บันลือสีหนาท

วันที่ 11 กค. พ.ศ.2547

 

..... หนังสือดีที่แผนกพระไตรปิฎกศึกษา สถาบันพัฒนาบุคลากร รวบรวมเรียบเรียงนำวจนะอันทรงคุณค่า ที่มีมาในคัมภีร์พระไตรปิฏก และอรรถกถาบางส่วนมารวมกันไว้ หวังจะให้ท่านผู้อ่านได้รับความเบิกบาน สำราญใจ คือใจใส ใจสว่าง ที่ควบคู่ไปกับการได้สั่งสมปัญญาบารมี รวมทั้งได้รับความรู้ และข้อคิดดี ๆ ที่จะเป็นกำลังใจในการสั่งสมบุญบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

เนื้อหาภายในเล่มที่สว่างไสวด้วยพระพุทธวจนะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งวจนะพระอัครสาวก ภาษิตพระอรหันต์ ในวาระโอกาสต่าง ๆ ทั้งที่ตรัส ที่กล่าวกับทั้งเทวดาหรือมนุษย์ โดยจัดแบ่งตามดรรชนีเรื่องตามลำดับอักษร ใช้ชื่อเรื่องสั้น - ง่าย ให้เจาะจงเข้าสู่เนื้อหาว่าคืออย่างไร

ในหัวข้อใหญ่จะแยกข้อย่อยลงไปอีก อาทิ “ คติ - กล่าวเกี่ยวกัน คน , คนเคยเมา , คนมองคน , คนหายไปไหน , ควร - ไม่ควร , ความรัก และ ใครหนอ

งามต่างกัน , จนทรัพย์ไม่จนใจ , ฉลาดขอ , ดูคนดูยาก , ดูตัวเอง , ตายดีกว่า , ตายแน่ , ติดข่าย , ตื่น , ทน , ผู้ชนะในสงคราม , สะใภ้ใหม่ , หินจมน้ำ , … โอวาทสุดท้าย

“ ประเสริฐกว่า ” จากเรื่องบุรุษผู้ฆ่าโจรมีเคราแดง ธรรมบท มก . เล่ม ๔๑ หน้า ๔๒๔ ที่ว่า หากวาจาแม้ตั้งพัน ไม่ประกอบด้วยบทที่เป็นประโยชน์ไซร้ บทที่เป็นประโยชน์บทเดียว ซึ่งบุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ประเสริฐกว่า .

“ พูด ” จากกถาวัตถุ มก , เล่ม ๓๔ หน้า ๓๕๙ ชนเหล่าใดพูดกันอยู่ ผิดใจกัน มุ่งมั่นไปคนละทาง ต่างยกตัวกระทบกระเทียบอย่างอนารยชน จ้องหาช่องผิดของกันและกัน ชนเหล่านั้นย่อมยินดีคำผิด คำพลาด ความเผลอ ความเพ้อของกันและกัน อารยชนไม่ประพฤติการพูดกันอย่างนั้น ถ้าอารยชนใคร่จะพูด ก็เป็นผู้ฉลาด รู้จักกาล พูดแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยเหตุผล ที่อารยชนประพฤติกัน ไม่โกรธ ไม่ยกตัว มีใจสงบ ไม่ตีเสมอ ไม่รุนแรง ไม่เอาหน้า รู้ชอบแล้วจึงกล่าว ที่เขาพูดถูกก็อนุโมทนา เมื่อเขาพูดผิดก็ไม่รุกราน ไม่ใฝ่เอาเปรียบ เขาพูดพลั้งไปบ้างก็ไม่ถือ ไม่พูดพล่าม ไม่พูดเหยียบย่ำเขา ไม่พูดคำสบถสาบาน การพูดของสัตบุรุษทั้งหลาย เป็นการพูดเพื่อให้เกิดความรู้ ความเลื่อมใส อารยชนทั้งหลายย่อมพูดกันอย่างนี้ นี่เป็นการสนทนากันแห่งอารยชน ผู้มีปัญญารู้ความข้อนี้แล้ว พึงพูดจาอย่ายกตัว .

ในแต่ละตอนที่ยกมา ในตอนท้ายจะยกอ้างที่มาเพื่อการสืบค้นในพระไตรปิฎกเอาไว้ด้วยทุก ๆ เรื่อง สำหรับผู้ให้ความสนใจในพระธรรมคำตรัสสอนทั้งหลาย อ่านเก็บสะสมอยู่เสมอ เมื่อถึงโอกาสพอดีกับสิ่งที่ต้องพบเข้า และยังนำมาปฏิบัติได้อย่างดีอีกด้วยแล้ว จัดว่าได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง โดยติดต่อเกี่ยวกับหนังสือได้จาก โทร . ๐๒ – ๕๒๔ – ๐๒๕๗ .

 

สุพัฒนะ.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012967650095622 Mins