พระพรหมจริยาจารย์ พระผู้เป็นจินตกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ 11 มิย. พ.ศ.2547

 

 

 

ศรีวาระฤกษ์ผ่านฟ้า ลุที่ห้ามิถุนา

เทพไท้ประทานมา บางระกำแขวงโพธิ์ทอง

ยอดยิ่งจินตกวี สุนทรศรีไม่มีสอง

กวีธรรมนำร้อยกรอง นามแซ่ซ้องสุขฤทัย

พระพรหมจริยาจารย์ พระราชทานนามมั่นหมาย

สานุศิษย์ทั้งหญิงชาย ชื่นชมในบุญบารมี

พระเอยพระทรงศาสน์ ขออภิวาทประสานศรี

ขอเกษมและเปรมปรีดิ์ พิริยะมงคลชัย


.....ในบรรดาพระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมงามล้ำเลิศ และเป็นพุทธอาณาจักรของเหล่าธรรมทายาทนั้น ต้องนับว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามแห่งหนึ่งที่งดงามด้วยรูปแบบศิลปกรรมอันวิจิตร ซึ่งหาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งบรมจักรีวงศ์ ทรงโปรดให้สร้างขึ้นใกล้กับพระราชวังที่ประทับ คือ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรทุกวัน และให้สะดวกแก่การเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลธรรมสมาทาน และเหตุที่พระอารามหลวงดังเช่น วัดเบญจมพบิตร แห่งนี้ สามารถรักษาความเป็นมรดกธรรมอันล้ำค่าเช่นได้นานนับร้อยปี เนื่องจากคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของพระเดชพระคุณเจ้าอาวาสทุกรูป ที่ช่วยกันทำนุบำรุงด้วยดีเสมอมา จนกระทั่งปัจจุบัน ศาสนสถานสำคัญของชาติแห่งนี้ อยู่ในความดูแล ของพระเดชพระคุณเจ้าอาวาสลำดับที่ ๔ ต่อมา คือ พระเดชพระคุณพระพรหมจริยาจารย์

 

           นอกจากความสามารถในการปกครองและการบริหารวัดเป็นอย่างดีแล้ว พระเดชพระคุณท่านยังเปรื่องปราชญ์ในด้านการประพันธ์บทร้อยกรองประเภทต่างๆ ได้อย่างดียิ่ง จะเห็นได้จากเมื่อมี งานเฉลิมฉลองสมโภชตามมงคลสมัย จะมีการกล่าวถึงประวัติการสร้างวัด สถาปัตยกรรม และพระราชกรณีกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ พระเดชพระคุณท่านจะรจนาอักษรเป็นกลอนฉันท์ เพื่อเชิดชูบุญสถานและบุคคลสำคัญได้ไพเราะและซาบซึ้งกินใจยิ่ง ดังเช่นหนังสือ “ เบญจมราชาสดุดี ” ที่ท่านเจ้าคุณได้แต่งขึ้นในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๒๐๐ ปี เมื่อ พ . ศ . ๒๕๒๕ เป็นหนังสือที่กล่าวถึงประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหนังสือร้อยกรองประเภทคำฉันท์ทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันนี้จะหาผู้เขียนร้อยกรองได้ไพเราะสละสลวยนั้น นับว่าหาได้ยากมาก โดยเฉพาะผู้ประพันธ์ที่เป็น พระภิกษุ

 

            นับตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระภิกษุผู้เปรื่องปราชญ์ มีความสามารถด้านวรรณกรรมคำฉันท์ได้ดี นอกจาก กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ เจ้าของบทประพันธ์อมตะที่ว่า

“ พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง …” แล้ว ก็ยากที่จะเอ่ยถึงพระภิกษุรูปใดอีก ต่อมาเมื่อคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เพชรน้ำงามเม็ดใหม่แห่งวงการวรรณกรรมจึงปรากฏโฉมขึ้น เพื่อยืนยันคำกล่าวที่ว่า “ กวีฤารู้แล้ง แหล่งสยาม ” พระภิกษุผู้เปล่งประกายเจิดจรัสรูปนี้ คือ พระพรหมจริยาจารย์ ชาติภูมิพระพรหมจริยาจารย์ ( สมุท รชตวณฺโณ เปรียญ ๗ ประโยค ) นามเดิม สมุท เป็นบุตรของ พ่อฟอง และ แม่แก้ว ในสกุล รัชฎาวรรณ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ มิถุนายน พ . ศ . ๒๔๖๓ ( ซึ่งเป็นวัน เดือน และปีเดียวกันกับสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ ) ณ บ้านเลขที่ ๗๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลบางระกำ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง

 

               เมื่อเจริญวัย ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๔๗๙ อายุได้ ๑๖ ปี โยมบิดาเห็นว่า มีอุปนิสัยโน้มเอียงพอใจในเพศบรรพชิต จึงพาไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเบญจมบพิตร มีสมเด็จพระสังฆราชกิตติโสภณมหาเถร ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อบรรพชาแล้วท่านก็ตั้งใจศึกษาทางธรรมภาคปริยัติ ผลการเรียนของท่านดีมาก สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๕ ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ครั้นอายุครบบวช เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๘๓ พระอุปัชฌาย์ก็ให้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรนั่นเอง โดยเป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์องค์เดิม ท่านได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติจนสามารถสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยคคุณูปการต่อแผ่นดิน

 

            นับแต่วันบรรพชาเป็นสามเณร จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า ๖๘ ปี พระเดชพระคุณพระพรหมจริยาจารย์ อยู่ประจำวัดเบญจมบพิตรมาโดยตลอด ท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการดูแลกิจการต่างๆ ของวัด จนได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างดีจากเจ้าพระคุณสมเด็จเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุ และความสะอาดเรียบร้อยในพระอาราม ด้วยความวิริยอุตสาหะเป็นนิสัย ความผูกพันที่มีต่อวัดเบญจมบพิตรมาเนิ่นนานและจิตใจที่ละเอียดอ่อนประณีต พระเดชพระคุณท่านจึงสามารถดูแลสถานที่ทุกแห่งทุกหน และถาวรวัตถุทุกชิ้นในวัด ให้อยู่ในสภาพดีเยี่ยมและน่าใช้สอยอยู่เสมอ แม้วันหนึ่งๆ จะมีผู้เข้าเยี่ยมชมสถานที่ภายในวัดหลายหมู่ หลายคณะ แม้จะต้องใช้สถานที่บวชธรรมทายาทนับพัน ปีละ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง แต่วัดเบญจมบพิตรก็ยังให้ความร่มรื่นอบอุ่นใจและความสะดวกแก่ผู้มาเยือนได้เสมอ

 

            พระเดชพระคุณพรหมจริยาจารย์ หรือที่เหล่าศิษยานุศิษย์ขานนามท่านติดปากว่า “ เจ้าคุณอาจารย์ ” แม้จะมีงานด้านสาธารณูปการของวัดมากมาย แต่ท่านก็ให้ความสำคัญแก่การศึกษาของพระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลเป็นอย่างมาก ท่านเจ้าคุณสมัครเป็นครูโรงเรียนปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ ในขณะที่ท่านเองก็กำลังศึกษาเพิ่มเติมอยู่ ท่านเป็นเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวงมาตั้งแต่ปีพ . ศ . ๒๔๙๕ จนถึงปัจจุบัน เมื่อท่านรับงานในหน้าที่ผู้อำนวยการงานพระธรรมทูตสาย ๓ มาอีกงานหนึ่ง ท่านก็ออกบรรยายธรรมตามจังหวัดต่างๆ ในขอบข่ายภาคเหนืออีก ๘ จังหวัด อย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด แม้ปัจจุบันท่านจะมีอายุถึง ๘๔ ปีแล้ว ท่านก็ยังคงผ่องใส รับอาราธนาไปบรรยายธรรมตามแต่โอกาส เมตตาเป็นเนื้อนาบุญให้กับเหล่าพุทธศาสนิกชนอยู่เสมอ

 

               ด้วยตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ซึ่งมีภารกิจมากมายต้องดูแลรับผิดชอบ อีกทั้งงานสาธารณูปการของพระพุทธศาสนา เพื่อสาธารณประโยชน์อีกมากมาย เปรียบเสมือนงานแม่บ้านของครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกนับร้อย แต่เจ้าคุณอาจารย์ก็บริหารจัดการอย่างดียิ่ง ไม่เคยบกพร่องในหน้าที่ นอกจากนี้ท่านยังมีอารมณ์กวีและจินตนาการลึกซึ้งสม่ำเสมอ รังสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพระศาสนามากมาย จนได้รับการยกย่องให้เกียรติจากคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ขอให้ท่านช่วยแต่งคำประพันธ์ ประเภทคำฉันท์ และกลอนสุภาพในพระราชพิธีสำคัญ และโอกาสมงคลตามที่หมู่คณะได้มอบหมายอยู่เสมอ ดังเช่น บทประพันธ์อาเศียรวาทสดุดี ถวายพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช , บทประพันธ์อาเศียรวาทรัชมังคลาภิเษกสมโภช เป็นต้น เหนือสิ่งอื่นใด ท่านเจ้าคุณเปรียบได้กับบิดาผู้ให้กำเนิดในทางธรรม ด้วยการเป็นพระอุปัชฌาย์แก่เหล่าพระธรรมทายาทผู้เข้ารับการบรรพชาอุปสมบท ณ วัดเบญจมบพิตร จำนวนนับร้อยนับพัน บุคคลเหล่านี้ได้เติบโตไปเป็นความเจริญรุ่งเรืองของชาติมากมาย เปรียบได้กับกล้าธรรมที่ท่านได้บ่มเพาะ จนกระทั่งแผ่กิ่งก้านใบให้ความร่มเย็นสืบไปในสังคม พระคุณอันยิ่งใหญ่นี้ ศิษย์ทุกคนต่างตระหนักและซาบซึ้ง ซึ่งคงไม่มีตัวอักษรใด หน้ากระดาษใด จักพรรณนาคุณท่านได้หมดสิ้น

 

            เนื่องในวาระโอกาสอันเป็นมงคล วันที่ ๕ มิถุนายน พ . ศ . ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันเกิดของพระเดชพระคุณเวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง เหล่าศิษยานุศิษย์รู้สึกเป็นมงคลอย่างสูงสุด ที่ได้มีโอกาสแสดงการบูชาอย่างยิ่ง ทั้งโดยอามิสบูชา ปฏิบัติบูชา น้อมเป็นมุทิตาสักการะแด่พระเดชพระคุณ พระพรหมจริยาจารย์ พระผู้เป็นดังเพชรเม็ดงามแห่งวงวรรณกรรม ผู้เลิศล้ำคุณูปการต่อแผ่นดินเหนือเศียรเกล้า .

 

อุบลเขียว

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017623368899028 Mins