.....ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ นำเสนองานวิเคราะห์ปัญหาและวิกฤตการณ์ศาสนาตะวันตก ของ ไมเคิล ไรท์ ในหัวข้อ ใครอยากเข้าใจตะวันตก การกล่าวถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ศาสนาธรรมชาติ ศาสนายิว ตั้งแต่ยุคนิทาน- โมเสสและการอพยพออกจากอียิปต์- ยุครุ่งโรจน์และเสื่อมโทรม- ยุคทำนาย- ยุคเงียบ กำเนิดคริสต์ศาสนา- ยุคมืด- ยุคเกิดใหม่และการปฏิรูปศาสนา- ยุค” พุทธิ” และกำเนิดวิทยาศาสตร์ คริสต์ศาสนายุคปัจจุบัน อนาคตของตะวันตกและของโลก
ยุค “ พุทธิ” และกำเนิดวิทยาศาสตร์ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ปัญญาชนตะวันตกเริ่มเชื่อว่าเหตุผล ของนักปราชญ์กรีกสามารถนำไปสู่สรรเพชุดาญาณ, รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง, จนในที่สุดมนุษย์จะบรรลุถึงความเจริญที่แท้จริงในโลกอุดมคติ
คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เรียกตัวเองว่า “ ยุคพุทธิ” เพราะปัญญาชนรุ่นนั้นเชื่อว่าเขาสามารถรู้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง วิทยาศาสตร์ทุกแขนงย่างเข้าสู่สมัยใหม่ เช่น ทฤษฎีความโน้มถ่วงของโลก การหมุนเวียนของโลหิตสมอง เป็นที่เกิดของความนึกคิดและความรู้สึก ไฟไม่เป็นธาตุ แต่เป็นการประสมระหว่างธาตุอื่นกับออกซิเจน และอีกมากมาย
นอกจากนักเศรษฐศาสตร์แล้ว ปัญญาชนยุค “ พุทธิ” มักมองโลกในแง่ดีเพราะเขาเป็น “ ปลาในน้ำไม่เห็นน้ำ” เขาจึงมองไม่เห็นปัญหาพื้นฐานทางวัฒนธรรมและสังคม
ปัญหาแรก คือ ชาวตะวันตกทุกชนชั้นแต่ก่อน ( ยุคมืด) อยู่ใน “ ไตรภูมิ” อันเดียวกันที่พระศาสนจักรคุมไว้ มาในยุค “ พุทธิ” ปัญญาชนเป็นเจ้าของที่ดินที่มี “ ไตรภูมิ” ใหม่ที่มี “ เหตุผล” จึงมองโลกผิดกับชาวบ้านที่ยังอยู่ในไตรภูมิเดิม “ พุทธ” จึงกลายเป็น สมบัติผู้ดี และ “ ความโง่” เป็น สมบัติชาวบ้าน ปัญหาข้อนี้ฝ่ายตะวันตกยังแก้ไม่ค่อยได้
ปัญหาที่สอง คือ พระศาสนจักร ( ทั้งฝ่ายกรุงโรมและฝ่ายปฏิรูป) ยังดำรงอำนาจปกครองชาวบ้าน แต่แทบไม่มีความคิดสร้างสรรค์อีกต่อไป ท่านได้แต่ยืนกระต่ายขาเดียวว่าระบอบปกครองเดิมและความเชื่อเดิมนั้นดีแล้ว ดังนั้นผู้นำทางศาสนาได้เสียบทบาทผู้นำทางปัญญาเสียแล้ว, และกลายเป็นผู้ยับยั้งความเจริญทางความคิด
ปัญหาที่สาม คือ การอธิบายเจ้าพ่อเจ้าผีของชาวยิวด้วยเหตุผลแบบนักปราชญ์กรีก ทำให้พระผู้เป็นเจ้ากลายเป็น “ ปฐมเหตุ” ที่ปัญญาชนพอนับถือได้ แต่ชาวบ้านธรรมดา ๆ ไม่น่าศรัทธาได้เพราะพระผู้เป็นเจ้าของนักปราชญ์คล้ายเป็นเมฆเป็นหมอกที่ไม่มีตัวตน
ศาสนาคริสต์และวิทยาศาสตร์มีปัญหาและความขัดแย้งกันสูง เพราะพระศาสนจักรมีบทบาทสูงมากมาช้านานแล้วในการปกครองบ้านเมือง เครื่องมือของท่านในการครองบ้านเมืองคือการควบคุมความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อเรื่องไตรภูมิ ดังนั้นการท้าทายความเชื่อเรื่องไตรภูมิเป็นการเขย่าโครงสังคมและท้าทายอำนาจของรัฐ ทั้งคัมภีร์ของยิวและนักปราชญ์กรีกต่างรับรองว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ใคร ๆ ก็รู้ว่า กรุงโรมเป็นศูนย์กลางของโลก กษัตริยาธิราชน้อยใหญ่ในยุโรปจึงน้อมต่อสมเด็จพระสันตะปาปาเยี่ยงดาวนพเคราะห์ที่หมุนอยู่รอบลูกโลก
ในกรณีเช่นนี้คนส่วนใหญ่ ( โดยเฉพาะผู้นำศาสนามิได้แยกแยะระหว่าง โลกุตระสัจจะ (Spiritual Truth ของศาสนา) กับโลกิยสัจจะ (Physical Truth ของวิทยาศาสตร์) ซึ่งต่างเป็นคนละเรื่องกัน
ยุคนี้น่าสนใจมาก เพราะชาวตะวันตกยังเข้าวัดฟังเทศน์ตามประเพณี แต่พระศาสนจักรหมดบทบาทเป็นผู้นำทางปัญญาเสียแล้ว สาธุคุณโดยมากเป็นลูกผู้ดีที่เทศนาปลอบใจผู้ดี และข่มขู่ชนชั้นกรรมาชีพ ให้ละความชั่วหนีนรก ขยันหมั่นเพียร เชื่อท่านผู้ใหญ่ อ่อนน้อมต่อสภาพสังคมที่มีอยู่ ฯลฯ
ชาวตะวันตกยุคนั้นหลายคนยังเห็นว่าพระศาสนาเป็นสิ่งที่ดี ควรส่งเสริม แต่อีกหลายคนเริ่มคิดว่าน่าจะยกเลิกได้ เพราะไม่มีความหมายเสียแล้ว
คริสต์ศาสนายุคปัจจุบัน การกลับคืนชีพและปัญหาที่ไม่สร่าง เป็นวัฒนธรรมเหมือนวัฒนธรรมอื่นที่ไม่” ตาย” แต่ “ กลาย” และย่อมมียุค “ จอด” ยุค “ ถอย” และยุค “ เจริญ” ปัจจุบันนับได้ว่าเป็นยุค “ เจริญ” ของคริสต์สาสนาที่ยังมีปัญหามากและความขัดแย้งในตัวที่ยังแก้ไม่ลง
เมื่อศาสนจักรโรมันคาทอลิก สามารถปรับตัวได้อย่างว่องไว ทำให้นิกายอื่นตกตะลึง พิจารณาตนเองและพยายามปรับตัวตาม วาติกัน ๒ มีผลดีทำให้คริสต์ศาสนาเริ่มทันสมัยและมีความหมายสำหรับยุคปัจจุบัน แต่ยังก่อปัญหาใหญ่หลวง
ไม่มีใครอาจจะรู้อนาคตของคริสต์ศาสนาได้ แต่ในเมื่อคริสต์ศาสนาเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมตะวันตก และเป็นสากลเสียแล้ว ชาวอุษาทวีปควรศึกษาคริสต์ศาสนาให้ลึก ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย ท่านจึงจะทราบถึงแก่นแท้ของตะวันตก ทั้งในแง่บวกแง่ลบ
ติดตามรายละเอียดของเนื้อหาได้จากร้านจำหน่ายหนังสือทั่วไปขณะนี้ค่ะ
สุ. พูนพิพัฒน์.