.....ปัจจุบันเป็นยุคแห่งการปฏิรูปการศึกษา เพื่อสนองความต้องการของชีวิตและสังคม ให้คนมีคุณภาพ ปลอดพ้นจากความรุนแรงเบียดเบียนกันในทุกด้าน ทั้งรุนแรงเบียดเบียนต่อมนุษย์ด้วยกันเอง และต่อสิ่งแวดล้อม
พระศาสนาเป็นสถาบันที่สองของชาติ ปัจจุบันการนำธรรมะเข้าสู่สถาบันการศึกษาในเชิงรุก ในรูปแบบการปรับวิถีชีวิตตามแนววิถีพุทธ กับ “ โรงเรียนวิถีพุทธ” ประเทศไทยเป็นดินแดนสำคัญที่ควรจรรโลงคุณค่าของพระพุทธศาสนาให้ชาวโลกรับรู้ มีพระเถระที่ควรแก่การกราบไหว้บูชาอยู่ทั่วทุกพื้นที่ โครงการโรงเรียนวิถีพุทธได้เริ่มต้นมาถูกทาง คือการโน้มนำโรงเรียนเข้าประสานกับพระเถระ เป็นการหวนคืนของบ้าน วัด โรงเรียน อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน สังคมอีกครั้งอย่างยั่งยืนและต่อไป ที่มีจุดประสงค์สำคัญคือรักษาความเป็นอิสระทางสติปัญญาของคนในชาติ ที่ยังคงความเป็นไทย ไม่ตกเป็นทาส สติปัญญาของฝ่ายอื่น เกิดวัฒนธรรมที่สมบูรณ์ครบทั้งสองด้าน คือด้านจิตใจและปัญญา
โดยจากการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการของเจ้าคณะพระสังฆาธิการ และผู้รับผิดชอบ
โรงเรียนวิถีพุทธจากเขตพื้นที่ทั้ง ๑๗๕ เขต ที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น ๑๑, ๐๐๐ โรงเรียน ในเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธ ทั้งที่เกี่ยวกับ งานวิชาการ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา งานสอนสาระพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน การปรับวิถีชีวิตตามแนววิถีพุทธให้กับเด็กและเยาวชนทั้งในเรื่องของการกิน อยู่ ดู ฟัง เป็น จึงนับได้ว่า คนและเยาวชนไทยทั้งในระบบโรงเรียนและเด็กทั่วไปจะได้ถูกหล่อหลอมจิตใจ ให้เป็นเด็กดี คิดถูกต้องตามความเป็นจริง ตามการสั่งสอนอบรมของพระภิกษุผู้รับผิดชอบ ทั้งผู้สอนและอุปถัมภ์ในโรงเรียนต่าง ๆ
“ โรงเรียนวิถีพุทธ” คือโรงเรียนระบบปกติทั่วไปที่จัดการศึกษาตามหลักคำสอน ของพระพุทธเจ้าเข้ามาใช้หรือประยุกต์ โดยดำเนินตามมรรค ซึ่งเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตในพระพุทธศาสนา ที่แปลว่าทางอันประเสริฐ มีองค์ประกอบ ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น สรุปลงตรงกับ ไตรสิกขา อย่างบูรณาการ อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทั้ง ๔ ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ ทางกาย สังคม จิต และสติปัญญา มีเป้าหมายแบบบูรณาการ คือนอกจากความเป็นคนเก่ง ดีและมีความสุขด้วย
ในการปฏิรูปการศึกษาอย่างบูรณาการนี้ประการแรก คือการยอมรับและจัดดำเนินการ ให้การพัฒนาคนเป็นแกน และเป็นฐานของการพัฒนาทุกอย่าง ทุกเรื่อง และทุกรูปแบบ คือเรื่องของชีวิตทั้งหมดที่ต้องศึกษา- เรียนรู้ ประการที่สองเน้นความสำคัญของชีวิตช่วงแรกแห่งการเรียนรู้- เลี้ยงดูในครองครัว สามคือเอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย สี่ คือช่วยแก้ปัญหาของระบบแข่งขันด้วย โดยพัฒนาให้คนมีความสามารถถึงขั้นที่จะนำประเทศชาติขึ้นไปเหนือการแข่งขัน และนำโลกสู่สันติสุข ห้า พัฒนาบุคคลให้มีการศึกษาที่ดี มีปัญญาที่จะปรับตัว รับข้อมูลข่าวสาร และใช้ความรู้ หก เป็นเครื่องมือที่จะพัฒนามนุษย์ให้สามารถประสานประโยชน์ ๓ ด้าน ชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม มีจุดหมายที่ว่า “ ให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม ในสังคมที่มีสันติสุข ในโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย “ มีระบบการบริหารการศึกษาที่ โปร่งใส การมีเจ้าภาพรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วม
ลักษณะโรงเรียนวิถีพุทธ เน้นปัญญาวุฒิธรรม ๔ ประการ คือ สัปปุริสสังเสวะ สัทธัมมัสสวนะ โยนิโสมนสิการ ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ การจัดสภาพของโรงเรียนประกอบด้วย ด้านกายภาพ กิจกรรมพื้นฐานวิถีชีวิต การเรียนการสอน บรรยากาศและปฏิสัมพันธ์ การจัดการ
มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาชีวิตโดยผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรมแสวงหาปัญญา และมีเมตตาเป็นฐานการดำเนินชีวิต โรงเรียนวิถีพุทธจึงเป็นโรงเรียนที่นำวิถีวัฒนธรรมของชาวไทยส่วนใหญ่แต่เดิมมา มุ่งเน้นให้ผู้ศึกษาเข้าใจชีวิตแท้จริงและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยอาศัยระบบการศึกษาตามหลักพุทธธรรม
รายละเอียดที่น่าสนใจและมีประโยชน์ต่าง ๆ ติดต่อได้ที่
โทร. ๐๒– ๒๒๔– ๘๒๑๔, ๒๒๑– ๘๘๙๒.
สุพัฒนะ.