.....๒. ศิษย์ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมหรือต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่ร่วมสังคม
ถ้าครูอาจารย์ขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ ให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดเป็นประการที่ ๒ ก็คือ ศิษย์ทั้งหลายจะไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมหรือต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่ร่วมสังคม เนื่องจากอคติที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจตน ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑) เห็นแก่ตัว เห็นแก่หน้า เด็กนักเรียนที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว เห็นแก่หน้า ก็เพราะมีความลำเอียงอยู่ในจิตใจ มองไม่เห็นคุณค่าของความเที่ยงธรรม ไม่เห็นความจำเป็นและประโยชน์ของความเที่ยงตรง หรือความชอบด้วยเหตุผล คิดถึงแต่ประโยชน์ของตนและพรรคพวกเป็นสำคัญ การคิดถึงประโยชน์ของพรรคพวกนั้น ในเบื้องลึกของหัวใจก็เพื่อประโยชน์ของตนนั่นเอง ความคิดเช่นนี้จัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่งของเด็กนักเรียนที่มีอคติ เพราะไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากครูอาจารย์ในเรื่องคุณค่าและความจำเป็นของความยุติธรรม หรือมิฉะนั้นก็อาจเกิดจากการที่ตนได้รับการปฏิบัติจากครูอาจารย์ด้วยความลำเอียง ซึ่งจะมีผลก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนักเรียนกับนักเรียน หรือนักเรียนกับครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษา ตลอดถึงสังคมของเด็กแต่ละคนเมื่ออยู่ภายนอกโรงเรียนด้วย
๒) ชอบยกยอและยกตัว ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิที่คิดถึงแต่ประโยชน์ตนโดยไม่คำนึงถึงความเที่ยงธรรม เด็กนักเรียนประเภทนี้ก็จะมีวิธีหาประโยชน์ใส่ตัว ด้วยการยกยอปอปั้นผู้อื่น ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนฝูงหรือครูอาจารย์เพื่อให้หลงคารมของตน ขณะเดียวกันก็พยายามกล่าวยกย่องพรรณนาความดีของตนเองเกินจริง เพื่อให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตามและสนับสนุนให้ตนได้รับประโยชน์ ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะได้รับ หรือได้รับประโยชน์มากกว่าผู้อื่น ทั้งๆ ที่ควรจะได้รับน้อยกว่าเป็นต้น ตลอดจนชอบใช้วาจาให้แตกแยก
๓) ทำลายล้างคู่แข่ง ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิที่มีใจลำเอียง เมื่อเข้าไปสู่วงการใด เด็กนักเรียนประเภทนี้ ก็คิดแค่ว่าตนและ(หรือ)พรรคพวกของตนจะต้องเป็นผู้ชนะเสมอในทุกๆ เรื่อง จึงพยายามหาวิธีชั่วร้ายต่างๆ มาทำลายล้างคู่แข่ง ราวกับจะให้ราบเป็นหน้ากลองทีเดียว
๓. ศิษย์ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ
ถ้าครูอาจารย์ขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ ให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดเป็นประการที่ ๓ คือ ศิษย์ทั้งหลายจะไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ ด้วยการเกี่ยวข้องพัวพันกับอบายมุขต่างๆ ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัย และแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑) มีปัญหาขาดแคลนเงินอยู่เสมอ เด็กนักเรียนที่เข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับอบายมุข จำเป็นจะต้องใช้จ่ายเงินเกิดงบประมาณของตนทำให้เบี้ยเลี้ยงที่ตนได้จากผู้ปกครอง ไม่พอจับจ่ายใช้สอย แทนที่จะสำนึกผิดและหยุดการกระทำอันไม่ถูกไม่ต้องของตนเสีย ความคิดมิจฉาทิฏฐิจะผลักดันให้เด็กนักเรียนเหล่านั้นหาทางแก้ปัญหา ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่นานาชนิดต่อไปอีก เช่น คิดหยิบยืมเงินจากเพื่อนฝูง ซึ่งเป็นการก่อหนี้สิน คิดหารายได้จากการพนัน จากการค้ายาเสพติด จากการลักขโมยหรือถ้าเป็นนักเรียนหญิง ก็อาจคิดหารายได้จากการเป็นโสเภณี เป็นต้น
๒) ปลิ้นปลอกหลอกหลอน เพราะเหตุที่เงินรายจ่ายมากกว่ารายรับประจำ บวกกับต้องหาเงินใช้หนี้สิน ตลอดถึงการเตรียมเงินไว้สำหรับกิจกรรมอบายมุขซึ่งเกิดเป็นนิสัยที่เลิกไม่ได้เสียแล้ว เด็กนักเรียนประเภทนี้จึงต้องใช้วิธีปลิ้นปล้อนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปแต่ละวันๆ นับตั้งแต่โกหกหลอกลวงพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อให้ได้เงินมาใช้ โกหกเพื่อนฝูงเพื่อผัดผ่อนการชำระหนี้ โกหกครูอาจารย์เพื่ออ้างเหตุของการขาดเรียน การส่งการบ้านไม่ทัน เป็นต้น
๓) เกี่ยวข้องพัวพันกับงานทุจริต เนื่องจากเด็กนักเรียนมิจฉาทิฏฐิเหล่านี้ มีปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ เพราะความไม่มีวินัยของตนเอง การแก้ปัญหาของพวกเขาก็คือ หันหน้าเข้าหามิจฉาอาชีวะหรือการงานมีโทษทั้งหลาย นับตั้งแต่ลักขโมย โจรกรรมเงินจากตู้โทรศัพท์สาธารณะ หรือตู้ ATM ของธนาคารต่างๆ ค้ายาเสพติด เล่นการพนัน ขายตัวเป็นโสเภณี เป็นต้น