ความอยากไม่มีที่สิ้นสุด

วันที่ 01 มีค. พ.ศ.2565

ความอยากไม่มีที่สิ้นสุด

                ทุกคนล้วนเคยมีความรู้สึก “อยาก” เช่น อยากได้ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก ๆ แล้วพยายามเก็บหอมรอมริบเงินทองเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาครอบครอง บางคนพอได้มาแล้วก็กอดเช้ากอดเย็น ดูแลอย่างดี

                ในขณะที่หลายคนพอได้มาแล้วกลับรู้สึกเฉย ๆ แล้วเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ อยากได้สิ่งอื่น ๆ วนเวียนไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น ทั้งอยากกิน อยากใช้ อยากได้สิ่งของ ความรัก ความอบอุ่น ความอยากเหล่านี้ไม่มีวันหมดไปตราบใดที่เรายังมีกิเลส

1-3-65-3-b1.jpg

                “ตัณหา” คือ “ความทะยานอยาก” แปลว่า ไม่รู้จักพอ แล้วยิ่งต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เราอยากได้เงินหมื่น พอได้มาก็ขยับความต้องการเป็นอยากได้เงินแสน พอมีเงินแสนก็อยากได้เงินล้าน ไม่มีวันพอเพราะความอยากมันทะยานขึ้น พอไม่ได้ก็เสียใจ แต่พอได้มาแล้วกลับดีใจได้ไม่นานก็รู้สึกเฉย ๆ มองเป้าหมายที่สูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

                สมัยก่อน คนต่างจังหวัดมีจักรยานคันเดียวก็รู้สึกเท่ห์แล้ว ยิ่งมีจักรยานยนต์ขี่ ก็ยิ่งรู้สึกดี เพราะสะดวกสบายสุด ๆ แต่มาสมัยนี้ต้องมีรถกระบะคันโก้ เปิดแอร์เย็นฉ่ำไม่พอ ต้องใส่ล้อแม็ก แต่งเครื่องเสียง อยากได้อยากมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ

                 สามสิบปีที่แล้วใครมีโทรศัพท์โก้สุด ๆ ขนาดโตเท่าดุ้นฟืน หนักสามกิโลกรัมยังถือโชว์กันได้ โทรศัพท์เครื่องหนึ่งราคาแพงมาก ต่อมาใครมีเพจเจอร์เครื่องติดตามตัวในยุคก่อนก็ถือว่าโก้มากแล้ว เสียงดังติ๊ด ๆ โชว์แค่เบอร์โทรกลับเท่านั้น

1-3-65-3-b2.jpg

                แต่ยุคต่อมาไม่นาน คนไทยก็มีเพจเจอร์ใช้กันทั่วประเทศ ซื้อได้ในราคาที่ไม่แพง แล้วก็มีโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย มีหน้าจอเล็ก ๆ ที่ส่งข้อความได้ แล้ว

                เพจเจอร์ก็หายไปจากโลกนี้ จากนั้นก็เริ่มมีโทรศัพท์มือถือแบบที่เข้าเว็บไซด์ต่าง ๆ ได้ พอเห็นเขามีสมาร์ทโฟน มีไอโฟน เราก็อยากมีบ้าง ความอยากทะยานไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จักหยุด

                โดยสรุป คือ ความอยากไม่ดีทั้งนั้น ที่เหมาะสมไม่ใช่ว่าไม่ควรอยากอะไรเลย เพราะเรายังอยู่บนโลก ยังมีกิเกส ยังอยากสร้างความมั่นคงให้ชีวิต แต่ควรควบคุมความอยากให้อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องชอบธรรม

                ไม่ใช่อยากได้จนต้องไปปล้นชิงเขา แต่ถ้าเกิดความอยากแล้วหมั่นขยันทำงานหาเงินเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการก็ไม่ผิด เลือกให้เหมาะสมกับฐานะตนเองจึงจะไม่เกิดความเสียหาย รู้ไว้เถิดว่า สุดท้ายให้ลดแล้วขจัดความอยากเป็นดีที่สุด

                คนโบราณมีวิธีจำกัดความอยากด้วยการมาบวช พอบวชแล้ว ตื่นเช้ามาไม่ต้องคิดว่าวันนี้จะใส่ชุดอะไร มีแค่ผ้า 3 ผืน สบง จีวร สังฆาฏิ ชุดนอนชุดเที่ยวชุดเดียวกัน

                ฉันอาหารที่โยมนำมาถวาย ปรุงเองไม่ได้ วันหนึ่งฉันเพียงมื้อเช้าและเพล ทุกอย่างเรียบง่าย ยิ่งถ้าได้เดินธุดงค์ด้วย ปักกลดหลังเดียวสบายดี ไม่ต้องห่วงร้อนหนาวให้สิ้นเปลือง เพราะฉะนั้น ชีวิตพระภิกษุเหมือนกับได้กลับคืนสู่ธรรมชาติ ได้ดูว่าจริง ๆ แล้วมนุษย์ต้องการอะไร แล้วจะพบว่า “แค่นี้เอง”

1-3-65-3-b3.jpg

                 คนเราส่วนใหญ่เผื่อไปเยอะ เผื่อไปเรื่อยอย่างไม่รู้จักจบ พอมีครอบครัวมีลูก ก็กลัวลูกจะลำบาก กังวลว่าถ้าแก่เฒ่าไปแล้วจะอยู่อย่างไร ก็ต้องหาทรัพย์มาเผื่อไว้ ซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หาที่อยู่อาศัยที่เป็นของตนเอง มีรถเป็นของตนเอง มีเงินฝากเพื่อความมั่นคง มีลูกก็ต้องหามาเผื่อลูก มีหลานก็ต้องหามาเผื่อหลานอีก ทำเท่าไรก็ไม่พอ ไม่รู้จักจบสิ้น
 
                 แต่พอได้มาบวชมันจบเลย เพราะสุดท้ายชีวิตคนเราไม่ได้ต้องการอะไรมาก มีแค่อาหารพอให้ประทังชีวิต มีเสื้อผ้าพอกันแดดกันลม กันความละอายได้ มีบ้านที่พอบังบังแดดบังฝน ป้องกันยุง แมลง และสัตว์ร้ายเท่านั้น ป่วยไข้มียาให้พอรักษาได้ มีเพียงปัจจัย 4 เป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตเท่านั้น

                 แต่ในปัจจุบันคนเรามีความต้องการขั้นพื้นฐานมากมาย ไม่มีบ้านไม่ได้ ไม่มีรถไม่ได้ ไม่มีโทรศัพท์มือถือไม่ได้ ไม่มีกระเป๋าแบรนด์เนมไม่ได้ ขยายไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ

                 เมื่อใดเกิดวิกฤติอย่างสงครามโลกขึ้น เราจะพบว่าสิ่งที่คนเราต้องการจริง ๆ มีเพียงปัจจัย 4 เท่านั้น  ดังนั้น เราไม่ควรรอจนเกิดสงครามก็พบความจริงได้ โดยเริ่มด้วยการมาบวช หรือปฏิบัติธรรม เข้าวัด อยู่อย่างเรียบง่าย ใช้ชีวิตกับการปฏิบัติธรรม เราจะพบชสัจธรรมความจริงของชีวิตมากขึ้น

                 ตัณหา หรือความทะยานอยากไม่มีที่สิ้นสุดเพราะเกิดจากกิเลส เราจะหมดความอยากได้ต้องหมดกิเลส ถ้าเรารู้ถึงธรรมชาติของความอยากแล้ว เราจะรู้ว่ามันไม่มีที่สิ้นสุด แต่เราสามารถฝึกตนเองให้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แล้วปฏิบัติธรรมได้ เรียนรู้ว่าชีวิตที่มีแค่ปัจจัย 4 นั้นเพียงพอแล้ว

เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฒฺโฑ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0038081328074137 Mins