.....๓ . คนดีต้องมีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ ด้วยการควบคุมคนให้พ้นจากอบายมุข ๖ อบายมุข แปลว่า ทางแห่งความฉิบหาย หรือเหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ มี ๖ ประการ คือ หมกมุ่นอยู่กับการดื่มน้ำเมา การเที่ยวกลางคืน การดูการละเล่น การเล่นการพนัน การคบคนชั่วเป็นมิตร และความเกียจคร้านในการทำการงาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า แม้อบายมุขทั้ง ๖ ประเภท จะเป็นทางนำความฉิบหายมาสู่ตัวเราก็ตาม แต่ทรงชี้ว่า การคบคนชั่วเป็นมิตรนั้น คือ สุดยอดแห่งความเลวร้ายในบรรดาอบายมุขทั้งปวง เพราะคนชั่วย่อมมีอิทธิพลชักนำเราไปสู่อบายมุขอื่น ๆ ที่เหลืออีกทั้งหมดได้ เราอาจต้องกลายเป็นคนชั่วไปตลอดชีวิต เพราะไม่สามารถกลับตัวกลับใจเป็นคนดีได้
ใครก็ตามเมื่อชีวิตตกอยู่ในสภาพคนชั่วเสียแล้ว ในฐานะส่วนตัวชื่อว่าได้ปิดทางสวรรค์นิพพานของตนเองโดยสิ้นเชิง ในฐานะสมาชิกของสังคม จะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นตัวอันตรายที่จะสร้างปัญหาเลวร้ายนานาประการให้แก่สังคม จะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคน “ เสียชาติเกิด”
คนที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนชั่วเสียแล้ว ย่อมหมดกำลังใจทำความดี แต่จะหันไปทำกรรมชั่วต่อไปอีก ชีวิตจึงมีแต่จะตกต่ำลงเรื่อย ๆ ถึงขนาดข้ามภพข้ามชาติทีเดียว
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า การพนันกำลังเป็นอบายมุขที่ทำลายเศรษฐกิจของผู้คนอย่างหนัก ในสังคมไทยปัจจุบัน บางคนที่เคยเป็นคนดีต้องกลายเป็นโจรปล้นธนาคาร เพื่อหาเงินมาใช้หนี้จำนวนมาก อันเนื่องมาจากการเล่นการพนัน บางคนต้องสูญเสียบ้านและที่ดินเพราะการพนัน แม้จะมีนักการพนันบางคนร่ำรวยจากการพนัน แต่ไม่ช้าไม่นานก็อาจจะกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะฤทธิ์การพนัน เข้าทำนองกงเกวียนกำเกวียนนั่นเอง คือเคยล้างผลาญคนอื่นมาแล้ว ในที่สุดตัวเองก็ต้องถูกล้างผลาญอย่างหนีไม่พ้น ปู่ย่าตายายจึงสอนไว้ว่า ไฟไหม้บ้าน ๑๐ ครั้ง ไม่เท่าเสียพนันเพียงครั้งเดียว
ในปัจจุบัน การพนันได้ระบาดไปทั่วทุกกลุ่มชน ไม่เลือกเพศ วัย ตำแหน่ง ฐานะ สิ่งนี้คือตัวบ่งชี้ว่า สังคมไทยคราคร่ำไปด้วยคนไม่ดีหรือคนที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ถึงเวลาแล้วที่ผู้ซึ่งยังมีสติสัมปชัญญะและสัมมาทิฏฐิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารบ้านเมือง จะต้องช่วยกันปฏิรูปสังคมไทยให้ปลอดจากการพนัน อย่าได้คิดอย่างมักง่าย ใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง โดยแก้ปัญหาเรื่องการพนันด้วยการส่งเสริมการพนันทุกรูปแบบให้ถูกกฎหมาย ดังที่มีผู้คนกำลังเสนอแนะความคิดเห็นกันอยู่ในขณะนี้เลย ภาษีจากการพนันที่รัฐอาจจะได้รับเพียงจำนวนหนึ่งนั้น ไม่คุ้มกับการมีประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศชาติเป็นคนเลวติดต่อกันชั่วลูก หลาน เหลน
บุคคลที่ไม่ข้องแวะกับอบายมุข ๖ ก็เพราะมีจิตใจละเอียด จึงมีปัญหาตรองเห็นโทษภัยของอบายมุข คนประเภทนี้ย่อมมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคง เพราะมีอริยวินัยในการหาและการใช้จ่ายทรัพย์ จะร่ำรวยหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับอาชีพที่เลือกประกอบ ถ้าเป็นอาชีพที่รับเงินเดือนย่อมไม่ร่ำรวย แต่ก็จะไม่ยากจนอย่างแน่นอน นอกจากจะเป็นคนดีสามารถครองตัวอยู่ในความดีได้โดยตลอดแล้ว ยังจะเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของบุคคลรอบข้างอีกด้วย คุณธรรมของเขาย่อมพัฒนาเป็นลักษณะนิสัย และพฤติกรรม ๑๖ ประการ ของมิตรแท้ได้โดยง่าย
๔ . คนดีต้องมีความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมนั้นมีอยู่ ๒ ประเภทคือ
๑ ) สิ่งแวดล้อม คือบุคคลที่แวดล้อมตัวเรา หรือบุคคลที่พบปะเกี่ยวข้อง คบหาสมาคมกับเรา ซึ่งมีอย่างมากไม่เกิน ๖ กลุ่ม พระพุทธศาสนามีคำศัพท์เฉพาะเรียกว่า ทิศ ๖
๒ ) สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
การมีความรับผิดชอบต่อทิศ ๖ หมายความว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเราและทิศ ๖ ดำเนินไปอย่างราบรื่นตลอดเวลา โดยต่างฝ่ายต่างมีอริยวินัย ทำหน้าที่ของตนตามที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดได้อย่างสมบูรณ์ไม่บกพร่องเลย ถ้าเป็นเช่นนี้ย่อมชื่อว่า ตัวเราสามารถปิดป้องทิศ ๖ ได้หรือมีความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖
การมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ หมายถึงการให้ความสนใจและตั้งใจอนุรักษ์และพัฒนาธรรมชาติแวดล้อมทั้งใกล้และไกลตัว ให้อยู่ในสภาพที่ดีเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้ เช่น การรักษาบ้านเรือน ถนนหนทาง ตลอดจนภูมิประเทศและบรรยากาศแวดล้อมให้สะอาด บริสุทธิ์ไม่เกิดมลภาวะ ด้วยการปล่อยให้รกรุงรัง ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด หรือปล่อยสิ่งปฏิกูลและสารพิษลงไปในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ให้เน่าเสีย ไม่ปล่อยแก๊สพิษหรือสารพิษ ตลอดจนฝุ่นละออง ให้แพร่กระจายไปในอากาศไม่ก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนโสตประสาทของผู้คนในชุมชน ตลอดจนไม่ตัดไม้ทำลายป่าและบุกรุกเขตป่าสงวน เพราะการกระทำต่าง ๆ ดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่ทำลายบรรยากาศอันบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะมีผลทำลายความอยู่ดีมีสุขของพลเมืองในสังคมโดยส่วนรวม
ใครก็ตามที่ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติถือว่าไม่ใช่คนดี เพราะฉะนั้นคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ ประการที่ ๔ คือต้องมีความสำนึกรับผิดชอบต่อทั้งทิศ ๖ และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
บุคคลที่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อทั้งทิศ ๖ และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ แสดงว่ามีพื้นฐานจิตใจดีมาก มีจิตใจละเอียดอ่อน มีน้ำใจกว้างขวาง ไม่ถือเอาตนเองเป็นใหญ่ ไม่เห็นแก่ตัว มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทั้ง ๒ ประการ เป็นอย่างมาก เพราะมีปัญญาตรองเห็นว่า ตนเองจะสามารถครองชีวิตอยู่อย่างสันติสุขได้ มีโอกาสสร้างบุญสร้างบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็เพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีพร้อม จึงตั้งใจประพฤติปฏิบัติตนต่อสิ่งแวดล้อมทั้ง ๒ ประการ เป็นอย่างดี คุณธรรมเหล่านี้ย่อมพัฒนาขึ้นเป็นลักษณะนิสัย และพฤติกรรมของมิตรแท้ ๑๖ ประการได้โดยง่าย
จากธรรมบรรยายทั้งหมดนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า สังคมดีที่โลกต้องการ คือสังคมที่ประกอบด้วยมวลสมาชิก ซึ่งบริบูรณ์พร้อมด้วยคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ ๔ ประการ ดังกล่าวแล้ว และคุณสมบัติดังกล่าวนี้ สามารถพัฒนาเป็นลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของมิตรแท้ ๑๖ ประการได้โดยง่าย
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการทั้ง ๔ ประการนี้ ถือว่าเป็นเพียงอริยวินัยพื้นฐาน เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น ครั้นเมื่ออยู่ในสังคมยังจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งถือว่าเป็นอริยวินัยเพิ่มขึ้นอีก เช่น คุณสมบัติของกัลยาณมิตร