ทิศ ๖ คือ ผู้ลิขิตชะตาชีวิตมนุษย์
.....จากการศึกษาและปฏิบัติธรรมกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจากประสบการณ์ในชีวิต โสดาบันบุคคลผู้เป็นบิดาของสิงคาลกะ ย่อมได้เห็นประจักษ์แจ้งว่า คนเราจะครองชีวิตเป็นคนดีหรือเลว ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เจริญรุ่งเรืองหรือตกต่ำ ย่อมขึ้นอยู่กับอิทธิพลของทิศ 6 เป็นสำคัญ หาใช่พระอินทร์ พระพรหม พระเจ้า ดวงเดือน ดวงดาว อาจกล่าวอย่างสั้นๆ ได้ว่า คติทางพระพุทธศาสนาถือว่า ทิศ ๖ คือ ผู้ลิขิตชีวิตมนุษย์อย่างแท้จริง
.....ทั้งๆ ที่มารดาบิาดของสิงคาลกะ ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูง ทั้งทางโลกและทางธรรม กล่าวคือ ทางธรรมก็บรรลุโสดาบันเป็นอริยบุคคลทั้งคู่ ส่วนทางโลกก็มีทรัพย์สมบัติถึง ๔๐ โกฏิ เป็นมรดกทิ้งไว้ให้สิงคาลกะบุตรชายหัวแก้วหัวแหวน แต่อาจมีเหตุปัจจัยหลายประการที่ทำให้ท่านเศรษฐีไม่มีโอกาสปลูกฝังอริยวินัยและความรู้เรื่องทิศ ๖ ให้บุตรชายเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงได้แต่เพียงสั่งไว้ก่อนหลับตาลาโลก ให้บุตรชายไว้ทิศ ถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่ผูกเงื่อนปมไว้ด้วยหวังว่าจะมีกัลยาณมิตรมาแก้เงื่อนปมนั้นให้แก่บุตรชายของตน
.....นับเป็นบุญของสิงคาลกะเป็นอย่างยิ่ง ที่เขาได้มีโอกาสพบกัลยาณมิตรผู้ประเสริฐที่สุดในโลก คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากพระธรรมเทศนาที่พระบรมศาสดาตรัสแสดงเพียงสั้นๆ ก่อนเสด็จดำเนินไปบิณฑบาต ก็สามารถทำให้สิงคาลกะเกิดความเข้าใจซาบซึ้งถึงคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ ซึ่งจะพัฒนาขึ้นในตัวบุคคลได้ด้วยอิทธิพลของทิศ ๖
อิทธิพลของทิศ ๖
.....ได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตของคนเราจะดีหรือชั่ว ย่อมขึ้นอยู่กับอิทธิพลของทิศ ๖ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดให้แต่ละคนเป็นศูนย์กลางแวดล้อมด้วยทิศ ๖ และทรงกำหนดหน้าที่รับผิดชอบเป็นอริยวินัย ที่ตัวเราต้องปฏิบัติต่อทิศ ๖ และทิศ ๖ ต้องปฏิบัติต่อตัวเราอย่างเคร่งครัด
.....ถ้าต่างฝ่ายต่างปฏิบัติต่อกันและกันตามอริยวินัย คุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการทั้ง ๔ ประการ ย่อมเกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายทุกคนในสังคม โดยที่ไม่มีใครเป็นมิตรเทียม หรือคนชั่วคนเลวของสังคมเลย
.....ต่อไปนี้ขอให้เราได้พิจารณาอริยวินัยของแต่ละทิศไปตามลำดับ (โดยจะเรียกบุคคลที่แวดล้อมตัวเราในแต่ละทิศว่า เพื่อน)
๑. ทิศเบื้องหน้า
.....เพื่อนร่วมโลก (อาจจะเป็นมิตรเทียมหรือมิตรแท้ก็ได้) กลุ่มที่ ๑ มีความสัมพันธ์ กับเราในฐานะผู้ให้กำเนิด คือเป็นมารดาบิดาของเรา และสมมุติชื่อว่า ทิศเบื้องหน้า เพราะมีอุปการะคุณแก่เรามาก่อน
หน้าที่รับผิดชอบของมารดาบิดา
.....พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้เป็นอริยวินัยหรือหน้าที่ของมารดาบิดาที่ต้องปฏิบัติ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อบุตรไว้เป็นตัวอย่าง ๕ ประการ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำชั่ว คือต้องห้ามไม่ให้บุตรทำบาปกรรม ๑๔ ประการ ไม่แสดงพฤติกรรมของมิตรเทียม ๑๖ ประการ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี คือ นอกจากห้ามบุตรไม่ให้ทำชั่วแล้ว ยังต้องแสดงแต่พฤติกรรมของมิตรแท้ ๑๖ ประการ ตลอดไป
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา คือ ต้องให้บุตรมีความรู้ความสามารถเพื่อประกอบสัมมาอาชีวะ เพื่อให้ครองตัวให้พ้นจากอบายมุข และเพื่อให้อยู่เป็นสุขในโลกกว้างได้
๔. หาภรรยาหรือสามีที่สมควรให้ คือ เป็นภาระให้การช่วยกันพิจารณาเลือกสรรภรรยาหรือสามี ที่มีลักษณะนิสัยของมิตรแท้ให้บุตร
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันควร คือต้องมีทุนให้บุตรเพื่อให้สามารถดำรงวงศ์ตระกูลมิตรแท้ไว้ได้
.....จากอริยวินัยตัวอย่าง ๕ ประการดังกล่าว แท้ที่จริงหน้าที่รับผิดชอบของพ่อแม่มิได้จบอยู่เพียง ๕ ประการ ตามที่แสดงด้วยตัวอักษรเท่านั้น แต่มีนัยที่แฝงอยู่มากมาย คือ
.....ใน ๒ ข้อแรก เป็นความรู้ของ “การเป็นมนุษย์” พ่อแม่จะต้องสามารถแยกแยะระหว่างความดีความชั่วได้อย่างถ่องแท้ นั่นคือตนเองต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีหิริโอตัปปะ มิฉะนั้นจะไม่สามารถสอนลูกได้ตามหน้าที่ ขณะเดียกกันก็ต้องปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย
.....ในข้อ ๓ รวมทั้งข้อ ๑ และ ๒ จะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ ต่อเมื่อบุตรได้รับการฝึกอบรมในเรื่องความอดทนมาดีพอจากครอบครัว
.....ในข้อ ๔ บุตรจะประสบความสำเร็จในด้านครอบครัว ต่อเมื่อตนเองสามารถเป็น “มิตรแท้” ด้วย
.....ในข้อ ๕ บุตรจะรักษาทรัพย์สมบัติไว้ได้ ต่อเมื่อห่างไกลจากอบายมุข และมีสัมมาอาชีวะเป็นหลักฐานมั่นคง
.....กล่าวโดยสรุปได้ว่า การที่มารดาบิดาจะทำหน้าที่ทั้ง ๕ ข้อ ได้สำเร็จ ก็เพราะตนเองมีความรู้ความสามารถและคุณธรรมดีพอที่จะอบรมบุตรได้