยทรัพย์สินของบริษัท

ฯลฯ

การกระทำดังกล่าวของลูกจ้าง แม้จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายผลประโยชน์ของนายจ้างก็ตาม แต่ในที่สุดความเสียหายของนายจ้างย่อมมีผลกระทบถึงลูกจ้างด้วย

๒. ลูกน้องขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่ร่วมสังคม

ถ้าหัวหน้าหรือนายจ้างขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการที่ ๒ คือ ลูกน้องหรือลูกจ้างไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมหรือ ต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่ร่วมสังคม เพราะจิตใจถูกครอบงำด้วยอคติ ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) เป็นคนอคติ การที่ลูกจ้างเป็นคนอคติ อาจเป็นเพราะลูกจ้างเป็นคนมีมิจฉาทิฏฐินอนเนื่องอยู่ในจิตใจเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว ครั้นเมื่อได้มาทำงานกับนายจ้างที่คิดเอาแต่ได้หรือมีจิตใจลำเอียง ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อคติในจิตใจของลูกจ้างจะถูกสั่งสมพอกพูนขึ้นอีกหลายเท่า ลูกจ้างบางคนที่มีความอดทนต่ำ ก็อาจระเบิดความคิดมิจฉาทิฏฐิของเขาอย่างบ้าระห่ำ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายและบาปกรรม แต่ลูกจ้างบางคนก็อาจใช้เล่ห์กลเบี่ยงเบนหรือปรุงแต่งความคิดอคติของเขาเพื่อแก้เผ็ดนายจ้างอย่างเลือดเย็น

๒) ใช้วาจาเป็นอาวุธ ลูกจ้างที่ไม่พอใจเจ้านายที่มีความลำเอียง อาจรวมตัวกันหยุดงาน เพื่อมาชุมนุมกันกล่าวโจมตีนายจ้าง และเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติต่อพวกตนทุกคนด้วยความเป็นธรรมอย่างเสมอหน้ากัน

ถ้าการกระทำดังกล่าวของฝ่ายลูกจ้างยังไม่ได้รับการสนองตอบจากฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างก็อาจใช้วิธีปล่อยข่าวป้ายสีนายจ้างเป็นการสร้างกระแสสังคม เพื่อสร้างความเสียหายให้แก่ทั้งนายจ้าง บริษัทหรือองค์กร

อนึ่ง ลูกจ้างบางคนให้ร้ายเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนโปรดและได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากเจ้านายเกินหน้าพวกตน และถ้าลูกจ้างคนนั้นหลงตัวเองคิดว่ามีบารมีเจ้านายคอยคุ้มหัวอยู่ แล้วกล่าววาจาเย้ยหยัน ถากถาง เป็นการตอบโต้ฝ่ายที่ให้ร้ายตน ความแตกแยกร้าวลึกระหว่างผู้คนคือบันดาลูกจ้างในองค์กร ย่อมจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะลูกจ้างคนนั้นก็ย่อมจะมีพรรคพวกสนับสนุนอยู่เหมือนกัน

ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0048203150431315 Mins