มหาวิบัติของสังคมจากทิศเบื้องขวา (ตอน ๓)

วันที่ 21 กค. พ.ศ.2547


 

.....๔. ศิษย์ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ และต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ

ถ้าครูอาจารย์ขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ผลเสียที่จะเกิดเป็นประการที่ ๔ คือ ศิษย์ทั้งหลายจะไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ และต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ

ก. ศิษย์ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ คือ ขาดปฏิสัมพันธ์อันดีกับทิศ ๖ ซึ่งจะมีลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นอย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) ขาดมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ศิษย์ที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้เห็นคุณค่าของบุคคลรอบข้าง ย่อมจะทำอะไรตามใจตน ถือเอาความคิดของตนเป็นใหญ่ ขาดความเกรงใจผู้อื่น ขาดความเคารพนบนอบผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ครูอาจารย์ของตน ขาดความสุภาพอ่อนน้อม ขาดความกตัญญูรู้คุณคน โดยสรุปก็คือ ขาดมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย ลักษณะนิสัยเช่นนี้ย่อมติดตัวไปตลอดชีวิต จัดเป็นคนมิจฉาทิฎฐิประเภทหนึ่ง

๒) ปากเปราะเราะราย เพราะเหตุที่นักเรียนประเภทนี้ขาดความเกรงใจผู้อื่น ขาดความเคารพนบนอบ จึงมักจะพูดจาชวนหาเรื่องไม่เลือกหน้า เมื่อไม่เห็นด้วยกับความคิดของผู้ใด แม้จะเป็นความคิดที่ถูกต้องมีเหตุผล ก็จะพยายามเถียงข้างๆ คูๆ เพื่อเอาชนะให้ได้

นอกจากนี้ก็มักจะนินทาว่าร้ายผู้อื่นให้เสียหาย ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมดังกล่าว ย่อมเป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิตของพวกเขาเอง

๓) ชอบทำร้ายผู้อื่น เพราะเหตุที่นักเรียนประเภทนี้ ถือเอาความคิดของตนเป็นใหญ่ ชอบทำอะไรตามใจตัว เมื่อมีผู้ใดแสดงความเห็นคัดค้านก็จะบันดาลโทสะ ถึงกับทำร้ายฝ่ายที่คัดค้าน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม นักเรียนประเภทนี้ชื่อว่าทำตัวเป็นนักเลงโตตั้งแต่เด็ก ครั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะมีพฤติกรรมแบบเจ้าพ่อ ที่พยายามทำตัวอยู่เหนือกฎหมายนั่นเอง

ข. ศิษย์ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ก็เพราะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งจะมีลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) ไม่สนใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สรรพความรู้ต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม จำเป็นต้องมีการเรียนการสอนกัน จึงจะเกิดความรู้ขึ้นไม่มีใครจะรู้อะไรๆ เองได้ด้วยตนเองนับตั้งแต่ลืมตามาดูโลก

เด็กนักเรียนที่ไม่ได้รบการอบรมสั่งสอนให้เห็นประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมทั้งใกล้และไกลตัว พวกเขาก็จะมองไม่เห็นความจำเป็นที่คนเราจะต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่สิ่งแวดล้อมใกล้ตัวที่สุด คือ บ้านโรงเรียน ถนนหนทาง ฯลฯ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ป่า ภูเขา เป็นต้น

บรรดาเด็กนักเรียนที่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว นอกจากพวกเขาจะไม่รู้จักคิดอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งใกล้และไกลตัวแล้ว เขายังอาจจะทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยความคึกคะนอง และความคิดมิจฉาทิฏฐิของเขาอีกด้วย

ครั้นเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมอันไม่ชอบมาพากลของพวกเขา ย่อมสามารถนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง ถึงขั้นก่อความหายนะให้แก่ชาติบ้านเมืองและโลกได้

๒) กล่าวคัดค้านโจมตีการทำหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ การที่เด็กนักเรียนไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องมีหน้าที่ผลัดเวรกันทำความสะอาดห้องเรียนของตน นักเรียนบางคนที่หัวอ่อนก็อาจจะจำใจทำเวร เพราะเกรงว่าจะถูกครูอาจารย์ตำหนิโทษ ส่วนนักเรียนบางคนที่หัวแข็งดื้อด้าน นอกจากจะไม่ช่วยเพื่อนๆ ทำความสะอาดแล้ว ยังโพนทะนาปลุกระดมเพื่อนอีกด้วยว่า งานทำสะอาดอาคารสถานที่เรียนควรเป็นหน้าที่ของพนักงานภารโรง ทางโรงเรียนไม่สมควรจะผลักภาระมาให้เป็นหน้าที่ของนักเรียน เป็นต้น

โรงเรียนใด หรือห้องเรียนใด ที่บรรดานักเรียนมีความคิดว่าการดูแลรักษาความสะอาดสถานที่นั้นๆ ไม่ใช่หน้าที่ของพวกตน สถานศึกษานั้นก็ยากที่จะมีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าครูอาจารย์ได้อบรมสั่งสอนและร่วมกิจกรรมกับนักเรียนของตนอยู่เสมอ ชี้ให้เห็นประโยชน์และความจำเป็นในการช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดของสถานศึกษา ตอกย้ำให้ศิษย์เกิดความรู้ความเข้าใจว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของนักเรียน และครูทุกคนในการดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อย ของอาคารสถานที่ภายในโรงเรียนตลอดจนสถานที่สาธารณะ และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เด็กนักเรียนเหล่านั้นก็จะเกิดความคิดที่จะช่วยกันดูแลรักษาและทำความสะอาดสถานศึกษาของตน ด้วยความเต็มใจ โดยไม่มีกล่าวคัดค้านโจมตี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014251248041789 Mins