มหาวิบัติของสังคมจากทิศเบื้องบน (ตอน ๑)

วันที่ 17 พย. พ.ศ.2547


 

 

.....๑. คฤหัสถ์ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง

ถ้าพระภิกษุขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ตามที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้เป็นอย่างน้อยนั้น ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการแรก คือ คฤหัสถ์ไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง เนื่องจากประพฤติกรรมกิเลส ๔ เป็นนิจ ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) เกิดสังคมมิจฉาทิฏฐิ ในบรรดาหน้าที่ของทิศเบื้องบนอันพึงปฏิบัติต่อคฤหัสถ์ ๖ ประการนั้น วัตถุประสงค์สำคัญของพระพุทธองค์ก็คือเพื่อให้คฤหัสถ์ละกรรมชั่วทั้งปวง ตั้งใจทำแต่ความดี เพื่อไปสู่เป้าหมายปลายทางที่สวรรค์และนิพพานตามลำดับ ถ้าทิศเบื้องบนบกพร่องในด้านอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้สมบูรณ์ ก็จะก่อให้เกิดสังคมมิจฉาทิฏฐิขึ้น

นั่นคือ ผู้คนโดยทั่วไปในสังคมจะมีแต่ความคิดมิจฉาทิฏฐิ ขาดสัมมาทิฏฐิ ไม่รู้ว่าคนเราเกิดมาทำไม หรือไม่รู้ว่าตนเองเกิดมาทำไม จึงไม่มีความคิดที่จะสร้างคุณความดี หรือบำเพ็ญบุญบารมีอย่างต่อเนื่องเพื่อกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจตามวิธีการทางพระพุทธศาสนา เพื่อมุ่งสู่วิถีทางแห่งอิสรภาพอันไพบูลย์ คือความหลุดพ้น บรรลุพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ความคิดที่ก่อนให้เกิดผลร้ายที่สุดของคนมิจฉาทิฏฐิก็คือ ไม่มีศรัทธาอย่างแท้จริงในพระธรรม จึงไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ผู้ที่ไม่เชื่อกฎแห่งกรรม ย่อมไม่มีหิริโอตตัปปะ คือความกลัวและอายบาปจึงประพฤติตนตามอำนาจกิเลสในจิตใจ คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง และกามราคะ เข้าลักษณะเป็นคนทุศีลในทุกเรื่อง

ในเมื่อผู้คนในสังคมล้วนแต่มีมิจฉาทิฏฐิ ในที่สุดทิศเบื้องบนเองก็จะถูกมิจฉาทิฏฐิบุคคลเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทางตรงก็คือบวชเข้าไปเป็นบรรพชิตในพระศาสนา และมีพฤติกรรมเยี่ยงอลัชชี ทางอ้อมก็คือเบียดบังผลประโยชน์ของพระศาสนา ในฐานะผู้สนองงานรับใช้ทิศเบื้องบน เป็นต้น

๒) ใช้วจีกรรมทำลายพระพุทธศาสนา คฤหัสถ์ที่ไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ในสังคมไทยส่วนใหญ่จะประกาศตนว่าเป็นชาวพุทธ ด้วยการเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆ ทางพระศาสนาบ้าง แสดงตนให้สังคมรู้ว่า ตนมีวุฒิระดับสูงทางพระพุทธศาสนาบ้าง เช่น เป็นมหาเปรียญธรรมประโยคสูงๆ แต่ในชีวิตประจำวันยังดื่มเหล้าเคล้านารี เล่นพาชีกีฬาบัตรอยู่ ไม่เคยปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นตัวอย่างต่อสังคมเลย เข้าทำนองที่เรียกกันว่า “ มือถือสากปากถือศีล” นั่นเอง

การใช้วจีกรรมทำลายพระพุทธศาสนาของคนมิจฉาทิฏฐิ มีอยู่หลายลักษณะทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็คือการกล่าววิพากษ์วิจารณ์หรือให้ร้ายทิศเบื้องบน หรือวงการสงฆ์โดยรวม โดยขาดข้อมูลที่ถูกต้องโฆษณาชวนเชื่อ นินทาว่าร้ายหรือจ้วงจาบพระสงฆ์บางรูปซึ่งมุ่งหน้าสร้างบารมีพร้อมๆ กับการพัฒนาสังคมไปด้วย แต่การกระทำของท่านกลายเป็นอุปสรรคต่อมิจฉาอาชีวะของพวกเขา

ทางอ้อมก็คือ การแสดงวจีทุจริต เช่น พูโกหก พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด ตลอดจนนินทาว่าร้ายผู้อื่นชีวิตประจำวัน แม้การแสดงวจีทุจริต จะเป็นการทำกรรมกิเลสหรือทำผิดศีลของปัจเจกบุคคลโดยตรง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาทางอ้อม เพราะแสดงให้โลกเห็นว่าพระพุทธศาสนายังไม่สามารถอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกให้เป็นคนดีได้

๓) มีพฤติกรรมทำลายพระพุทธศาสนา ได้กล่าวแล้วว่า มิจฉาทิฏฐิบุคคลย่อมมีพฤติกรรมเป็นคนทุศีล เช่น เบียดเบียนหรือทำร้ายผู้อื่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและทำฆาตกรรม คอรัปชั่น ประพฤติผิดทางเพศ เสพสุรายาเมา ตลอดจนสิ่งเสพติดต่างๆ เป็นต้น พฤติกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการก่อบาปก่อเวรให้แก่ผู้ประพฤติโดยตรงแล้ว ยังเป็นการเบียดเบียน บีบคั้นคนดีในสังคมที่พวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ให้ตั้งอยู่ในความดีได้ตลอด ดังนั้น คนดีก็อาจจำเป็นต้องปกป้องตนเองด้วยพฤติกรรมชั่วร้ายรุนแรงพอๆ กัน หรือมากกว่า ในที่สุดก็จะไม่มีผู้ปฏิบัติตามหลักธรรม และแล้วพระพุทธศาสนาก็จะสูญสลายไปโดยปริยาย

๒. คฤหัสถ์ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมหรือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่ร่วมสังคม

ถ้าพระภิกษุขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของท่านให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดประการที่ ๒ คือ คฤหัสถ์จะไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่ร่วมสังคม ด้วยการเกี่ยวข้องพัวพันอบายมุขเป็นอาจิณ ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) เป็นคนอคติ ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมคิดถึงตนเองหรือประโยชน์ของตน และบริวารของพวกพ้องของตนเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงไม่คำนึงถึงการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เมื่อจะพูดหรือทำสิ่งใดก็จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความลำเอียง คนที่มีใจลำเอียงย่อมพยายามคิดหากลวิธีพลิกแพลงมากระทำการต่างๆ ให้เบี่ยงเบนไปจากความยุติธรรม พฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเจนมากในสังคมก็คือ ระบบอุปถัมภ์ หรือระบบเส้นสาย ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมโดยทั่วไป หรือที่เรียกว่า การเลือกปฏิบัติในสังคมแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาเลวร้ายตามมาเป็นลูกโซ่ นับตั้งแต่ปัญหาคอรัปชั่น การติดสินบน การกลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสีกัน ตลอดจนกระทั่งการตั้งศาลเตี้ยขึ้นมาตัดสินปัญหาโดยพลการด้วยการฆาตกรรมกันเป็นต้น ดังนั้น สังคมของผู้ที่มีอคติจึงหาความสงบสุขและความเจริญได้ยากยิ่ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีสิ่งพึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ถ้าทิศเบื้องบนมีอริยวินัยสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สมบูรณ์ไม่มีบกพร่อง ย่อมส่งผลให้ทิศอื่นๆ มีอริยวินัย ต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ ได้สมบูรณ์ตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศเบื้องหน้า ย่อมจะสามารถปลูกฝังนิสัยรักความยุติธรรมให้แก่บุตรธิดาของตนตั้งแต่เยาว์วัย ครั้นเมื่อเยาวชนเหล่านี้ไปโรงเรียน ย่อมจะได้รับการปลูกฝังนิสัยรักความยุติธรรมเป็นการตกย้ำเพิ่มเติมจากทิศเบื้องขวาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีก ครั้นเมื่อเยาวชนเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ย่อมจะเป็นผู้ใหญ่ที่รักความยุติธรรม เกลียดชังนิสัยอคติ สังคมใดที่มีแต่ผู้รักความยุติธรรม สังคมนั้นย่อมเป็นสังคมสันติสุข สามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าไปได้ด้วยศักยภาพในตนเอง

สมมุติว่าเรามีแม่พิมพ์โลหะอยู่อันหนึ่ง ถ้านำแม่พิมพ์นี้ไปพิมพ์ขนม (แห้ง) ไม่ว่าขนมจะมีเครื่องปรุงแตกต่างกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นขนมไทย แขก ฝรั่ง หรือ จีน เมื่อพิมพ์ออกมาเสร็จแล้ว ขนมเหล่านั้นทุกชิ้นย่อมมีรูปทรงเหมือนแม่พิมพ์ทุกประการ อาจจะมีขนมบางชิ้นไม่เหมือนแม่พิมพ์อยู่บ้าง ก็เพราะมีบางส่วนบิ่น หรือแตกออกไปเล็กน้อย เนื่องจากสาเหตุบางประการแต่ก็ยังมีเค้าโครงของแม่พิมพ์ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

ข้อนี้ฉันใด ถ้าทิศเบื้องบนมีอริยวินัย ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ไม่บกพร่อง ทิศต่างๆ อีก ๕ ทิศ ย่อมมีอริยวินัยปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ ได้สมบูรณ์ไม่บกพร่องฉันนั้น อาจจะมีบางคนในบางทิศปฏิบัติหน้าที่หย่อนยานไปบ้าง แต่ก็คงไม่ถึงขั้นขาดอริยวินัยจนกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีอคติแรงกล้า ถึงกับก่อความระส่ำระสายขึ้นในสังคม ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน...

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017879732449849 Mins