มหาวิบัติของสังคมจากทิศเบื้องหน้า (ตอนจบ)

วันที่ 30 มิย. พ.ศ.2547


 

.....ข. บุตรขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ก็เพราะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งจะมีลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) ไม่สนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ มนุษย์เราจะมีชีวิตอยู่อย่างผาสุกได้ ก็เพราะมีปัจจัย ๔ คือ อาหาร ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคพร้อมบริบูรณ์ รวมทั้งมีน้ำและอากาศบริสุทธิ์สะอาดอีกด้วย แหล่งกำเนิดของปัจจัยดังกล่าวทั้งหมด ล้วนมีอยู่หรือผลิตมาจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติทั้งสิ้น

แต่ถ้าพ่อแม่ไม่อบรมสั่งสอนบุตรให้เข้าใจความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างปัจจัย ๔ กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติแล้ว นอกจากบุตรจะมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ตลอดจนไม่มีความคิดในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่อยู่ไกลตัวออกไปแล้ว บุตรยังจะไม่ให้ความเอาใจใส่ แม้แต่การดูแลรักษาความสะอาดบ้านเรือนตลอดจนสิ่งแวดล้อมในบ้านอีกด้วย

๒) คัดค้านการใช้งบประมาณเพื่อการบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม บุตรที่มองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ย่อมจะแสดงความเห็นคัดค้านการที่พ่อแม่หรือญาติพี่น้อง ใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อตกแต่งบ้านให้ร่มรื่น สวยงาม สะอาด ถูกสุขลักษณะ เพราะมีความคิดว่าการใช้จ่ายเงินเช่นนั้นเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย เกินจำเป็นหรืออาจคิดว่า ถ้าเก็บเงินจำนวนนั้นไว้ยังจะมีประโยชน์มากกว่า เป็นต้น

๓) ทำลายสิ่งแวดล้อม บุตรหรือเด็กที่มองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ย่อมจะไม่อนุรักษ์แม้แต่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ตนใช้อยู่เป็นประจำ นับตั้งแต่สิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านของตนเองไปจนถึงตามที่สาธารณะ เช่น ไม่รักษาความสะอาดห้องน้ำภายในบ้านของตนเอง เขียนรูปหรือตัวหนังสือให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ตามฝาผนังห้องในบ้านของตนเองหรือมิฉะนั้นก็นำรูปภาพต่างๆ มาแปะติดไว้ตามฝาผนังห้องในบ้านของตนเองหรือมิฉะนั้นก็นำรูปภาพต่างๆ มาแปะติดไว้ตามฝาผนังห้องจนรกรุงรังไม่น่าดู ทิ้งขยะเกลื่อนกลาดในบริเวณรั้วบ้าน หรือปาขยะจากในบ้านออกมานอกรั้วบ้าน เหล่านี้ถือว่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

อนึ่ง เมื่อเด็กเหล่านี้ออกมานอกบ้าน ก็จะพากันทำลายสิ่งสาธารณะต่างๆ เช่น วาดรูป หรือเขียนถ้อยคำลามกต่างๆ ตามกำแพงริมถนน ตามหลังเบาะรถยนต์โดยสาธารณะ ทุบกระจกตู้โทรศัพท์สาธารณะตามริมถนน เป็นต้น

เหล่านี้คือ พฤติกรรมของเด็กมิจฉาทิฏฐิ ถ้าพวกเขาไม่ได้รับการแก้ไข เด็กเหล่านี้ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีมิจฉาทิฏฐิรุนแรงยิ่งขึ้น สามารถทำลายสิ่งแวดล้อมได้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าพันทวี

สรุปปัญหาในทิศเบื้องหน้า

ปัญหาในทิศเบื้องหน้านี้อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ปัญหาที่สังคมเห็นชัดเจน คือ ปัญหาเยาวชน ปัญหาเยาวชนในบ้านเมืองเรา นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที ในสมัยก่อน จะเป็นปัญหาในกลุ่มเยาวชนที่อายุเกิน ๑๕ ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันนี้ปัญหาเยาวชนแพร่ระบาดลงมาในกลุ่มอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี คือในระดับกลุ่มนักเรียนชั้นประถม อย่างไรก็ตาม ปัญหาร้ายแรงของเยาวชนทุกระดับอายุในขณะนี้คือ ปัญหาติดยาเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ในวัยอันไม่สมควร ตลอดจนความสำส่อนทางเพศ

๒. ปัญหาที่สังคมเห็นไม่ชันเจน คือ ปัญหาพ่อแม่ จากธรรมบรรยายทั้งหมด ท่านคงได้ประจักษ์แล้วว่า รากเหง้าของปัญหาเยาวชนคือปัญหาความบกพร่องของพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ขาดอริยวินัยไม่ทำหน้าที่ของตนๆ ให้สมบูรณ์ จึงเป็นเหตุให้ลูกขาดความสำนึกรับผิดชอบทั้ง ๔ ประการ ดังกล่าวแล้ว

ดังนั้น ขอให้ทุกท่านพึงรับรู้และเข้าใจให้ถูกต้องว่า ปัญหาเยาวชนเริ่มต้นเกิดจากบ้านและส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมต่อไปทุกๆ ด้าน คนโดยทั่วไปมองไม่เห็นในเรื่องนี้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นชัดเจนจึงทรงชี้ให้เห็น โดยทรงยกเอาพ่อแม่ไว้ในทิศเบื้องหน้า อริยวินัยหรือหน้าที่ที่ทรงกำหนดไว้ในทิศเบื้องหน้านั้นมีนัยที่ทรงแสดงให้รู้ว่า คนที่ยังไม่รู้จักหน้าที่ของพ่อแม่อย่างถูกต้องตรงตามพุทธประสงค์ คือคนที่ยังไม่พร้อมที่จะแต่งงานและมีบุตร เพราะถ้าแต่งงานและมีบุตรแล้ว จะเป็นผู้ที่มีส่วนสร้างความวิบัติให้เกิดขึ้นในสังคมทันที

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021407083670298 Mins