สรุปโอวาทการปฏิบัติธรรมที่ ๖๔
ไม่มีแรงกดดันตลอดเส้นทาง : โดยให้เริ่มต้นในจุดที่ง่าย และมีความสุขก่อน ที่จะไม่มีแรงกดดันตลอดเส้นทางในการศึกษาวิชชาธรรมกาย ยิ่งนั่งต้องยิ่งง่ายขึ้น คล่องขึ้น มีความสุขความบริสุทธิ์มากขึ้น
รสแห่งธรรม : แค่หยุดประเดี๋ยวเดียว เห็นแสงสว่าง เห็นดวงธรรมยังมีรสมีชาติ พูดไม่ออก บอกไม่ถูกทีเดียว แต่ถ้า “หยุดในหยุด” กว่านั้นเข้าไปอีก จนกระทั่งได้เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัว ได้เห็นดวงธรรม เห็นกายภายในที่ละเอียดสลับซับซ้อนอยู่ภายในกายหยาบตามลำดับ จะยิ่งมีรสมีชาติกว่านี้เข้าไปอีก เหมือนเถาปิ่นโตที่ใส่อาหารในแต่ละชั้นที่ซ้อนเรียงรายกันอยู่ เมื่อเปิดเถาแรกขึ้นมารับประทาน ปรากฏว่าอร่อย แล้วชั้นถัดไปก็อร่อยยิ่งกว่านั้นเข้าไปอีก รสแห่งธรรมก็เช่นเดียวกัน จะประณีตขึ้น ลุ่มลึกขึ้นไป อร่อยขึ้นไป มีรสมีชาติขึ้นไปเรื่อย ๆ สนุกสนาน เบิกบาน บันเทิง ชวนติดตามยิ่งกว่ารสชาติในทางโลกเสียอีก
คิดว่ายาก มันก็ยาก : เราถูกความคิดสอนให้เราเชื่อว่า การศึกษาวิชชาธรรมกายเป็นเรื่องยาก แต่จริงๆ แล้วง่าย ง่ายที่สุด ง่ายแสนง่าย ง่ายจนไม่รู้ว่า จะมีอะไรง่ายยิ่งกว่า ถ้าเราคิดว่ายากมันก็ยาก ถ้าเราคิดว่าง่ายมันก็ง่าย มันเหมือนเส้นผมบังภูเขา พอเราคิดว่ายาก มันก็เลยไปวิตกกังวล ลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง ตั้งใจมาก เราจะวน ๆ อยู่ตรงนี้แหละ
สำรวมอินทรีย์ : การสำรวมอินทรีย์ คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ การสำรวมอินทรีย์ที่แท้จริงแล้ว เกิดจากใจที่หยุดนิ่งการสำรวมอินทรีย์มี ๓ แบบ แบบแรก คือ แสร้งทำเป็นเคร่ง อยากให้เขารู้ว่าเราเป็นผู้สำรวม แบบที่ ๒ เกิดจากการฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นผู้ที่สงบสำรวม แบบที่ ๓ เกิดจากการฝึกใจให้หยุดนิ่ง สงบจากข้างใน แล้วส่งผลออกมาถึงภายนอก
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่ม ๑