จุดที่มีความสุข
จุดที่มีความสุข : “อยู่ตรงไหนที่มีความสุขมากที่สุด” วันนี้เราจะเริ่มต้น ณ จุดที่มีความสุขแล้วให้อธิษฐานจิต แต่ต้องทำ ณ จุดที่มีความสุข เพราะตรงนั้นใจจะเป็นหนึ่ง นิ่งแน่น มีความสุข นุ่มนวลควรแก่การงาน เราก็ทำ ณ ตรงนั้นที่ใจเราพร้อม และเราก็มีความสุขมากที่สุด ให้ปล่อยใจไป ณ จุดที่เราคล่องที่สุด ชำนาญที่สุด ไปเร็วที่สุด ให้ใจอยู่ตรงนี้ ณ จุดที่เรา มีความสุข ทำให้ถูกหลักวิชชา คือ “ทำ ณ จุดที่มีความสุขก่อนไม่ช้าหรอกลูก” ให้ทำใจนิ่ง ๆ นุ่มๆ เบา สบาย ให้เราเริ่มจากจุดที่เรามีความสุขก่อนทุกครั้งและ อย่าลุ้น ลุ้นไปก็ไม่มีประโยชน์ ทำเฉยๆ ก็เป็นแล้ว ให้ทำนับไปนับมา ล้านครั้งเดี๋ยวก็ชัด ทำล้านครั้งเดี๋ยวก็หยุดกึ๊กเอง เดี๋ยวก็เป็น ค่อย ๆฝึก เพื่อแสวงหาความชำนาญ เหมือนขับรถ ถ้าเราชำนาญก็สามารถเข้าตรอกซอกซอยได้ ลูกๆ พึงจำไว้ว่า เราไม่ใช่พระอรหันต์นะ เรายังเป็นนักเรียนอนุบาลอยู่ เรายังล้มลุกคลุกคลานกันอยู่ กำลังฝึกกันอยู่ เราต้องฝึกให้หนัก ฝึกให้คล่องให้ชำนาญ เดี๋ยวจะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งหมด
ยิ่งเรียนยิ่งง่าย : เรียนธรรมะจะต้องง่ายขึ้น ง่ายแสนง่าย ง่าย ๆ ๆ ๆ ขึ้น ส่วนเรียนทางโลก ยิ่งเรียนยิ่งยาก เรียนปริญญาโท เรียน ดร. ยิ่งเรียนยิ่งยากขึ้น แต่เรียนวิชชาธรรมกาย ยิ่งเรียนจะต้องยิ่งง่าย คือ จากยากไปหาง่าย ทางโลกเรียนจากง่ายไปหายาก ส่วนทางธรรมเรียนจากยากไปหาง่าย ง่าย ๆ จนง่ายแสนง่าย ที่ว่าจากยากไปหาง่าย คือ หยุดแรกมันยาก พอหยุดแรกได้ มันจะง่าย ทางโลกเริ่มเรียน ก , ข มันง่ายเหมือนจบดอกเตอร์ พอจบก็แก่เลย ยิ่งเรียนยิ่งแก่ ส่วนทางธรรมยิ่งเรียนยิ่งง่ายขึ้น ยิ่งใสขึ้น
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่ม ๒