.....หากด้วยเพราะความรู้ที่ยังขาดรายละเอียดที่แท้จริงนั้น อาจส่งผลต่อความเข้าใจอันถูกต้องในการคิดเห็น การกล่าวถึงวัดวาอารามต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องราวของสมณศักดิ์ และขอบเขตการปฏิบัติงานการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งมีที่มาอย่างไร น่าจะกลายเป็นความจำเป็นที่แม้ฆราวาสก็ควรมีเอาไว้เป็นภูมิรู้ เมื่อถึงคราวต้องหยิบยกขึ้นกล่าวบ้างในบางโอกาสนั้น ๆ
โดย คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน จัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นตรงตามต้นฉบับเดิม และเพิ่มเติม เรื่อง “ ตราตำแหน่งสมณศักดิ์ ) จารึกติดที่หลังบานหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าประวัติความเป็นมาของการปกครองคณะสงฆ์สมัยต้นรัตนโกสินทร์
และด้วยประวัติอันน่าศึกษา จากตำนานพระอาราม ครั้งเสนาบดีกระทรวงธรรมการเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลที่ ๕ พระอารามทั้งในกรุง รวมถึงหัวเมือง กว่า ๑๑๕ วัดนั้น ที่เกิดด้วยพระราชศรัทธาในพระมหากษัตริย์ไทยในรัชสมัยต่างๆ รวมไปถึงพระบรมวงศ์ เจ้าเมือง ข้าราชการ มีทั้งที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จนถึงการปฏิสังขรณ์สถาปนาขึ้นอีก เหล่านี้ในแง่ของความสำคัญจัดได้ว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับเป็นที่ยิ่งด้วยจึงให้มีขึ้นได้ในแต่ละแห่ง
อธิบายคณะสงฆ์แลสมณศักดิ การปกครอง ครั้งกรุงศุโขไทย จนถึงครั้งกรุงธนบุรี ที่สืบค้นได้นี้ เชื่อว่าได้มีมาแล้ว แม้เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ และเพราะเมื่อมีผู้ศรัทธาอุปสมบทในพระพุทธศาสนามากขึ้น เป็นเหตุจำต้องมีการปกครองสงฆบริษัทขึ้นตามลำดับ ให้ระบบระเบียบแบบแผนไว้สืบปฏิบัติกัน
สมณศักดิ์ในสยามประเทศที่พบหลักฐานเปนเก่าก่อนที่สุดมีในศิลาจาฤกของพ่อขุนรามคำแหง มีสังฆราช ปู่ครู มหาเถระ แลมีเถระ จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์เปนฝ่ายขวา ๑ ฝ่ายซ้ายอีก ๑ น่าจะเป็นด้วยเรื่องมีพระสงฆ์ต่างนิกายกันเกิดขึ้น ที่ในสยามก็มีพระสงฆ์อยู่แล้วแต่เดิมพวก ๑ กับที่รับลัทธิสังกาวงษ์เข้ามาอุปสมบทแพร่หลายขึ้นอีกพวก ๑ ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยายังมีคณะคามวาสีเป็นคณะ ๑ อรัญวาสีอีกคณะ ๑ ตลอดมา ส่วนราชทินนามสมณศักดิ์ในสยามประเทศ พึ่งมามีขึ้นในครั้งศุโขไทยตอนปลาย การแสดงความเป็นมาคือความน่าสนใจ ด้วยเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอกของบ้านเมืองในระยะขณะนั้นด้วย ที่เชื่อมโยงกันอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ ที่แฝงไว้ตามเรื่องราวต่าง ๆ อันปรากฏและถูกหยิบยกขึ้น
การให้ความสำคัญมีพระอารามเกิดขึ้นมากมาย การจัดระเบียบการปกครอง กำหนดพระราชาคณะขึ้นมาบริหารงานพระศาสนา เหล่านี้คืออีกภาพหนึ่งของความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่ถูกสืบทอด ธำรงรักษาไว้อย่างสำคัญอีกทางหนึ่ง
เป็นหนังสือพิมพ์ถวายเป็นมุทิตาสักการะพระราชปริยัติกวี เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนมีเมตตาจิต ให้จัดพิมพ์ขึ้น
สุพัฒนะ.