การสร้างคนดีที่โลกต้องการ (ตอน ๓)

วันที่ 19 มค. พ.ศ.2548

bud27.jpg

.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกำหนดให้พระภิกษุสงฆ์เป็นทิศเบื้องบน มีหน้าที่โดยตรงในการอบรมสั่งสอนธรรมะให้แก่ฆราวาส และได้ทรงกำหนดหน้าที่ของทิศเบื้องบนไว้มากกว่าหน้าที่ของทิศอื่นๆ อีก ๑ ข้อ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่พิเศษสุดของทิศเบื้องบน คือ หน้าที่ “ บอกทางสวรรค์ให้แก่ฆราวาส”

ทั้งนี้ย่อมหมายความว่า พระภิกษุต้องมีหน้าที่ปลูกฝังพระอริยวินัยต่างๆ ให้แก่ฆราวาสโดยทั่วไปในสังคม ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งกว่าทิศอื่นๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แหล่งสำคัญที่สุดในการปลูกฝังอบรมอริยวินัยของผู้คนในสังคม คือ “ วัด”

ทิศเบื้องซ้าย โดยทั่วไปแล้ว จะมีบทบาทและอิทธิพลต่อชีวิตของคนเราเมื่อเติบโตขึ้น นับตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่จะไม่มีอิทธิพลต่อวัยเด็กมากนัก ดังนั้นบุคคลที่ได้รับการหล่อหลอมนิสัยดีๆ มาจากทิศเบื้องหน้าตั้งแต่วัยเด็ก และจากทิศเบื้องขวาจากวัยเรียน ย่อมจะไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของทิศเบื้องซ้ายที่นิสัยไม่ดี ตรงกันข้ามอาจจะสามารถชักจูงแนะนำทิศเบื้องซ้ายที่นิสัยไม่ดีให้กลับกลายเป็นคนดีได้อีกด้วย

ทิศเบื้องล่าง ที่มีอิทธิพลในทางลบ อาจมีอยู่ ๒ กรณี คือ

  • ในกรณีที่ผู้เป็นพ่อแม่ยกภาระหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตรของตน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของพี่เลี้ยงที่นิสัยไม่ดี หรือมิฉะนั้นพี่เลี้ยงแม้จะมีนิสัยดี แต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติตามวินัยได้เต็มที่
  • ในกรณีที่บุคคลซึ่งอยู่ในฐานะทิศเบื้องล่าง มีหัวหน้าที่เป็นคนไม่ดี

สำหรับทิศเบื้องหลัง เป็นทิศที่มีบทบาทและอิทธิพลของคนเรา เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บุคคลที่มีทิศเบื้องหน้า เบื้องขวา และทิศเบื้องบนดีมาโดยตลอด ย่อมไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของทิศเบื้องหลังที่ไม่ดี ในทางกลับกันอาจสามารถแก้ไขทิศเบื้องหลังที่นิสัยไม่ดี ให้เปลี่ยนเป็นคนดีได้ จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า แหล่งสำคัญในการปลูกฝังอริยวินัยที่สำคัญของคนเรา อยู่ที่บุคคลใน ๓ ทิศ คือ

๑.ทิศเบื้องหน้า ซึ่งจะเป็นการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการปลูกฝังอบรมอริยวินัยภายในบ้านของตน บ้านที่จัดกิจกรรมดังกล่าวจึงควรชื่อว่า “ บ้านกัลยาณมิตร”

๒.ทิศเบื้องขวา ซึ่งจะเป็นการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อปลูกฝังอบรมอริยวินัยแก่นักเรียน ภายในโรงเรียนของตน โรงเรียนที่จัดกิจกรรมดังกล่าวจึงควราชื่อว่า “ โรงเรียนกัลยาณมิตร”

๓.ทิศเบื้องบน ซึ่งจะเป็นการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อปลูกฝังอบรมอริยวินัยแก่ผู้คนในสังคม โดยจัดขึ้นภายในวัด วัดใดที่จัดกิจกรรมดังกล่าว จึงควรได้ชื่อว่า “ วัดกัลยาณมิตร”

 

บ้านกัลยาณมิตร

คำว่า กัลยาณมิตร แปลว่า มิตรดี คือ มิตรแท้ผู้ปรารถนาดีต่อเพื่อนกันด้วยไมตรี มีลักษณะ ๗ ประการ คำว่า บ้าน ในที่นี้ หมายถึงที่อยู่อาศัยของผู้ร่วมครัวเรือน อันประกอบด้วยสามี ภรรยา และบุตร หรือมารดาบิดาของบุตรเป็นอย่างน้อย ซึ่งเรียกว่า ครอบครัว

เพราะฉะนั้น คำว่า บ้าน ในที่นี้จึงมีความหมายเช่นเดียวกับครอบครัว และบ้านกัลยาณมิตรก็คือครอบครัวของกัลยาณมิตรนั่นเอง

โดยทั่วไป สมาชิกที่เป็นหลักสำคัญในครอบครัว ย่อมประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก และอาจจะมีญาติหรือบริวารเข้ามาอยู่ด้วย ดังนั้น บ้านกัลยาณมิตร จึงหมายถึงบ้านที่มีพ่อ แม่ ลูก ตลอดจนสมาชิกทุกคนในบ้านมีลักษณะเป็นกัลยาณมิตร ๗ ประการดังกล่าวแล้ว และลักษณะกัลยาณมิตร ๗ ประการนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นอริยวินัยที่เพิ่มขึ้นจากอริยวินัยต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว

อริยวินัยทั้งหลายทั้งปวง ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่จะต้องมีการปลูกฝังอบรมกันตั้งแต่บุคคลยังเยาว์วัย ดังนั้น ความหมายที่สมบูรณ์ของบ้านกัลยาณมิตรในที่นี้ คือ บ้านที่มีการปลูกฝังอริยวินัยต่างๆ เพื่อให้มีคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ ๔ ประการ คุณสมบัติของมิตรแท้ ๑๖ ประการ และลักษณะของกัลยาณมิตร ๗ ประการ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงยกทิศเบื้องหน้า ซึ่งหมายถึงมารดาบิดาไว้เป็นทิศที่ ๑ ก็เพราะต้องทำหน้าที่ปลูกฝังอบรมอริยวินัยต่างๆ ให้แก่บุตรตั้งแต่ลืมตาดูโลก

หน้าที่พ่อแม่ตามพุทธบัญญัติ

เพื่อให้การปลูกฝังอบรมลูกๆ สามารถทำให้ลูกมีคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ พระพุทธองค์จึงได้ทรงกำหนดหน้าที่ไว้ให้ผู้เป็นพ่อแม่ยึดถือเป็นอริยวินัย ในการปลูกฝังอบรมและดูแลลูก ๕ ประการ คือ ๑) ห้ามไม่ให้ทำชั่ว ๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี ๓) ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๔) หาภรรยาหรือสามีที่สมควรให้ ๕) มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร

ในบรรดาหน้าที่ทั้ง ๕ ประการนี้ หน้าที่ ๒ ประการแรก ถือว่ามีความสำคัญที่สุด หน้าที่อีก ๓ ประการ มีความสำคัญเป็นรองลงไปตามลำดับ

แต่ตามสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบัน พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร ก็เฉพาะข้อ ๓ ถึงข้อ ๕ ส่วนหน้าที่ในข้อ ๑ และข้อ ๒ ค่อนข้างจะล้มเหลว ดังจะเห็นว่าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังทำชั่วกันอยู่ แสดงว่าไม่ตั้งอยู่ในความดี ทั้งนี้เพราะขาดคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการนั่นเอง

การที่พ่อแม่จะประสบความสำเร็จ ในการทำหน้าที่ในข้อ ๑ และ ๒ นอกจากพ่อแม่จะต้องเป็นคนมีอริยวินัย รู้วิธีและมีความสามารถในการปลูกฝังวินัยให้ลูกขณะที่ยังอยู่ในวัยทารกแล้ว ยังจะต้องมีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาดีพอสมควร ประกอบกับตนเองก็ยึดถือปฏิบัติตามหลักธรรมสำคัญนั้นเป็นประจำ หาไม่แล้วพ่อแม่เองก็ยังเป็นคนดีที่โลกต้องการไม่ได้ แล้วจะมีปัญญาสามารถปลูกฝังอบรมลูกให้เป็นคนดีได้อย่างไร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027169267336528 Mins