.....๒) มีวจีทุจริต การเสพสุรายาเมา จะเป็นปัญหาของลูกจ้างส่วนมาก โดยเฉพาะลูกจ้างที่เป็นผู้ชาย การเสพสิ่งเสพติดจนเมามาย ย่อมขาดสติควบคุมตนเอง ครั้นเมื่อรู้สึกไม่พอใจใครหรือสิ่งใด ก็จะด่าทออย่างหยาบคาย ซึ่งจะนำไปสู่การทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรงต่อไป
อนึ่ง การเสพสุรายาเมาเป็นประจำ นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพและสติปัญญาให้กลายเป็นคนปัญญาอ่อนในชาตินี้แล้ว ยังจะนำไปสู่ปัญหาหนี้สิน จนกระทั่งถึงปัญหาอาชญากรรมอีกด้วย
การกู้หนี้ยืมสินนับว่าเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งของลูกจ้างทั้งฝ่ายชายและหญิง ดังนั้นการโกหก การผิดคำพูด ตลอดจนการว่าร้ายด้วยถ้อยคำหยาบคาย จึงเป็นกลยุทธที่บรรดาลูกหนี้นิยมใช้เพื่อประวิงเวลาเพื่อผัดผ่อนการจ่ายดอกเบี้ย หรือการใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ ด้วยเหตุนี้บันดาลูกจ้างที่มีหนี้สิ้นรุงรัง จึงติดนิสัยโกหกปลิ้นปล้อน ผิดสัญญา นินทาว่าร้าย ท้าตีท้าต่อย ชวนทะเลาะวิวาทอยู่เป็นนิจ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทำให้สถานภาพของทิศเบื้องล่างซึ่งต่ำอยู่แล้วตกต่ำลงอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านจิตใจ
๓) จมอยู่ในอบายมุข การพนันดูเหมือนจะเป็นวิธียอดนิยมสำหรับใช้แก้ปัญหาหนี้สินของบรรดาลูกจ้างและผู้มีรายได้น้อยในสังคมทั่วไป เพราะเป็นวิธีหาเงินก้อนได้อย่างรวดเร็ว และลงทุนน้อย สำหรับผู้เล่นชนะซึ่งถือกันว่าเป็นเรื่องของโชค เพราะฉะนั้นบรรดาลูกจ้างจึงนิยมเสี่ยงโชคกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน ส่วนผู้ที่เล่นแพ้ก็ยอมรับว่าวันนี้ตนเองโชคไม่ดี พรุ่งนี้อาจจะมีโชคบ้าง ดังนั้นจึงต้องเสี่ยงโชคอยู่ตลอด ถ้าวันใดรวยก็จะได้ฉลองกันด้วยอบายมุขอีกนั่นแหละ สภาพการณ์เช่นนี้จึงเป็นโอกาสของเหล่านายทุนที่จะวางกลยุทธ เพื่อรีดนาทาเร้นเอากับผู้คนที่มีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจต่ำ ซึ่งส่วนมากก็เป็นผู้คนในทิศเบื้องล่างและผู้มีรายได้น้อย
กล่าวได้ว่าในวงการอบายมุขทุกประเภท ไม่ว่านายทุนหรือผู้บริโภคล้วนแต่มีความคิดอยู่ในวังวนของกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง ตลอดเวลา ทำให้ไม่มีช่องว่างสำหรับความคิดในการพัฒนาเพื่อยกระดับจิตใจของตนขึ้นไปสู่ความเป็นอริยชนเลย
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการจำเป็นสำหรับ “ บัณฑิต” หรือ “ กัลยาณมิตร” ทั้งหลายจะต้องร่วมมือกัน สร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ ให้แก่ผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทิศเบื้องล่าง ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศโดยเร็วที่สุด เพื่อให้บ้านเมืองพ้นจากปัญหาวิกฤตทั้งปวง
๔. ลูกน้องหรือลูกจ้างไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ และต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
ถ้าหัวหน้าหรือนายจ้างขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการที่ ๔ คือ ลูกน้องหรือลูกจ้างไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ และต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
ก. ลูกน้องหรือลูกจ้างขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ คือ ขาดปฏิสัมพันธ์อันดีกับทิศ ๖ ซึ่งจะมีลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นอย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑) ขาดความเชื่อถือผู้อื่น นายจ้างที่ขาดอริยวินัย นอกจากจะไม่ปฏิบัติหน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อลูกจ้างแล้ว ยังปฏิบัติต่อลูกจ้างแบบเอารัดเอาเปรียบ ขาดความเมตตากรุณา ขาดความยุติธรรม และอาจโหดร้ายทารุณ
พฤติกรรมอันเลวร้ายทั้งปวงของนายจ้าง ย่อมทำให้ลูกจ้างมีทัศนคติในเชิงลบไม่เฉพาะต่อนายจ้างเท่านั้น แต่ยังจะขยายวงออกไปยังบุคคลตลอดทั้ง ๕ ทิศ คือขาดความเชื่อถือผู้คนทั้ง ๖ ทิศ ของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่มีฐานะร่ำรวยกว่าตน มีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่าตน หรือมีตระกูลสูงกว่าตน เป็นต้น นี่คือความคิดมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่งของลูกจ้างที่เป็นผลเนื่องมาจากการทำงานกับนายจ้างที่เป็นมิตรเทียม
๒) ปากมาก โดยทั่วไปบุคคลที่ขาดความเชื่อถือผู้ใด ก็จะพยายามแสดงความรู้สึกนึกคิดที่เขามีต่อผู้นั้น ไม่โดยตรงก็โดยทางอ้อม เช่น กระซิบกระซาบพฤติกรรมเลวร้ายของนายจ้าง นินทาว่าร้ายครูบาอาจารย์ เถียงพ่อแม่คำไม่ตกฟาก ชี้นำเพื่อนฝูงให้คอยจับผิดการเทศน์สอนของพระภิกษุสงฆ์ ปรามาสบุตร ภรรยา/สามี หยามน้ำหน้าเพื่อนฝูง โดยสรุปก็คือชอบพูดว่าคนอื่น แม้เรื่องเล็กก็ขยายให้เป็นเรื่องใหญ่ เพื่อหาพวกสนับสนุนความคิดของตน บุคคลประเภทนี้ย่อมมองไม่เห็นคุณความดีของใคร ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครต้องการผูกไมตรีด้วย
๓) มีพฤติกรรมบ้าระห่ำ บุคคลที่ขาดความเชื่อถือผู้อื่นก็เพราะหลงคิดว่าตนเองวิเศษกว่าใครๆ พฤติกรรมปากมากของเขาอาจจะถูกแปลงเป็นการกระทำบางอย่างที่ผิดศีลธรรมและท้าทายกฎหมายอย่างยิ่ง ซึ่งพฤติกรรมแต่ละอย่างของเขาอาจเกิดจากความคิดบ้าระห่ำของเขาเอง หรืออาจเป็นเพราะเขาถูกมิตรเทียมบางคนใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม และเขาเองก็ต้องการหาเงินด้วยพฤติกรรมบ้าระห่ำเช่นกัน
ต่อไปนี้คือพฤติกรรมบ้าระห่ำที่เกิดขึ้นและเป็นข่าวในสังคมชาวพุทธ ที่ขาดความรู้พระพุทธศาสนา :
ฯลฯ