ระบบระเบียบ

วันที่ 10 ธค. พ.ศ.2565

10-12-65-2-b.jpg

ระบบระเบียบ

            ชีวิตของพวกเราทุกคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นบุญกุศลถือว่าเป็นผู้มีบุญมาก เราควรจะมีความสุขและสนุกสนานต่อการต่อสู้เพื่อเอาชนะใจของเราเอง ควรจะมีความสุขแล้วก็มีความสนุกสนานต่อการต่อสู้เพื่อจะเอาชนะความรู้สึกที่มีอยู่ในใจของเรา เอาชนะมันให้ได้

             มีสิ่งที่สับสนอยู่ ๒ สิ่ง คือ สิ่งที่มักจะพูดกันติดปากว่า “ฉันชอบเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบความเป็นอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกรอบระเบียบวินัย อยู่แล้วอึดอัด” ถ้าเราพิจารณาให้ลึกซึ้ง พูดอย่างนี้ ถ้อยคำอย่างนี้ “เพราะชอบความเป็นอิสระ อยากเป็นตัวของตัวเอง” แต่การกระทำมักจะสวนทางกัน คือ “ชอบตามใจตัวเองมากกว่าที่จะเป็นตัวของตัวเอง” แต่ว่ามาใช้สับสนกันปนกันไปหมดแล้วตอนนี้

              ผู้ที่ชอบอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ก็มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระอรหันต์เท่านั้น ที่ท่านเป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระ คือ ท่านไม่ถูกมารบังคับบัญชาได้ เป็นอิสระจากการบังคับบัญชาของเขาให้ใจทุรนทุรายกระสับกระส่ายตามใจตัวเอง ตามกระแสกิเลสที่มันบังคับให้คิดพูดทำอย่างนั้นเรื่อยเปื่อยกันไป จนกระทั่งหลงเข้าใจผิดว่า “นั่นคืออิสรภาพ นั่นคือความเป็นตัวของตัวเอง”

              แต่ที่จริงไม่ใช่เลย นั่นเขาเรียกว่า “ยังอยู่ในบังคับบัญชาของเขา” มันเป็นการตามใจตัวเอง หรือพูดเต็ม ๆ ว่าตามใจตามที่กิเลสหรือมารบังคับให้คิดอย่างนั้น พูดอย่างนั้น แล้วก็ทำอย่างนั้น

               ฟุ้งซ่านเรื่อยเปื่อยกันไป อยากจะคิด อยากจะพูด อยากจะทำอะไรก็ปล่อยตามใจกันไป คือ แพ้เขาเสียจนชินอย่างนั้น นั้นยังไม่ใช่เป็นตัวของตัวเองนะ นั่นยังไม่เป็นอิสระ

              ที่เราเข้ามาอยู่ในองค์กรนี่แหละ เรากำลังจะต่อสู้เพื่อให้เกิดการเป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้ตัวของเราเป็นอิสระ พ้นจากบ่าวจากทาสของพญามาร เพราะฉะนั้น กฎเกณฑ์อะไรบางอย่างที่เขามีอยู่ในองค์กร เขามีเอาไว้เพื่อที่จะได้ต่อสู้กับสิ่งที่บังคับบัญชาเราอยู่ทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง และอิสรภาพที่จะแสวงหาความสุขได้อย่างไม่มีขอบเขตหรือความรู้ที่กว้างขวาง

                ระเบียบวินัยที่มีอยู่...มีเพื่ออย่างนี้ ถูกวัตถุประสงค์อย่างที่อยากได้ทีเดียว แต่พวกเรามักจะไม่เข้าใจกัน เพราะฉะนั้น เวลาเจอกรอบระเบียบวินัย ก็รู้สึกว่าอึดอัดไม่ได้ดังใจ หลวงพ่อก็ยังมองไม่เห็นที่ใดในโลกที่มันได้ดังใจ ในเมื่อเรายังเป็นบ่าวเป็นทาสเขาอยู่จะขายก๋วยเตี๋ยว ขายกล้วยทอด ทำงานรับราชการ ทำงานส่วนตัวเป็นลูกจ้างในห้างร้านบริษัทอะไรต่าง ๆ เหล่านั้นมันก็มีเงื่อนไข มีกฎเกณฑ์ที่เราทำอะไรไม่ได้ดังใจ แล้วอะไรจะมาลำบากใจเท่ากับสิ่งที่เราอยากทำแล้วไม่ได้ทำ หรือสิ่งที่ไม่อยากทำแต่กลับได้ทำก็เพราะเรายังไม่เป็นอิสระ ยังไม่เป็นตัวของตัวเอง ดังนั้น อย่าไปสับสนกับคำพูดอย่างนี้ พูดกันเสียจนเคยปาก แต่ความจริงมันอีกเรื่องหนึ่ง

               ผู้ที่จะเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองได้ มีแต่พระอรหันต์และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น เพราะท่านหลุดพ้นจากสิ่งที่เขาบังคับบัญชาเราอยู่ ดังนั้น กรอบระเบียบวินัยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่พระสัมมาสัมพุทเจ้าท่านทรงวางกฎเกณฑ์เอาไว้ ที่หลวงพ่อได้วางแนวทางเอาไว้ และที่คณะกรรมการบริหารได้วางเอาไว้ มีวัตถุประสงค์อย่างเดียว คือ ให้ทุกคนเป็นอิสระ พ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาส ของพญามาร เป็นตัวของตัวเอง

                เพราะฉะนั้น อย่าอึดอัดกับกฎเกณฑ์ระบบระเบียบวินัยที่วางเอาไว้ ที่ไม่ให้ตามใจตัวของเราเองนั่นแหละ จงมีความสุขและสนุกสนานกับการต่อสู้กับสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาในใจเรา ที่มันจะบังคับเราให้เป็นไปตามความปรารถนาของเขา เอาชนะมันให้ได้ ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วย ๒ อย่าง คือ หยาบ ๆ เราก็สอนตัวเองให้ได้ในเรื่องละเอียดก็ทำใจให้หยุด ให้นิ่ง ให้เป็นสมาธิ จะได้เป็นบ่อเกิดแห่งสติปัญญา เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้นแล้วนี่ ปัญหาอะไรต่าง ๆ มันก็จะได้หมดไป เหมือนออกจากที่มืดไปสู่แสงสว่าง

                 เพราะฉะนั้น หยาบๆ เราก็สอนตัวเราเองว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิตเรา เราจะทำสิ่งที่ดีงามอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เดินทางไปสู่ปรโลกอย่างเบิกบาน มีความบันเทิงอยู่ในโลกทั้งสองทั้งโลกนี้และโลกหน้า อย่างละเอียดก็ปฏิบัติธรรมะ ทำใจให้หยุดให้นิ่ง อย่างนี้แหละ ทำ ๒ อย่างนี้ให้ควบคู่กันไป เพราะฉะนั้นทำความเข้าใจให้ดีนะ

                 สำหรับบางคนที่เริ่มจะรู้สึกอึดอัดกับกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ ข้อบังคับ ธรรมวินัยอะไรต่าง ๆ ให้รู้ว่าเรากำลังคิดผิด ให้ปรับปรุงแก้ไข ทำความเข้าใจกันใหม่ สิ่งที่คิดถูกก็คือ จะต้องมีความสุขและสนุกสนานต่อกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย ธรรมวินัยต่าง ๆ ต้องต่อสู้เพื่อจะเอาชนะมัน

                 เมื่อเราชนะมันได้ นั่นแหละความสุข อิสรภาพก็จะเกิดขึ้นเป็นอิสรภาพที่แท้จริง เป็นตัวของเราเองที่แท้จริง ซึ่งถึงตอนนั้นเราก็จะนั่งอย่างเป็นสุข นอนเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข เหมือนพระราชาในอดีตที่ออกบวช พระมหากัปปินะนั่นแหละ มีความสุข สนุกสนานทีเดียวว่า “สุขจริงหนอ” มันก็มีตัวอย่างอยู่แล้ว

คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่ม ๓

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027844516436259 Mins