พุทธศาสนาและปัญญาชนตะวันตก

วันที่ 07 พย. พ.ศ.2547

 

พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ธิตธัมโม)

 

.....เป็นบันทึกการสนทนาธรรมระหว่าง พระราชสุทธิญาณมงคล และนักวิชาการตะวันตกผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาต่าง ๆ และต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนจากประสบการณ์ของพุทธศาสนิกชน เพื่อนำไปเสริมความรู้ที่ได้จากการศึกษาคัมภีร์พุทธศาสนา

สำหรับพระราชสุทธิญาณมงคล เป็นพระนักปฏิบัติที่มีประสบการณ์ การปฏิบัติธรรมยาวนานและผลงานของการนำพระธรรม ไปใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทางด้านศาสนาและจริยธรรมเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การสนทนาธรรม ที่ครอบคลุมปัญหาต่าง ๆ ที่น่าสนใจหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ใครเป็นผู้สร้างกฎแห่งกรรม การตัดกรรม เป็นไปได้หรือไม่ บุญ เป็นสิ่งที่ซื้อขายกันได้หรือไม่ ทำบุญอย่างอย่างไรจึงจะได้บุญมากที่สุด นิพพานเป็นแดนสุขาวดีใช่หรือไม่ การปฏิบัติกรรมฐานช่วยให้หายเครียดได้ไหม ศาสนาพุทธส่งเสริมเรื่อง “ การผสมเทียม ” และโคลนนิ่งมนุษย์หรือไม่ แพทย์ควรถอดเครื่องช่วงชีวิตคนไข้เมื่อใด พุทธานุภาพยังคงอยู่ในโลกได้อย่างไร ฯลฯ

จากการที่ศาสตราจารย์เจอรัลด์ แมคเคนนี่ ศาสตราจารย์เจมส์ สจวตท์ และศาสตาจารย์ไวโอเล็ต โอเล็ต ลินเบค นักวิชาการชาวอเมริกันสนใจพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากจนถึงกับเดินทาง มาประเทศไทยเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ถือว่าท่านทั้งสาม เป็นตัวอย่างของปัญญาชนตะวันตกที่ไม่ได้เป็นชาวพุทธ แต่สนใจศึกษาพุทธศาสนาด้วยเหคุผล และยังมีข้อข้องใจเกี่ยวกับคำสอนและการปฏิบัติในพุทธศาสนาอยู่หลายเรื่องที่สำคัญได้แก่ เรื่องกฎแห่งกรรม นิพพาน เสรีภาพ สันโดษ การปฏิบัติกรรมฐาน การทำบุญ บทบาทและพฤติกรรมของพระสงฆ์ นอกจากนั้นยังสงสัยว่าพระธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้นเป็นประโยชน์แก่คนและสังคมปัจจุบันที่กำลังก้าวไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างไร

พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่เชื่อเรื่องอำนาจของ “ พระเจ้า ” และใช้กฎแห่งกรรมอธิบายสาเหตุของความเข้มแข็งความอ่อนแอ ความไม่เสมอภาค และความแตกต่างในด้านต่าง ๆ รวมทั้งความสามารถและฐานะความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยการโยงไปที่การกระทำ และทายาทของกรรมที่ได้ทำไว้ วิธีอธิบายเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมาโดยใช้กฎแห่งกรรมเป็นพื้นฐาน เป็นของใหม่สำหรับชาวตะวันตกที่เติบโตมาในวัฒนธรรมของศาสนาคริสต์ มีจิตใจความนึกคิดหล่อหลอมด้วยคำสอนในศาสนานี้ ดังนั้นจึงเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมและสังสารวัฎได้ยาก และมักเข้าใจผิดกันว่าในพุทธศาสนากฎแห่งกรรมเป็นพระเจ้า ที่บังคับคนแต่ละคนให้มีชีวิตเป็นไปตามชะตากรรมที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และที่เปลี่ยนแปลงแก้ไชไม่ได้ นอกจากนั้นการที่พุทธศาสนาเน้นกรรมส่วนบุคคลโดยสอนให้คนแต่ละคนรับผิดชอบชีวิตของตนเองเต็มที่นั้น ทำให้เข้าใจผิดด้วยว่าพุทธศาสนาปัดความรับผิดชอบที่สังคม/รัฐบาลพึงมีต่อคนนั้นเป็นเรื่องของ “ กรรม ” ที่ผู้นั้นได้ทำไว้เอง ความเข้าใจผิดเหล่านี้จะหมดไปเมื่อคนตะวันตกศึกษาคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมให้ลึกซึ้งขึ้น

และสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากการศึกษาการสนทนาธรรมระหว่างหลวงพ่อกับศาสตราจารย์ทั้งสามคือ การมองเห็นความสำคัญของการปฏิบัติ การปฏิบัติด้วยการรักษาศีลเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้ปฏิบัติและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง การปลูกฝังให้ตัวเองมีคุณธรรมต่าง ๆ ในพุทธศาสนาจะทำให้ชีวิตเจริญงอกงามจนสามารถพัฒนาตัวเองจากการเป็นปุถุชนให้เป็นอริยบุคคลได้ การปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาเป็นการป้องกันไม่ให้มีความเครียด ความวิตกกังวลและความหวาดกลัวต่าง ๆ เกิดขึ้นในใจและนำไปสู่การเกิดปัญญาที่รู้แจ้ง ซึ่งจะช่วยให้ไม่หลงใหลในสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งบุญกุศลประเภทต่าง ๆ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าพระธรรมคำสอนในพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒๕๐๐ ปีที่แล้ว ยังคงเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกและสังคมมนุษย์ หลักจริยธรรมของศาสนาพุทธยังสามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐาน สำหรับความเจริญก้าวหน้าของตัวเองและสังคม และเป็นสิ่งกำหนดทิศทางของการใช้เทคโนโลยีในกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์และธรรมชาติ

อาจคาดคะเนได้ว่า ในอนาคตที่ไม่ไกลนี้ ปัญญาชนตะวันตกผู้แสวงหาสัจธรรมในพุทธศาสนาจะเป็นกำลังสำคัญทั้งในการสร้าง ความเจริญทางวิชาการให้แก่พุทธศาสนานิกายเถรวาท และในการเผยแพร่พระธรรมคำสอนไปที่ต่าง ๆ ที่พระสงฆ์ยังเข้าไปไม่ถึง

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

สุพัฒนะ.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.036300500233968 Mins