ศีล คุณค่าของความเป็นมนุษย์

วันที่ 15 มีค. พ.ศ.2566

ศีล ๕ ศีล คุณค่าของความเป็นมนุษย์

ศีล คุณค่าของความเป็นมนุษย์

บัณทิตทั้งทลายกล่าวว่า
         "ศีล เป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง บุคคลใดชำระศีลให้บริสุทธิ์แล้ว จะเป็นเหตุให้เว้นจากความทุจริต จิตจะร่าเริงแจ่มใส และเป็นท่าหยั่งลงมหาสมุทร คือนิพพาน"
         จุดหมายของชีวิต คือ นิพพาน ก่อเกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้น คือ ศีล
         หนังสือ ศีล คุณค่าของความเป็นมนุษย์ เล่มนี้ ฝ่ายวิชาการ วัดพระธรรมกาย ได้เรียบเรียงขึ้นจากพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และรวบรวมจากตำรับตำราต่างๆ ซึ่งได้มีผู้เรียบเรียงไว้ก่อนแล้ว เพื่อให้เนื้อหาของหนังสือ ศีล คุณค่าของความเป็นมนุษย์ เล่มนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยหวังว่าสาธุชนผู้อ่านทั้งหลายจะได้รับความรู้ ความเข้าใจอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง สามารถใช้เป็นหลักพิจารณาในการรักษาศีล เพื่อเราจะได้รักษาศีลกันอย่างถูกต้องบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ไม่พลาดพลั้งถึงกับทำศีลทะลุหรือศีลขาด และไม่ต้องระวังตัวเกินไปจนไม่กล้าทำอะไรแม้แต่กิจวัตรประจำวัน หรือหลงเข้าใจผิดไปทำในสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้

         ศีล จึงเป็นหลักสำหรับเราจะนำไปใช้พิจารณาปฏิบัติเพื่อให้เป็นบุคคลที่มีคุณค่า สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ด้วยการเป็นผู้ที่มีความสุจริตกาย วาจา ใจ มีความอิ่มเอิบ เบิกบาน ร่าเริง แจ่มใส เป็นที่น่าคบหาของบุคคลทั่วไป และเป็นผู้ที่คุณความดีทั้งหลายหลั้งไหลมาสู่ไม่ขาดสาย ทำให้สามารถสร้างสมบุญบารมีอื่นๆ ได้โดยง่าย อันเป็นทางนำไปสู่มรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของทุกชีวิตในที่สุด

ศีลคืออะไร
      ดาบคมที่ไร้ฝัก ลูกระเบิดที่ไม่มีสลักนิรภัย ย่อมเกิดโทษแก่เจ้าของได้ง่าย ฉันใด ความรู้และความสามารถ ถ้าไม่มีวินัยกำกับย่อมจะมีโทษแก่ผู้เป็นเจ้าของได้ฉันนั้น
      วินัย หมายถึง ระเบียบข้อบังคับ สำหรับควบคุมความประพฤติของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผนเดียวกัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข การอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า ถ้าขาดระเบียบวินัย ต่างคนต่างทำตามอำเภอใจ ความขัดแย้งกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันจะเกิดขึ้น หาความสงบสุขมิได้ เพราะยิ่งมากคนก็ยิ่งมากเรื่องดังนั้น หมู่เหล่าใดที่ขาดระเบียบวินัย การงานที่ทำย่อมเกิดผลเสียหายโดยเหตุนี้ วินัยจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมให้คนเราใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ถูกที่ควร

      วินัยแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ วินัยทางโลก และ วินัยทางธรรม  

      วินัยทางโลก ได้แก่ กฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎข้อบังคับ ระเบียบ ธรรมเนียมประเพณี คำสั่ง ประกาศกติกา เป็นต้น
      วินัยทางธรรม แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ วินัยสำหรับพระภิกษุและสามเณรประเภทหนึ่ง กับวินัยสำหรับฆราวาสอีกประเภทหนึ่ง วินัยสำหรับพระภิกษุ คือ ศีล ๒๒๗ ข้อ วินัยสำหรับสามเณร คือ ศีล ๑๐ วินัยสำหรับฆราวาส ก็คือ ศีล ๕ นั่นเอง

ศีล ๕
      ๑. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และใช้คนอื่นให้ฆ่า)
      ๒.อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากการลักทรัพย์ด้วยตนเอง และใช้คนอื่นให้ลัก)
      ๓.กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม)
      ๔. มุสาวาทา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ)

       ๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากการดื่มนํ้าเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)

 

 

บทความจากหนังสือ ศีลคุณค่าของความเป็นมนุษย์
หนังสือธรรมะแจกฟรี ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) กดที่นี่ 

ชื่อหนังสือ ศีลคุณค่าของความเป็นมนุษย์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001394248008728 Mins