มหาวิบัติของสังคมจากทิศเบื้องซ้าย (ตอนจบ)

วันที่ 29 กย. พ.ศ.2547


 

.....ข. เพื่อนขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ก็เพราะไม่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทั้งใกล้และไกลตัว อีกทั้งเห็นแก่ตัวยิ่งกว่าส่วนรวม ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัย และแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) มักง่ายเห็นแก่ตัว เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการกล่าวถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติกันทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย มาเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่สิ่งแวดล้อมทั้งใกล้และไกลตัว ในประเทศไทยก็มีสภาพเสื่อมทรามย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

จากการค้นคว้าศึกษาเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในบ้านเมืองเราอย่างรอบคอบแล้ว อาจสรุปได้ว่าผู้คนในบ้านเมืองเราทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนไม่น้อย “ มักง่ายและเห็นแก่ตัว” การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงไม่ได้ผล

ถามว่า ทิศเบื้องซ้ายของแต่ละคนในบ้านเมืองเรามีแต่มิตรเทียม ขาดแคลนมิตรแท้ขนาดหนักกระนั้นหรือ ผู้คนจึงมีลักษณะนิสัยเป็นมิจฉาทิฏฐิดังที่สรุปไว้

อาจตอบได้ว่า ฝ่ายมิตรแท้หรือคนดี ขาดแคลนผู้นำที่อาจหาญแกล้วกล้า และแข็งแกร่งถึงขั้นสามารถชี้นำคนดีให้ผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นในการสร้างเครือข่ายคนดี เพื่อให้มีอำนาจป้องกันคนเลวไม่ให้ผงาดขึ้นมามีบทบาทสำคัญในสังคมประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง คนดีที่มีอริยวินัย และปฏิบัติหน้าที่มิตรแท้ต่อเพื่อนนั้น อาจไม่ได้ผลเต็มร้อย (เปอร์เซ็นต์) ทุกเรื่อง เฉกเช่นบุตรธิดาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นคนดีแสนดี แต่ก็มีลูกผ่าเหล่าผ่ากอกันเกือบทุกบ้าน ข้อนี้ฉันใดก็ฉันนั้น แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสว่า บุตรในแต่ละครอบครัวนั้นมีอยู่ถึง ๓ ประเภท คือ มีทั้งบุตรที่มีศีลธรรมสูงกว่า เสมอ และต่ำกว่าพ่อแม่ เพราะฉะนั้น ถึงอย่างไรๆ โลกเราก็คงจะไม่มีทางปลอดจากผู้คนมิจฉาทิฏฐิ

ประการสุดท้ายก็คือ คนดีส่วนมากมักจะเก็บตัว รู้สึกเก้อเขินที่จะแสดงบทบาทคนดีของสังคมอย่างเต็มที่ จึงมีทีท่าเสมือนหนึ่งจะปลีกวิเวก ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว การวางเฉยเช่นนี้ ย่อมไม่ช่วยให้คนดีมีความวิเวกได้ตลอดไป เพราะคนมักง่าย เห็นแก่ตัว ต่างพากันจุดชนวนเผาผลาญโลกอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

๒) ดีแต่พูดกัน ผู้คนที่เกี่ยวข้องและต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม หลายประเภท หลายระดับ

สำหรับสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ได้ยินแต่คนพูดว่า “ ฉันชอบความสะอาด” ไม่เคยได้ยินใครเลยที่กล่าวว่า “ ฉันรักความสกปรกเป็นชีวิตจิตใจ”

กระนั้นก็ตาม เมื่อเราผ่านไปตามที่สาธารณะต่างๆ ในเมือง ในชุมชนน้อยใหญ่ สิ่งที่เราได้เห็นก็คือ ในตลาดสุดทุกแห่งสกปรก มีขยะและน้ำในท่อน้ำทิ้งส่งกลิ่นเหม็นมาก บนสะพานลอยสำหรับคนเดินข้ามถนนก็มีขยะเกลื่อนกลาดทุกแห่งทุกวัน อาจจะแตกต่างกันก็ตรงที่ปริมาณน้อยหรือมาก ริมถนนทุกทางทุกสายมีขยะทิ้งไว้เกลื่อน หรือมิฉะนั้นก็กองสุมกันอยู่ และถูกสุนัขรื้อไว้เลอะเทอะ เพราะรถเก็บขยะยังไม่ได้มาเก็บ รถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนนจำนวนไม่น้อยปล่อยควันดำออกมาปนเปื้อนอากาศ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็มีรถควันดำส่งกลิ่นเหม็นวิ่งเป็นเจ้าถนนอยู่เรื่อย เพราะไม่มีใครอยากเข้าใกล้

เมื่อหันมาสังเกตเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายของรัฐ แม้จะมีการประชาสัมพันธ์กฎหมายเกี่ยวกับสภาพของยานพาหนะ และเทศบัญญัติที่กำหนดโทษทัณฑ์แก่ประชาชนที่ทำความสกปรกเลอะเทอะในที่สาธารณะ สร้างมลพิษต่างๆ ให้เกิดขึ้นในที่สาธารณะ ในชุมชน จนเป็นที่รู้และเข้าใจกันอย่างกว้างขวางแล้วก็ตาม แต่เหตุใดบ้านเมืองยังสกปรกอยู่?

คำตอบของคำถามนี้จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากประเด็นสำคัญที่ว่า ผู้คนในบ้านเมืองส่วนใหญ่มักง่ายและเห็นแก่ตัว อีกทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษากฎหมายก็ดีแต่พูดนั่นเอง

๓) บุกรุทำลายป่า เพียงเฉพาะเรื่องการรักษาความสะอาดในเมืองในชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแสดงความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ที่มีเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายสามารถคอยติดตามตรวจสอบได้อย่างใกล้ชิด ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติกันให้บรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ สำมะหาอะไรกับการรักษาสิ่งแวดล้อมไกลตัว ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติมูลค่ามหาศาล ให้อยู่รอดปลอดภัยจากเงื้อมมือของเหล่าคนมักง่ายและเห็นแก่ตัวไปได้

แผ่นดินถล่มที่เกิดขึ้นตามที่เนินดินสูงชันหรือเนินลาดตามหุบผาในป่าแต่ละครั้งที่ฝนตกใหญ่ ล้วนฟ้องให้เห็นอย่างชันแจ้งว่าป่าไม้ถูกโค่นทำลายไปจนไม่เหลือรากไว้พยุงแผ่นดินนั่นเอง

สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาตินั้นมีอยู่มากมายหลายประเภท การที่ผู้คนนำเอาวัตถุดิบ ที่เป็นทรัพยากรไปใช้ก็ตาม การทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมคุณภาพลงก็ตาม การก่อให้เกิดมลพิษขึ้นในสิ่งแวดล้อมก็ตาม ถือได้ว่าเป็นการทำลายหรือมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม การบุกรุกทำลายป่าคือสุดยอดแห่งการทำลายสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เพราะเป็นการทำลายระบบนิเวศวิทยาของโลกทั้งระบบ

ตราบใดที่ยังแก้ปัญหาคนมักง่าย เห็นแก่ตัวไม่สำเร็จ ตราบนั้นปัญหาคนบุกรุกทำลายป่า ย่อมไม่มีทางแก้ไขได้

อนึ่ง ผู้คนที่บุกรุกทำลายป่านั้นล้วนเป็นคนจน

โดยหลักการ ถ้าแก้ปัญหาคนจนได้สำเร็จ ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าย่อมยุติลงได้โดยปริยาย

แต่ทว่า ตามความจริงนั้น คนจนมีอยู่ ๒ ประเภท

ประเภทแรก คือ จนเพราะไม่มีจะกิน ประเภทนี้น่าสงสาร และน่าเห็นใจมาก ส่วนประเภทที่ ๒ คือ จนเพราะไม่พอ

การแก้ปัญหาคนจนประเภทแรก สามารถทำสำเร็จได้โดยไม่ยากนัก ถ้ารัฐมีความตั้งใจจริง และถ้าทำได้สำเร็จ พวกเขาก็จะเลิกบุกรุกทำลายป่า เพราะมีกินแล้ว

ส่วนการแก้ปัญหาคนจนประเภทที่ ๒ นี่สิ ใครจะเป็นผู้แก้และแก้อย่างไร?

ตราบใดที่ประชาชนคนดี ยังไม่มีความมุ่งมั่นร่วมมือกันสร้างเครือข่ายคนดีให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และมีพลานุภาพแข็งแกร่งมากพอที่จะสยบอำนาจมือของเหล่าคนพาลหรือมิตรเทียมในบ้านเมืองให้หยุดการแพร่ระบาดของโรคมักง่าย และเห็นแก่ตัวได้สำเร็จ ตราบนั้นการบุกรุกทำลายป่าก็จะมีอยู่ต่อไป จนกระทั่งไม่เหลือป่าให้บุกรุกอีกนั่นแหละ และเมื่อเวลานั้นมาถึง คำว่า “ สังคมสันติสุข” ก็อาจจะเป็นเพียงคำศัพท์โบราณซึ่งยากจะเข้าใจ เพราะผู้คนในสังคมล้วนประสบความเดือนร้อนและทุกข์ระทมกันทั่วทุกย่อมหญ้า ทุกลมหายใจเข้าออก จินตนาการไม่ออกว่าสันติสุขจะเกิดขึ้นในโลกนี้ได้อย่างไร ทำนองเดียวกับชาวพุทธทีเป็นพุทธแต่เฉพาะทะเบียนบ้านในปัจจุบันสงสัยกันอยู่ว่า นิพพานน่ะมีจริงๆ หรือ

 

 

สรุปปัญหาในทิศเบื้องซ้าย

ปัญหาในทิศเบื้องซ้ายนี้อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ปัญหาที่สังคมเห็นชัดเจน ได้แก่ ปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาอายมุข ปัญหาโสเภณี

๒. ปัญหาที่สังคมเห็นไม่ชันเจน ได้แก่ ปัญหามิตรเทียม บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีพฤติกรรมชั่ว ล้วนมีหลังฉากเป็นผู้ร้ายทั้งสิ้น แต่คนในสังคมโดยทั่วไปไม่สามารถเห็นได้ จะเห็นได้แต่เพียงหน้าฉาก ของเขาซึ่งแสดงบทผู้ดี จึงดูเป็นคนน่าเคารถนับถือและมีอำนาจน่าเกรงขาม

สาเหตุรากเหง้าของมิตรเทียมนั้นเริ่มมาจากบ้าน ที่พ่อแม่ขาดอริยวินัยเป็นลำดับแรก ครั้นเมื่อไปโรงเรียน ก็ได้ครูอาจารย์ที่ขาดอริยวินัย จึงสั่งสมลักษณะนิสัยของมิตรเทียมไว้พอประมาณ เมื่อเป็นคนพาลเสียแล้ว ก็ย่อมจะพอใจที่จะเสวนากับคนพาล ลักษณะนิสัยของมิตรเทียมจึงกำเริบขึ้นเต็มรูปแบบ

เมื่อคนพาลเหล่านี้มีโอกาสเข้ามามีอำนาจในบ้านเมือง เขาก็กระทำการทุกอย่างด้วยมิจฉาทิฏฐิ เพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมดังที่ปรากฏอยู่ในบ้านเมืองของเราขณะนี้ นี่คือความวิบัติของสังคม !

ถามว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?

การแก้ปัญหานี้ควรมี ๒ ลักษณะ คือ

๑. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้แก่ การไม่เลือกมิตรเทียมเป็นตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศ

๒. การแก้ปัญหาระยะยาว ทุกคนต้องใช้ตะแกรงกายสิทธิ์ร่อนหาความเลวของตนเองแล้วหาวิธีการกำจัดเสีย โดยถ่ายทอดคุณสมบัติของคนดีเข้ามาไล่ที่ความเลวในตัว ขณะเดียวกัน ก็ใช้ตะแกรงกายสิทธิ์ร่อนหาความดีของกัลยาณมิตร แล้วถ่ายทอดความดีเหล่านั้นมาสู่ตน ดังได้เสนอแนะวิธีการไว้ในบทก่อน ๆแล้ว

อย่างไรก็ตาม การใช้ตะแกรงกายสิทธิ์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการให้การศึกษาอบรมกันอย่างมีระบบ โดยมุ่งพัฒนาสัมมาทิฏฐิให้เกิดในใจมวลชนเป็นพื้นฐานสำคัญ

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026121501127879 Mins