ศรัทธา กับ ปัญญา ( บทสนทนาทางปรัชญาว่าด้วยศาสนา )

วันที่ 19 กย. พ.ศ.2547

 

โดย สุวรรณา สถาอานันท์

 

.....“ ในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทยยอมรับคำกล่าวที่ว่า “ พระเจ้าพิสูจน์ไม่ได้”

“ ศาสนาเทวนิยมใช้แต่ศรัทธาหามีปัญญาไม่ ” โดยไม่ตั้งคำถามใด ๆ

หนังสือเล่มนี้เสนอให้พุทธศาสนาพูดคุยสนทนากับศาสนาสายเอกเทวนิยม … เป็นความพยายามทางวิชาการ ที่จะสะท้อนบทสนทนาอย่างสร้างสรรค์ ระหว่างสองสายธารความคิดนี้ ในประเด็นที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์สามัญ เช่น วิธีอธิบายโลก ความจริงและความหมายของคัมภีร์ศาสนา ความยุติธรรมทางศาสนา และพหุนิยมทางศาสนา

โดยผู้เขียนเห็นว่าแนววิธีศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาศาสนา น่าจะเริ่มต้นด้วยการแสดงความเคารพข้อเสนอทางศาสนาด้วยความสงสัย ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าการยอมรับโดยดุษณีปราศจากข้อสงสัยใด ๆ อาจมิใช่อาการแห่งความเข้าใจสิ่งที่ตนอ้างว่า “ ยอมรับ ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อบรมธรรมพร้อมรับมานั้นเป็นการอ้างถึงสัจธรรมอันสูงสุด ความสงสัย . … เป็นอาการแห่งความเคารพในสัจธรรมนั้นเอง ในทางปฏิบัติ ท่าทีดังกล่าวนำไปสู่การวิเคราะห์โดยให้เอกเทวนิยมและพุทธปรัชญา สามารถพูดคุยสนทนากันอย่างมีความหมาย ด้วยความหวังว่า บทสนทนาดังกล่าวจะนำไปสู่ความเคารพและไมตรีจิตระหว่างเอกเทวนิยมกับพุทธปรัชญา และความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากับศาสนา

โดยมีประเด็นมุมมองที่นำขึ้นมา ได้แก่ ที่มาของความรู้ - เหตุผล ศรัทธา ปัญญา , เกี่ยวกับวิธีอธิบายโลก , การพิจารณาความจริงในคัมภีร์ทางศาสนา , ความยุติธรรมทางศาสนา , พหุนิยมทางศาสนาและอนาคตของปรัชญาศาสนา

ในเชิงวิชาการพยายามจัดองค์ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนากับปรัชญานี้ น่าจะเป็นประเด็นแก่ผู้สนใจ ดังเช่น

บางส่วนของที่มาแห่งความรู้ เหตุผล ศรัทธา ปัญญา ในบริบทปรัชญาศาสนาตะวันตก ความน่าเชื่อถือของข้อความที่ตั้งอยู่บนฐานของศรัทธา ถูกตรวจสอบด้วยเกณฑ์อันเข้มงวดจาก วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในส่วนพุทธปรัชญา “ ศรัทธา ” ก็ถูกมองว่าต้องมีการควบคุมกำกับด้วยปัญญาทุกขั้นตอน ( ศรัทธา – สัมมาทิฐิ - สัมมาญาณะ - สัมมาวิมุตติ )

ในส่วนพุทธศาสนา ความถูกต้องแม่นยำของความรู้แบบปัญญานั้น เกิดจากการมีประสบการณ์โดยตรง ของผู้ปฏิบัติในฐานะปัจเจกบุคคล ที่มิได้จำกัดอยู่แต่ประสบการณ์ในความหมายเชิงประจักษ์เท่านั้น และต้องระลึกอยู่เสมอด้วย เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาครอบคลุมมากว่าข้อห่วงใยในความแม่นยำเชิงทฤษฎี

การพิจารณาความจริงในคัมภีร์ทางศาสนา ศาสนาฝ่ายเอกเทวนิยม ถือว่าศาสนิกชนยอมรับบัญญัติชุดเดียวกัน ในฐานะแหล่งพระวจนะของพระเจ้าที่สำคัญที่สุด ศาสนาเอกเทวนิยมแฝงฝัง “ ความจริง ” เกี่ยวกับพระเจ้าสูงสุดไว้ในพระวจนะ คือบัญญัติอันเผยแสดงเจตจำนงของพระเจ้าแก่มนุษย์ และเป็นฐานแห่งบทสนทนาระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ผ่านประวัติศาสตร์แห่งความรอด

ในอีกทางหนึ่ง ความจริงสูงสุดแห่งพุทธศาสนา เป็นประสบการณ์ที่อยู่เหนือบัญญัติ ที่แตกต่างจากของศาสนาเอกเทวนิยมอย่างสำคัญ เพราะเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งมีไว้นำพาสรรพสัตว์สู่การพ้นทุกข์ ฝ่ายเถรวาทก็มีบัญญัติชุด พระไตรปิฎก รวมอรรถาธิบายของอรรถกถาจารย์ต่าง ๆ ไว้ ฝ่ายมหายานก็มีพระสูตรต่าง ๆ ของตนมากมาย

กรรมกับความยุติธรรมทางศาสนา … การเน้นถึงผลของกรรมซึ่ง “ ย่อม ” ติดตามบุคคลไป เหมือนเงาติดตามตัว เป็นการยืนยันความแน่นอนเที่ยงแท้ของกฎแห่งกรรม วิถีของกฎแห่งกรรม ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปว่ากำลังเสนอให้มองความยุติธรรมทางศีลธรรมในแง่ “ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ” หรือไม่ “ ผลของกรรมแท้ ๆ คือ ความดีหรือความชั่ว มีอยู่ในตัวการกระทำนั้นเอง ทำดีดีเสร็จ ทำชั่วชั่วเสร็จ ตั้งแต่เมื่อทำ ”

ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมที่เป็นปัญหามากในสังคมไทย ส่วนหนึ่งที่ว่า กรรมเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลล้วน ๆ แน่นอน มีลักษณะทฤษฎี “ ต่างตอบแทน ” หรือ “ ผลสืบเนื่อง ”

แต่เมื่อมองแง่มุม ความสัมพันธ์ระหว่างกรรมและการเกิดใหม่ตามคติพุทธศาสนา หรือชีวิตฝ่ายวิญญาณ หลังความตายตามคติฝ่ายเอกเทวนิยม จะเห็นจุดร่วมและจุดต่างบางประการที่น่าสนใจยิ่ง และศาสนาเกือบทุกศาสนาก็ว่าได้ ต่างมีคำสอนเรื่อง ชีวิตหลังความตาย แม้จะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่คำสอนเหล่านั้น ล้วนแต่ให้ภาพชีวิตหลังความตายที่ผูกพันเกี่ยวข้องกับมิติศีลธรรมทั้งสิ้น

นับเป็นงานบุกเบิกที่น่าจะช่วยให้สังคมไทยได้พบปะพูดคุยกับศาสนาที่เป็นรากเหง้าแห่งอารยธรรมที่สำคัญของโลก

ติดต่อสอบถามหาหนังสือนี้ได้ที่ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนี้ โทร . ๐๒ – ๒๑๘ – ๗๐๐๐ . ค่ะ

 

สุพัฒนะ.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0024131178855896 Mins