ศีล ในสังคมปัจจุบัน

วันที่ 25 มีค. พ.ศ.2566

ศีล ในสังคมปัจจุบัน

ศีล ในสังคมปัจจุบัน

       ลองหันมาพิจารณาสภาพสังคมทุกวันนี้ดู มีใครกล้ายืนยันไหมว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันละอายบาป เกรงกลัวบาป ข่าวการจี้ ปล้น ฆาตกรรม ฉ้อโกง ตัดไม้ทําลายป่า ข่มขืนกระทําชำเราเรียกค่าไถ่ ตลอดจนการแตกแยกในระหว่างกลุ่มบุคคลต่างๆ ฯลฯ ที่ปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความทุศีลของคนในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

       การที่คนทุศีล ย่อมมีเหตุมาจากจิตใจที่ถูกห่อทุ้มด้วยกิเลส จึงมีแต่ความขุ่นมัว เศร้าหมอง และสกปรก มีจิตใจเป็นมิจฉาทิฐิ คือ เห็นผิดเป็นชอบ กล้าประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เลวร้าย ผิดกฎหมายและศีลธรรม หมดความละอายต่อบาป ซึ่งยังผลให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคมทุกระดับ ดังที่เห็นกันอยู่ทั่วไป และที่ลึกซึ้งลงไปกว่าความเดือดร้อนในกลุ่มชนก็คือ ความวิปริตของธรรมชาติ ดังเราจะสังเกตเห็นมลภาวะต่างๆ ฝนแล้ง อากาศร้อนอบอ้าวผิดปกติ เกิดอุทกภัย วาตภัย ถ้าพิจารณาในแง่นี้ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า คน...เป็นผู้ควบคุมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งมวล ถ้าคนยิ่งทุศีลมากขึ้นเท่าใด ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะยิ่งวิปริตมากขึ้นเท่านั้น

       การแก้ปัญหาของประเทศชาติเท่าที่ผ่านมา แม้จะเขียนไว้ในแผนพัฒนาประเทศว่า ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม แต่ในเชิงปฏิบัติแล้ว จะมุ่งเน้นกันเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ได้แก้ปัญหาสังคมกันอย่างถูกต้องจริงจัง เพราะผู้บริหารโดยทั่วไปมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าเศรษฐกิจดีแล้ว สภาพต่างๆ ในสังคมจะดีตามมาเอง

       แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ดังจะเห็นตัวอย่างจากการหักหลังชิงดีชิงเด่นจนเกิดการฆาตกรรมกันในวงการธุรกิจ ซึ่งล้วนมีผู้บงการที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับเศรษฐี การฉ้อโกงในวงราชการแต่ละแห่ง ส่วนใหญ่ล้วนเป็นการกระทําของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีเงินเดือนสูง มีอํานาจมาก ไม่ใช่ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่มีเงินเดือนต่ำทั้งนี้ย่อมยืนยันว่า คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีแต่ขาดคุณธรรมนั้นมีอยู่ทั่วไป

       ดังนั้น การแก้ปัญหาของประเทศ ปัญหาสังคม ควรได้รับความสําคัญเท่ากับปัญหาเศรษฐกิจ องค์ประกอบสําคัญของสังคมคือ จริยธรรมของประชาชน ถ้าประชาชนทุกคนได้รับการปลูกฝังให้มีสัมมาทิฐิ โดยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว แม้จะไม่สามารถปฏิบัติตามธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพียงแต่รักษาศีล ๕ ได้อย่างบริบูรณ์จนเป็นธรรมเนียมประเพณีกันทั่วหน้ากิเลสในจิตใจของชาวประชาก็จะเบาบางลงไปมาก และเมื่อนั้นความร่มเย็นและสันติสุขย่อมเกิดแก่สังคมของเราตลอดไป

ศีล เป็นเครื่องมือในการ พิจารณาคุณธรรม

       ในการพิจารณาความประพฤติหรือการกระทําต่างๆ ของคนนั้นถ้าจะยึดเอาแต่เพียง ถูก-ผิด เป็นมาตรฐานในการตัดสินย่อมไม่เพียงพอ เพราะการใชัเกณฑ์ ถูก - ผิด นั้น ถือเอาพยานหลักฐานเป็นสําคัญ แม้คนทําผิดจริง แต่ถ้าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ก็เอาผิดไม่ได้ ในทางตรงข้าม คนบริสุทธิ์ที่ถูกใส่ความ อาจต้องจํานนด้วยหลักฐานและพยานเท็จที่ฝ่ายศัตรูสร้างขึ้น

       ดังนั้น ในการพิจารณาคุณธรรมของคน เราควรพิจารณาให้ลึกลงไปถึงความ ดี-ชั่ว อย่าเอาแต่เพียง ถูก-ผิด เป็นมาตรฐานเกณฑ์สําคัญอย่างหนึ่งในการพิจารณาความดีของคนก็คือ ศีล ผู้ที่รักษาได้สมบูรณ์ ย่อมแสดงว่าเขาเป็นคนดี มีคุณธรรม ส่วนผู้ละเมิดศีลมากเท่าใด ย่อมแสดงว่าความเป็นคนของเขาลดลงมากเท่านั้น

การรักษาศีลเพื่อชีวิต
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
       “ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง บุคคลใดชําระศีลให้บริสุทธิ์แล้ว จะเป็นเหตุให้เว้นจากความทุจริต จิตจะร่าเริงแจ่มใส และเป็นท่าหยั่งลงมหาสมุทรคือ นิพพาน”
       ดังนั้น สาธุชนทุกท่าน ควรตั้งใจสมาทานรักษาศีลเป็นปกติเพื่อความสุข ความก้าวหน้าแห่งชีวิตของตนโดยทั่วกัน
       ในชีวิตนี้ ถ้าท่านรักษาศีล ๕ ได้สมบูรณ์เป็นปกตินิสัยย่อมได้ชื่อว่าเป็น มนุษย์ อย่างแท้จริง
       คําว่า มนุษย์ มาจากคําว่า มน + อุษย
       มน =  ใจ อุษย = เหมือนหรือสูง
       มนุษย์ = ผู้มีใจพัฒนาจนสูงแล้ว
       ส่วนผู้รักษาศีล ๘ หรืออุโบสถศีลได้สมบูรณ์ ย่อมได้ชื่อว่า เป็น พรหม เพราะเป็นผู้ที่ยกจิตใจให้สูง สงบ เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมที่ยิ่งๆ ขึ้นไป

       ท่านพอใจจะรักษาศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ก็ขอเชิญพิจารณาเลือกรักษาตามความปรารถนา และความสะดวก ตามสถานภาพของท่าน แต่ถ้าท่านจะไม่เลือกทั้งสองอย่าง จะถือว่าทําอะไรได้ตามใจคือไทยแท้ อยากจะฆ่าใครก็ฆ่า อยากจะขโมยของใครก็ขโมย อยากจะดื่มสุราหรือเสพยาเสพติดก็ทํา ท่านก็จะหนีไม่พ้นการไปรับเอาปกติของสัตว์มาประพฤติปฏิบัติเข้าจนได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น นอกจากผลกรรมจะสนองแก่ท่านในโลกนี้แล้ว ท่านก็จะหนีไม่พ้นวิบากกรรมในโลกหน้าอีกด้วย

       อุดมการหรือจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน ตลอดเวลาแห่งการประกาศพระศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมุ่งมั่นชี้ทางให้สัตว์โลกทั้งหลายพันจากความทุกข์ในห้วงสังสารวัฏมุ่งสู่นิพพานทั้งสิ้น วิธีปฏิบัติเพื่อสู่จุดหมายปลายทางก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเบื้องต้นของสมาธิและปัญญา ผู้ที่รักษาศีลไม่บริบูรณ์ย่อมหมดโอกาสปฏิบัติสัมมาสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญาอันเป็นประทีปนําทางไปสู่ความหลุดพ้นได้

       เมื่อได้ทราบถึงคุณค่าของศีลเช่นนี้แล้ว ยังจะลังเลชักช้าอยู่ไยลงมือรักษาศีลของท่านให้บริสุทธิ์เสียแต่วันนี้เถิด แล้วท่านจะพบว่าท่านเป็นผู้โชคดีมหาศาล ที่ได้เกิดมาในดินแดนที่พระพุทธศาสนายังรุ่งเรืองอยู่

คำอาราธนาศีล ๕
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะฯ
ทุติยัมปิ มะยัง ภัณเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะฯ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักชะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะฯ
(ถ้าอาราธนาศีลเพื่อตนเองตามลําพังให้เปลี่ยน มะยัง เป็น อะหัง ยาจามะ เป็น ยาจามิ )

คำอาราธนาศีล ๘
มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภัณเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะสีลานิ ยาจามะ

คำอาราธนาอุโบสถศีล
มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามะ
(ว่า ๓ ครั้ง)
(ถ้าอาราธนาเพื่อตนคนเดียว ให้เปลี่ยน มะยัง เป็น อะหัง และยาจามะ เป็นยาจามิ)


 

บทความจากหนังสือ ศีลคุณค่าของความเป็นมนุษย์
หนังสือธรรมะแจกฟรี ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) กดที่นี่ 

ชื่อหนังสือ ศีลคุณค่าของความเป็นมนุษย์

 

 

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016414841016134 Mins