สังเกตความพอดี คือ ถูกหลักวิชชา
ฝึกสมาธิไปเรื่อย ๆ แล้วพยายามหมั่นสังเกตดูว่า เราทำถูกหลักวิชชาไหม ซึ่งถ้าทำถูกหลักวิชชาจะต้องเข้าถึงพระธรรมกายภายในได้อย่างแน่นอน
หมั่นสังเกตดูว่า เราทำตึงเกินไปไหม ตั้งใจมากเกินไปหรือไม่ มีความทะยานอยาก อยากได้ความสงบ อยากเห็นดวงใส อยากเห็นองค์พระ อย่างที่คนอื่นเขาเห็นมากเกินไปไหม เพราะความอยากจะทำให้เราตั้งใจมาก แล้วก็จะไปเค้นภาพให้มันทะลักเข้ามาในท้อง ซึ่งผลก็คือความไม่สบายกาย ร่างกายจะตึง เกร็ง เครียด แล้วความท้อ ความน้อยใจก็จะตามมาในภายหลัง หรือว่าถ้าเราย่อหย่อนเกินไป นั่งหลับตาจริง ทำสมาธิจริงแต่ปล่อยใจให้ฟุ้งบ้าง เคลิบเคลิ้มบ้าง กระจัดกระจายไปในที่ต่างๆ บ้าง อย่างนี้นั่งก็เหมือนกับไม่ได้นั่งนั่นแหละ เพราะมันหย่อนเกินไป
ถ้าพอดี ไม่ตึง ไม่หย่อน แม้ยังไม่มีแสงสว่างมาให้ดู ไม่ได้เห็นดวงธรรม กายภายใน หรือว่าองค์พระก็ตาม แต่ก็จะรู้สึกสบายตั้งแต่ไม่สุขกับไม่ทุกข์ แล้วตัวก็จะเริ่มโล่ง โปร่ง คือ ตัวจะโล่ง ๆ กลวง ๆ เหมือนมีอุโมงค์ภายในตัวเรา แต่เป็นอุโมงค์แห่งความใสสว่าง ตัวจะเบา กายเบาใจเบา เหมือนจะเหาะจะลอยได้ ตัวพองโตขยายใหญ่ขึ้น แล้วก็ไม่เมื่อย แม้ยังไม่มีอะไรมาให้ดูใหม่ ๆ เราจะรู้สึกสบาย มีความพึงพอใจกับอารมณ์ที่เราได้ในช่วงนั้น แล้วก็ไม่กังวลกับการเห็น เราจะมีความรู้สึกว่าเวลาหมดไปเร็ว ซึ่งแตกต่างจากวันก่อน ๆ ทั้งที่เวลาก็เท่ากันแต่เรามีความรู้สึกว่ามันยาวนานนั่นคือข้อสังเกตนะว่าเราทำได้ถูกหลักวิชชาแล้ว
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่มที่ ๖