มหาวิบัติของสังคมจากทิศเบื้องล่าง (ตอนจบ)

วันที่ 10 พย. พ.ศ.2547


 

 

.....ข. ลูกน้องหรือลูกจ้างขาดความสำนักรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ก็เพราะไม่เข้าใจถึงคุณค่าและความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทั้งใกล้และไกลตัว ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัย และแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) ขาดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้คนในทิศนี้อ่อนด้อยด้วยประการต่างๆ จึงมากด้วยอวิชชาและมิจฉาทิฏฐิ ดังได้พรรณนามาแล้ว ยิ่งได้มาทำงานกับนายจ้างมิจฉาทิฏฐิ ที่มุ่งแต่จะใช้แรงงานของลูกจ้างอย่างเดียว โดยไม่มีการให้การศึกษาอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม บรรดาลูกจ้างเหล่านี้ก็จะไม่มีความเข้าใจ มองไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทั้งใกล้และไกลตัวเอาเสียเลย เพราะเหตุนี้ นอกจากพวกเขาจะขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังไม่เห็นด้วย และไม่ร่วมมือในการแก้ไขปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับตนเองโดยตรง ในส่วนที่เกี่ยวกับนายจ้าง ตลอดถึงในส่วนที่เป็นสาธารณะ

๒) คุ้นกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรกรกรุงรัง ลูกจ้างประเภทขายแรงงาน ล้วนเกิดมาในครอบครัวแร้นแค้น อาศัยอยู่ในกระต๊อบ ในเพิงหมาแหงน หรืออย่างดีก็ในบ้านเรือนหรือเรือนเก่าแก่คร่ำคร่าที่ค่อยๆ ผุพังไปทีละเล็กละน้อย หรือมิฉะนั้นก็อยู่กับตามบ้านหลังเล็กๆ ที่ปลูกแออัดยัดเหยียดกันในสลัมต่างๆ มีไม่น้อยที่ปลูกเป็นเรือนอยู่บนน้ำครำ หรือบุกรุกที่ริมคลองสาธารณะต่างๆ ไปจนถึงทำเพิงอยู่บนแพเชื่อมโยงระหว่างริมคลองกับฝั่งคลอง

บ้านเหล่านี้โดยทั่วไปก็จะมีลักษณะที่เรียกว่าบ้านห้องเดียว (ภายในบ้านไม่มีการแบ่งเป็นห้อง) มีสมาชิกที่อยู่กันอย่างน้อยที่สุดก็ ๓ คน คือ พ่อ แม่ ลูก แต่ในสภาพที่เป็นจริงโดยทั่วไปนั้นจะมีสมาชิกในครอบครัวอยู่กันมากกว่านี้ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ในการที่จะจัดบ้านที่มีสมาชิกอยู่กันอย่างแออัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน ถูกสุขอนามัย เพียงแค่เรื่องห้องน้ำก็เป็นปัญหาแล้ว

บ้านคนยากจนแร้นแค้น ถ้าอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ก็ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ผู้คนเหล่านี้จึงบำบัดทุกข์หนักของตนด้วยการ “ ไปทุ่ง” ส่วนทุกข์เบานั้นปลดเปลื้องได้ง่ายกว่า เพียงเหลียวซ้ายแลขวามองไม่เห็นใครแปลกหน้า ก็ปฏิบัติการได้

สำหรับผู้ที่อยู่ตามริมคลองก็จะปล่อยทุกข์ไม่ว่าหนักหรือเบาลงคลอง โดยคิดด้วยจิตเป็นกุศลว่า จะบริจาคอาหารให้ปลาและเหล่าสัตว์น้ำทั้งหลาย ในขณะเดียวกันก็ใช้น้ำในคลองที่ตนปล่อยสิ่งปฏิกูลนั้น สำหรับบริโภคอุปโภค

คนยากจนเหล่านี้ถ้าไม่มีโอกาสเรียนรู้ถึงสิ่งที่ดีกว่า เขาก็จะไม่รู้จักพัฒนาตนเอง การที่พวกเขาคุ้นอยู่กับสิ่งสกปรก ความไม่มีระเบียบมาตั้งแต่เกิด จนกลายเป็นลักษณะนิสัยแล้ว พวกเขาก็จะไม่เห็นความจำเป็นและคุณค่าของการรักษาความสะอาดอาคารสถานที่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและอาหาร พวกเขาจะไม่เห็นความจำเป็นและคุณค่าของการจัดอุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นระบบระเบียบ หรือการมีระเบียบวินัยในการทำงาน การกินการพูด ตลอดจนการแสดงกิริยามารยาท โดยสรุปก็คือพวกเขาจะมีลักษณะนิสัยเป็นคนมักง่ายนั่นเอง

ครั้นเมื่อถูกนายจ้างจี้จุดบกพร่อง และเข้มงวดกวดขันพวกเขาให้ทำงานดีขึ้น พวกเขาก็จะมองว่านายจ้างจู้จี้อย่างไร้สาระ เมื่อสบโอกาสก็นินทาว่าร้ายนายจ้าง ส่วนพวกเขาก็ยังไม่ได้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น และถ้ามีคนใดคนหนึ่งถูกปลดออก ถูกไล่ออก ลูกจ้างมิจฉาทิฏฐิเหล่านี้ก็จะก่อปัญหายุ่งยากต่อไปอีก นั่นคือเกิดปัญหาทั้งคนแวดล้อมและสิ่งแวดล้อม

๓) ก่อมลพิษ การกระทำของคนเราที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาตินั้นมีอยู่มากมายหลายประเภท การก่อมลพิษ เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมขั้นอุกฤษฏ์ประเภทหนึ่ง เพราะสามารถทำลายสุขภาพและความเป็นอยู่ ของคนเราทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างกว้างขวาง

บรรดาลูกจ้างที่ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จะมีพฤติกรรมก่อมลพิษได้หลายทาง เช่นทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในลำน้ำ ซึ่งจะเป็นเหตุให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำในคูคลองต่างๆ เมื่อเน่าเสียก็ย่อมจะส่งกลิ่นเหม็น เป็นการก่อมลพิษทั้งในน้ำและอากาศ การไม่เอาใจใส่ดูแลเครื่องยนต์ในยวดยานพาหนะต่างๆ เช่น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ต่างๆ เมื่อใช้ขับขี่จะปล่อยควันพิษเหม็น และส่งเสียงดังมากเป็นการก่อมลพิษทั้งในอากาศและทางเสียง การปล่อยน้ำเสียที่ยังไม่ได้รับการบำบัด และการทิ้งสารพิษจากโรงงานย่อมเป็นการก่อมลพิษในแม่น้ำลำคลอง ที่ก่อผลเสียอย่างกว้างขวาง

ลูกจ้างที่ก่อมลพิษต่างๆ ดังกล่าว บางคนทำเพราะไม่รู้จริงๆ บางคนทำเพราะมักง่าย บางคนทำเพราะต้องการกลั่นแกล้งเพื่อนฝูง หรือนายจ้าง

เพราะฉะนั้น ผู้เป็นนายจ้างทั้งหลาย จำเป็นต้องเข้าใจพื้นเพและต้องเอาใจใส่ดูแลลูกจ้างของตนอย่างรอบคอบ ต้องให้การฝึกฝนอบรมในการทำงานโดยให้มีความเข้าใจเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ของกฎระเบียบต่างๆ และจะต้องไม่มองข้ามความสำคัญในการอบรมจิตใจควบคู่ไปด้วย อย่าพึงคิดเป็นอันขาดว่าลูกจ้างคือผู้ขายแรงงาน เมื่อตนจ่ายค่าแรงงานไปแล้ว เป็นอันจบกระบวนการซื้อขาย

สรุปปัญหาในทิศเบื้องล่าง

ปัญหาในทิศเบื้องล่างนี้อาจแบ่งอาจได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ปัญหาที่สังคมเห็นได้ชัดเจน คือ สินค้าไม่มีคุณภาพจึงส่งออกไม่ได้ หรือขายได้ในราคาต่ำ ปัญหาแรงงาน เสียดุลการค้า ค่าของเงินบาทขาดเสถียรภาพ บริษัทต่างชาติเข้าครอบครองกิจการ ฯลฯ

๒. ปัญหาที่สังคมมองไม่เห็น คือ การขาดอริยวินัยของนายจ้าง สำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมมือกันสร้างความรับผิดชอบทั้ง ๔ ประการ ขึ้นมาให้ได้ พร้อมๆ กับการสร้างอริยวินัยอันเป็นหน้าที่ ที่กำหนดไว้ในทิศเบื้องล่าง โดยที่นายจ้างจะต้องเป็นผู้ปรับปรุงแก้ไขตนเองเสียก่อน พร้อมกันนั้นก็ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ลูกจ้างด้วยทั้งสองฝ่ายต่างต้องร่วมมือกันแก้ไข ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันมีความรักและความเมตตาต่อกัน จึงจะสัมฤทธิผลได้ แต่ถ้าจะคอยให้รัฐบาลหรือบุคคลที่สามเข้าไปแก้ไข เชื่อว่าไม่มีทางสำเร็จได้เลย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020151631037394 Mins