.....แนวคิดในการอบรมบุตร
เพื่อความสะดวกของพ่อแม่ในการที่จะปลูกฝังลูกให้ตั้งอยู่ในความดี จึงขอเสนอแนะแนวคิดไว้เป็นข้อๆ ดังนี้
๑. พ่อแม่ต้องเริ่มฝึกหรือปลูกฝังวินัยให้ลูกๆ ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทารก
๒. วินัยสำคัญที่ต้องฝึกเป็นประจำและต่อเนื่อง คือ วินัยในเรื่องการกิน การนอน การตื่นให้เป็นเวลา และการรักษาความสะอาด ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่หรือพี่เลี้ยงจะต้องจัดการให้เด็ก
๓. ผู้ที่จะฝึกวินัยเรื่องใดๆ ให้แก่เด็ก ตนก็จะต้องเป็นคนมีวินัยในเรื่องนั้นๆ ด้วย มิฉะนั้น การฝึกจะล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ
๔. การฝึกวินัยจะต้องเพิ่มขึ้นตามพัฒนาการและวัยของเด็ก
๕. วินัยที่ต้องฝึกเป็นประจำสำหรับเด็กทุกวัย จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้ปัจจัย ๔ การตรงต่อเวลา การรักความสะอาด กิริยามารยาทที่งดงามเป็นส่วนใหญ่
๖. พ่อแม่จะต้องเข้าใจว่า วินัยต่างๆ ที่ลูกได้รับการฝึกเป็นกิจวัตรประจำวัน จะพัฒนาขึ้นเป็นนิสัยดีๆ ของลูก ครั้นเมื่อลูกเจริญเติบโตขึ้น นิสัยดีๆ นั้นก็จะพัฒนาขึ้นเป็นคุณธรรมและสัมมาทิฏฐิประจำใจลูก
๗. การสอนธรรมะให้แก่เด็ก สามารถสอนภาคปฏิบัติเบื้องต้นได้ ตั้งแต่เด็กเริ่มเข้าใจภาษา เช่น การไหว้ การกราบพระ เมื่อเด็กเริ่มพูดได้เป็นประโยค ก็สอนให้สวดมนต์ไหว้พระได้
๘. การพาเด็กไปใส่บาตรกับพ่อแม่ ถือว่าเป็นการศึกษาธรรมะภาคปฏิบัติสำหรับเด็กได้
๙. การสอนเรื่องคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ ๔ ประการ คุณสมบัติของมิตรแท้ ๑๖ ประการ และลักษณะของกัลยาณมิตร ๗ ประการนั้น พ่อแม่ก็อาจจะเริ่มสอนลูกๆ ได้ตั้งแต่อยู่ในวัยอนุบาล โดยใช้สถานการณ์จริงในชีวิตประจำวันเป็นบทฝึก เช่น เมื่อตั้งใจแบ่งปันสิ่งของอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่เพื่อนบ้าน แทนที่พ่อหรือแม่จะนำสิ่งของนั้นๆ ไปตามลำพัง ก็ควรจะพาลูกเล็กๆ ไปด้วย เมื่อเด็กๆ เกิดความคุ้นแล้ว ภายหลังต่อมาก็สามารถใช้ให้เด็กๆ ไปทำหน้าที่แทนพ่อแม่ได้ เมื่อทำบ่อยๆ เด็กก็จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมของกัลยาณมิตรไว้เป็นความทรงจำต่อไปอีกด้วย เป็นต้น
๑๐. พ่อแม่พึงระลึกไว้เสมอว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวในขณะที่เด็กยังเล็กอยู่และเริ่มรู้ความแล้ว จะเป็นสิ่งที่ประทับแน่นอยู่ในความทรงจำไปตลอดชีวิต ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่ดีงาม นำความสุขกายสบายใจมาให้ แม้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว คนเราก็ยังย้อนระลึกนึกถึงด้วยความซาบซึ้งใจอยู่เสมอ อีกทั้งประสบการณ์อันดีงามเหล่านี้จะเป็นปัจจัยให้เกิดทรรศนะที่ดีต่อโลกและชีวิตอยู่ตลอด
ในทางกลับกัน ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่ชั่วร้ายรุนแรง นำความตื่นตระหนกและความหวาดกลัวมาให้เมื่อยังอยู่ในวัยเด็ก แม้กาลเวลาจะผ่านไปจนคนเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เหตุการณ์นั้นก็ยังฝังใจอยู่ในความทรงจำยากที่จะลืม อีกทั้งจะเป็นเหตุปัจจัยให้คนเราเกิดทรรศนะนิสัยมองโลกในแง่ร้ายเสมอ
เพราะฉะนั้น การจัดให้เด็กมีประสบการณ์ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับธรรมะย่อมจะเป็นการสรรหาสิ่งที่งดงามและมีคุณค่า ไว้ให้คนเราได้ระลึกนึกถึงและยึดมั่นไปตลอดชีวิต
๑๑. การพาเด็กไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนา หรือฟังเทศน์ที่วัดจัดว่าเป็นการเรียนรู้ธรรมะ และเป็นการฝึกอริยวินัยต่างๆ ที่มีคุณค่ามากสำหรับเด็ก
๑๒. แม้พระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาจะมีมากมายถึง ๘๔, ๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่เมื่อสรุปลงเป็นภาคปฏิบัติโดยย่อที่สุดสำหรับผู้ครองเรือน ก็คือบุญกิริยาวัตถุ ๓ ซึ่งประกอบด้วย ทาน ศีล และภาวนาเป็นหลักสำคัญ
๑๓. ผู้ที่มีอริยวินัย ย่อมปฏิบัติบุญกิริยาวัตถุ ๓ เป็นกิจวัตรประจำวัน
๑๔. เด็กในวัยอนุบาล ก็สามารถเริ่มฝึกทำภาวนาภายในระยะเวลาสั้นๆ ได้แล้ว
๑๕. การเจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำทุกวัน จะเป็นสิ่งสนับสนุนนิสัยดีๆ คุณธรรม และสัมมาทิฏฐิให้มั่นคง ไม่คลอนแคลน
๑๖. พ่อแม่ที่มีความรู้ธรรมะ ย่อมสามารถอธิบายเหตุผลในการปฏิบัติบุญกิริยาวัตถุ ๓ แต่ละหัวข้อ ให้เด็กเข้าใจด้วยคำพูดง่ายๆ อย่างเหมาะสมกับวัยของลูก เช่น ในเรื่องทาน สำหรับเด็กวัยประถมต้น พ่อแม่อาจจะบอกว่า การใส่บาตร หรือการบริจาคทรัพย์ทำทาน จะทำให้เราได้ไปเกิดบนสวรรค์ในภพชาติต่อไป และถ้าเกิดมาในมนุษย์โลกนี้อีกก็จะทำให้ร่ำรวย ไม่ยากจน
สำหรับเด็กในวัยมัธยม ก็อาจอธิบายด้วยเหตุผลที่เขาสามารถตรองตามได้ เช่น บอกว่า ชาวพุทธทุกคนควรใส่บาตรกันทุกวัน เพราะพระภิกษุต้องฉันอาหารทุกวัน การบิณฑบาตเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียวของพระภิกษุตามพุทธวินัย ถ้าญาติโยมไม่ใส่บาตรพระภิกษุก็อยู่ไม่ได้ เมื่อไม่มีพระภิกษุ ก็ไม่มีครูสอนศีลธรรมให้กับชาวโลก ประชาชนก็จะไม่รู้บุญรู้บาป ประเทศชาติก็จะเดือดร้อนวุ่นวายเพราะคนไม่มีศีล พระพุทธศาสนาก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นต้น
๑๗. การที่จะให้ลูกๆ ปฏิบัติตามบุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่างต่อเนื่องสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำทุกวัน พ่อแม่จำเป็นต้องเปิดบ้านกัลยาณมิตร